ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล:พัฒนาริมเจ้าพระยาต้องรอบคอบ ไม่ทำเสน่ห์กรุงเทพฯ หาย
“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องได้รับการศึกษาความหลากหลายและรับฟังความคิดเห็น ทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไป เพราะทุกคนเป็นเจ้าของแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกัน”
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 กม. งบประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลเตรียมก่อสร้าง หวังเป็นทางจักรยานและคนเดินสองฝั่งริมน้ำ โดยความคืบหน้าล่าสุด สื่อมวลชนนำเสนอว่า พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เร่งรัดให้กรุงเทพมหานครเบิกจ่ายงบประมาณค่าจ้างที่ปรึกษาและออกแบบโครงการ 120 ล้านบาท พร้อมกำชับให้เร่งหาวิธีเจรจากับพื้นที่ละเอียดอ่อน เพื่อสามารถดำเนินการได้อย่างไร้ผลกระทบ และเห็นควรให้ปิดบังเรื่องงบประมาณเป็นความลับ
ขณะที่เครือข่ายภาคประชาสังคม นักวิชาการ และประชาชน หลายกลุ่ม ได้รวมตัวกันจัดกิจกรรมต่าง ๆ หนึ่งในนั้น คือ Friends of the River ร่วมกับ ASA CAN, ART4D และ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ 9 มหาวิทยาลัย เพื่อนำเสนอความเป็นไปได้ในการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยกังวลหากไม่ได้รับการวางแผนดำเนินโครงการอย่างรอบคอบ อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและวัฒนธรรมริมน้ำได้ ภายใต้กิจกรรม The River Project 14 KM "We change the city คน เปลี่ยน เมือง" ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) พูดคุยกับผศ. ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ด้วย บอกว่า ที่ผ่านมา ม.ธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมเกี่ยวกับโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามาแล้ว 2-3 ครั้ง เพราะท่าพระจันทร์เป็นหนึ่งในพื้นที่การก่อสร้าง แต่ปัญหานี้มิใช่เป็นเรื่องของมหาวิทยาลัยฝ่ายเดียว แต่เป็นเรื่องของคนกรุงเทพฯ และคนไทยทุกคน ไม่เฉพาะผู้อาศัยริมแม่น้ำเท่านั้น เนื่องจากแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นของทุกคน
ทั้งนี้ หากได้นั่งเรือสัญจร สุดแท้แต่จะเป็นพื้นที่ของใคร จะสัมผัสได้ถึงความหลากหลายสองฟากฝั่ง ซึ่งเปรียบได้กับเสน่ห์ของแม่น้ำเจ้าพระยา แม้จะแปลกใจเหตุใดกรุงเทพฯ จึงมีภาพไม่เจริญหูเจริญตา ไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง แต่ชาวต่างชาติกลับชื่นชอบสิ่งเหล่านี้ เพราะคิดว่า เป็นเสน่ห์ของไทย
ดังนั้น โครงการพัฒนาฯ ระยะทาง 14 กม. ในลักษณะการออกแบบเหมือนกันหมด จึงเป็นการทำลายแม่น้ำสายนี้
นักวิชาการ มธ. กล่าวต่อว่า การพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเรื่องที่ดีและต้องทำ แต่ต้องพัฒนาในบริบทที่ตอบสนองต่อความหลากหลายของแม่น้ำ หากออกแบบลักษณะเดียวกันหมด จากการกำหนดความกว้าง และยกพื้นสูง เข้าไปในแม่น้ำ ความสูงและใหญ่เช่นนี้จะเกิดปัญหาอย่างรุนแรงต่อเสน่ห์ของแม่น้ำ โดยทำให้ทัศนียภาพที่สวยงามของชุมชนบริเวณนั้นถูกบดบัง
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของประชาชน ต่อให้โครงการพัฒนาของรัฐบาลดีมากเพียงใดก็ต้องรับฟังเสียงของประชาชน โดยเฉพาะรัฐบาลที่มีจุดอ่อนเรื่องที่มาแล้ว ยิ่งต้องรับฟังให้มากขึ้น โดยการทำให้ประชาชนทราบรายละเอียดของโครงการทั้งหมด ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานของการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี
“โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต้องได้รับการศึกษาความหลากหลายและรับฟังความคิดเห็น ทั้งประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและประชาชนทั่วไป เพราะทุกคนเป็นเจ้าของแม่น้ำเจ้าพระยาร่วมกัน” เขากล่าว และเชื่อว่า ทุกคนเห็นด้วยกับการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ต้องเป็นไปภายใต้การมีส่วนร่วมและรักษาความหลากหลาย
ผศ.ดร.ปริญญา ระบุอีกว่า แม้รัฐบาลมีเจตนาที่ดีอยากเห็นการพัฒนาแม่น้ำเจ้าพระยา แต่ทำไปแล้วมีคนทักท้วง และไม่รับฟังบ้าง เสียงทักท้วงก็จะกลายเป็นเสียงคัดค้านในอนาคต ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ดี
สิ่งที่ต้องทำ เขาเห็นว่า ควรเร่งรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมถึงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น นักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมผังเมือง ภูมิสถาปัตยกรรม เป็นต้น
“เงิน 1.4 หมื่นล้านบาท เป็นของประชาชน ดังนั้นจะนำไปใช้อะไรต้องรับฟังเสียงก่อน แม้เงินจำนวนดังกล่าวจะสูญเสียไปได้ แต่สิ่งที่สูญเสียยิ่งกว่านั้น และไม่มีทางเรียกกลับคืนมา นั่นคือ ความหลากหลายของแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของกรุงเทพฯ หากหมดไปแล้ว ต่อให้มีเงินเป็นแสนล้านในอนาคตก็ซื้อกลับมาไม่ได้ ฉะนั้นการดำเนินโครงการต้องรอบคอบ” ผศ.ดร.ปริญญา กล่าวทิ้งท้าย .