กลิ่นเดียวทุจริตซื้อเครื่องเล่นฯ ป.ป.ท.ลุยสอบสนามกีฬาอำเภอ-ตำบล 2.9 หมื่นล.
ป.ป.ท.ลุยสอบโครงการสนามกีฬาอำเภอ-ตำบล 2.9 หมื่นล. กรมพลฯ พบหลายแห่งเริ่มชำรุดเสียหาย สร้างไม่เสร็จเอื้อ รับลูกข้อมูล "อิศรา" เจาะเอกชนขาใหญ่กวาดงานเพียบ -กลิ่นเดียวงานจัดซื้อเครื่องเล่นฯ โชย!
แหล่งข่าวระดับสูงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ ป.ป.ท.อยู่ระหว่างลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลโครงการก่อสร้างสนามกีฬาอำเภอ-ตำบล ของกรมพลศึกษาทั่วประเทศ รวมวงเงินกว่า 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งหลังจากการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 โครงการที่ได้ถูกสั่งชะลอไปบางส่วน
จากการลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่า งานก่อสร้างสนามกีฬาที่ดำเนินการไปแล้ว ในช่วงปี 2556-2557 แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่มีการก่อสร้างเสร็จแล้ว พบว่ามีหลายแห่งชำรุดเสียหายต้องเร่งทำการซ่อมแซม 2.ส่วนที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง และ 3. ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง
"ในส่วนโครงการก่อสร้างที่ชำรุดเสียหาย จะมีการประสานงานแจ้งให้เอกชนเข้ามาซ่อมแซมโดยด่วนตามเงื่อนไขการประกัน ส่วนงานที่อยู่ระหว่างก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จะมีการเข้าไปตรวจสอบเชิงลึกในสัญญาว่าติดขัดปัญหาอะไร ความล่าช้าที่เกิดขึ้นเป็นเพราะอะไร มีการขยายอายุงานให้เอกชนเกินกว่าที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือไม่"
แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า นอกจากการตรวจสอบการปฏิบัติงานตามสัญญาจ้างดังกล่าวแล้ว ป.ป.ท.จะเข้าไปตรวจสอบข้อมูลเชิงลึกบริษัทเอกชนบางราย ที่เข้ามารับงานก่อสร้างโครงการนี้จำนวนมากในหลายพื้นที่ด้วย ซึ่งรูปแบบคล้ายกับที่เกิดขึ้นโครงการการจัดซื้อครุภัณฑ์เล่นนันทนาการและออกกำลังกายกลางแจ้งของกรมการท่องเที่ยว ที่ตรวจสอบพบว่ามีการทุจริตเกิดขึ้น ซึ่งในการตรวจสอบมีการนำข้อมูลข่าวที่สำนักข่าวอิศราเคยตรวจสอบพบมาใช้ขยายผลด้วย
(อ่านประกอบ : เปิด 14 โครงการก่อสร้างสนามกีฬา กรมพลฯ 1.5 พันล. - 3 บริษัทกวาดอื้อ!)
อนึ่ง โครงการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด อำเภอ และตำบล ใช้วงเงินงบประมาณกว่า 34,950 ล้านบาท ระหว่างปี 2555-2559 การกีฬาแห่งประเทศไทย รับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด ให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี และกรมพลศึกษารับผิดชอบการก่อสร้างสนามกีฬาอำเภอและตำบล ให้เสร็จแล้วภายใน 5 ปี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2555 ซึ่งกรมพลศึกษาได้ประสานกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่ามีอำเภอที่ยังไม่มีสนามกีฬาจำนวน 690 อำเภอ ใช้งบฯสร้าง 16,560 ล้านบาท มีตำบลที่ยังไม่มีสนามกีฬา 1,114 ตำบล ใช้งบฯสร้าง 29,928 ล้านบาท รวม 1,804 สนาม