นักวิชาการจุฬาฯ แนะรัฐเลิกผูกขาดระบบการศึกษา
นักวิชาการจุฬาฯ ชี้ ศตวรรษที่ 21ใช้อำนาจบังคับแก้ปัญหาที่ซับซ้อนไม่ได้ แนะต้องเปิดเวทีให้เกิดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หยุดเอามนุษย์และเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลางการพัฒนา ระบุอนาคตมหาวิทยาลัยต้องร่วมคิดทางออกเปิดช่องทางการเรียนรู้ของภาคประชาชน
เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2558 โครงการหนุนเสริมพลังทางสังคมขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาเพื่อสุขภาวะของคนไทย (สสส.) ร่วมกับโครงการสื่อสารเพื่อการขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษา (สปพส.) และศูนย์สันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเวทีสนทนา “คืนการศึกษาให้สังคม: ร่วมกัน-สร้าง-พลเมือง” ณ อาคารสถาบัน 3 ชั้น 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ศาสตราจารย์สุริชัย หวันแก้ว ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงความเป็นพลเมืองหรือการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ คือสิ่งที่ไม่เคยมีใครพูดถึง สำหรับการก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 หนุ่มสาวยุคใหม่เริ่มไม่ต้องการให้ใครบังคับในเรื่องความเป็นไทย แต่ด้วยความไม่เข้าใจอนาคตของผู้ใหญ่ที่เกิดความเป็นห่วงเป็นใยจึงอยากบังคับเด็กๆ ให้มีความเป็นไทย ผูกขาดนิยามความหมาย กฎหมายให้อำนาจกับส่วนกลางค่อนข้างมาก ส่วนอำนาจท้องถิ่นมีน้อย ทั้งๆที่อำนาจจากส่วนกลางไม่ได้เผชิญปัญหาเหมือนที่ท้องถิ่นเจอ ศูนย์กลางอำนาจไม่ได้สัมผัสทุกข์ร้อน ดังนั้นอำนาจที่มีอยู่ทุกวันนี้จะใช้แก้อะไร
"ในศตวรรษที่ 21 อำนาจศูนย์กลางใช้ไม่ได้แล้วกับแก้โจทย์ปัญหาที่สลับซับซ้อน ถึงทำได้ก็ทำได้อย่างจำกัด และจะใช้อำนาจบังคับเพื่อให้ใครอยากเข้ามาคุยด้วยต่อไปก็ใช้ไม่ได้อีกแล้ว แต่ควรจะจัดกระบวนการเปิดเวทีให้มีการแลกเปลี่ยนความเห็นแทน"
ศ.สุริชัย กล่าวด้วยว่า ในศตวรรษที่ 21 จะต้องหยุดการพัฒนาที่เอาแค่มนุษย์หรือเศรษฐกิจเป็นศูนย์กลาง เพราะไม่เพียงพออีกต่อไป การพัฒนาจะต้องเคารพศักดิ์ศรีในการอยู่ร่วมกัน การสร้างภาคี พัฒนาศักยภาพประชาชน ความมั่งคั่ง และพื้นพิภพ คำว่าพื้นพิภพหมายถึงทรัพยากรต่างๆที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งสถานการณ์วันนี้คือเราใช้อย่างไม่ยับยั้ง นอกจากนี้มหาวิทยาลัยจะต้องคิดหาไปสู่อนาคต ช่วยกันเปิดช่องทางของการเรียนรู้กับประชาชนเพื่อให้การศึกษาไม่ผูกขาดเฉพาะในแวดวงของการศึกษา ไม่ผูกขาดแค่คุรุศาสตร์ ไม่ผูกขาดแค่รั้วมหาวิทยาลัย แต่จะต้องทำให้เป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ร่วมกัน หากทำได้ก็จะสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้อย่างมั่นคง