รมว.เกษตรฯ โชว์ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ สมบูรณ์สุดเท่าที่เคยมีมา
รัฐบาลคสช.วางเป้าปี 60 ทุกหมู่บ้านต้องมีน้ำประปาใช้ พล.อ.ฉัตรชัย เผยแผนบริหารจัดการน้ำ เชื่อสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ชี้ระยะสั้นๆ ทำได้เลย ขุดลอกคลอง ทำแก้มลิง
วันที่ 9 ตุลาคม 2558 สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ร่วมกับ International Development Research Centre (IDRC) จัดสัมมนา ในหัวข้อ "วิกฤติน้ำท่วม-น้ำแล้ง: พลิกโฉมการบริหารจัดการน้ำของไทย" ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชอรราตัน รีสอร์ทแอนด์สปา หัวหิน จ.เพชรบุรี โดยพลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และประธานคณะกรรมการกำหนดนโนบายและบริหารจัดการน้ำ กล่าวเปิดงาน
พล.อ ฉัตรชัย กล่าวตอนหนึ่งถึงนโยบายและยุทธศาตร์ในการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาลชุดนี้ น่าจะสมบูรณ์ที่สุดของไทยเท่าที่เคยมี โดยแผนยุทธศาตร์นี้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ในระยะสั้นๆ คือ ปี2558-2559 เป็นแผนที่สามารถทำได้เลย เช่น การขุดลอก ทำแก้มลิง ส่วนแผนระยะกลาง เป็นความต่อเนื่องและศึกษางานใหญ่ที่เราต้องทำต่อไปในอนาคต รวมถึงแผนระยะยาวถึงปี 2569 โดยแผนต่างๆ คือการเอาปัญหาเข้ามาเพื่อกำหนดกรอบต่างๆ
พล.อ ฉัตรชัย กล่าวถึงยุทธศาตร์การจัดการน้ำของรัฐบาลนี้มีเป้าหมายกำหนดไว้ว่า ในปี 2560 ทุกหมู่บ้านต้องมีน้ำประปาใช้
"การที่เรากำหนดเป้าหมายชัดเจน จะทำให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม มาใช้เป้าหมายเดียวกันไม่ว่าจะหน่วยงานใด ซึ่งเรื่องนี้เราได้คุยกับหลายประเทศ แผนอันนี้หลายประเทศยังไปไม่ถึงไหนเลย ความต้องการน้ำในแต่ละประเทศมีความต้องการมาก แต่ยังไม่มีแผนว่าจะทำอย่างไร เขาก็ตกใจว่าประเทศไทย กล้าหาญชาญชัยที่ประกาศว่าน้ำประปาต้องจบในปี 2560"
รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ส่วนคำถามที่ว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณเท่าไรในการแผนจัดการบริหารน้ำ วันนี้ไม่มีใครตอบได้ เพราะกำลังออกแบบแผนกัน เพื่อคำนึงถึงทุกฝ่าย ประชาชนจะมีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไร แต่ยืนยันได้ว่า การใช้งบประมาณนั้น ใช้สำหรับแผนระยะสั้น และระยะกลางทั้งสิ้น
"ปัจจุบันเรื่องพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) น้ำ อยู่ในสภา คิดว่าในอีกไม่นานก็คงเรียบร้อย และจะมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีหน่วยงานที่จะมาจัดการในเรื่องนี้ เราใช้เวลาพอสมควรในการจัดทำแผนบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี 2557 อันนี้ได้ผ่าน ครม. เรียบร้อย ถือว่าเป็นแผนงานที่จะเดินหน้าอย่างชัดเจนการจัดทำงบประมาณ อย่างไรก็เชื่อว่า การใช้ทรัพยากรน้ำ ถ้าเรารู้จักใช้น้ำอย่างมีคุณค่า และมองถึงอนาคตในการใช้น้ำเป็นสำคัญ เราก็จะมีน้ำใช้ตลอดไป"