ปมปริศนา “ทำไมสัญญารถเมล์ NGV 489 คัน ไม่คืบ”
"ทำไม ขสมก.จึงไม่กล้าเซ็นสัญญาซื้อขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน กับบริษัทผู้ชนะการประมูล คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้รถเมล์ใหม่กันเสียที ขสมก.กลัวอะไรหรือครับ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าปมปริศนาอยู่ที่การทำเอกสารบางรายการให้ถูกต้องด้วยวิธีการที่สุ่มเสี่ยง ทั้งๆ ที่ มีผู้สังเกตการณ์ทักท้วงแล้ว"
ผมได้แสดงความคิดเห็นการจัดซื้อรถเมล์ NGV ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มาหลายครั้งในช่วงระยะเวลาประมาณ 2 ปีที่ผ่านมา โดยสรุปได้ว่า ผมเห็นด้วยที่ ขสมก.จะจัดซื้อรถเมล์ NGV จำนวน 3,183 คัน ซึ่งประกอบด้วยรถปรับอากาศจำนวน 1,524 คัน และรถธรรมดา (ไม่ปรับอากาศ) จำนวน 1,659 คัน แต่ผมได้ทักท้วงเรื่องข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง (Terms of Reference หรือ TOR) บางประการ โดยเฉพาะข้อที่บ่งชี้ว่ามีการเอื้อประโยชน์ให้บริษัทบางราย ทั้งนี้ เพื่อให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรมและโปร่งใส อีกทั้ง ผมได้เสนอให้ปรับแก้ข้อกำหนดทางเทคนิคบางประการเพื่อให้เกิดความสะดวกและปลอดภัยต่อผู้โดยสาร นอกจากนี้ ผมยังได้ขอให้พิจารณาทบทวนราคากลางของการจัดซื้อครั้งนี้ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ปรากฏว่า ขสมก.ได้ปรับแก้ TOR และราคากลางจนเป็นที่น่าพอใจ
ต่อจากนั้น ขสมก. ได้เปิดประมูลเพื่อจัดซื้อรถเมล์ NGV ปรับอากาศจำนวน 489 คัน เป็นโครงการนำร่อง แต่กว่าจะประมูลได้ต้องประกาศขายซองถึง 3 ครั้ง เพราะสองครั้งแรกไม่มีบริษัทใดที่ยื่นเอกสารได้ถูกต้องครบถ้วน ครั้งที่สามมีสองบริษัทที่คณะกรรมการจัดซื้อมีความเห็นว่าเอกสารถูกต้องครบถ้วนสามารถเข้าประมูลได้ อย่างไรก็ตาม หลังจากการประมูลแล้ว ขสมก.ต้องเจรจาต่อรองค่าซ่อมกับบริษัทผู้ชนะการประมูลก่อนลงนามในสัญญา แต่ระหว่างการเจรจาค่าซ่อมกลับมีการตั้งข้อสังเกตว่าเอกสารของบริษัทผู้ชนะการประมูลบางรายการไม่ถูกต้อง ไม่น่าจะเข้าร่วมประมูลได้ ข้อสังเกตดังกล่าวมีดังนี้
1. บริษัทผู้ชนะการประมูลยื่นเอกสารรับรองมาตรฐาน ISO ซึ่งหมดอายุตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2558 แต่วันประมูลมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2558
2. บริษัทผู้ชนะการประมูลไม่มีรายละเอียดผลงานการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์ที่ใช้งานกับก๊าซธรรมชาติกับหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือภาคเอกชน ทั้งภายในประเทศหรือต่างประเทศ การพิจารณาว่าบริษัทผู้ชนะการประมูลเคยเปลี่ยนเครื่องยนต์ดีเซลเป็นเครื่องยนต์ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติมาแล้ว จะถือว่ามีผลงานการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องยนต์กับก๊าซธรรมชาตินั้น ไม่น่าจะถูกต้อง
3. บริษัทผู้ชนะการประมูลไม่มีหนังสือรับรองการขายรถโดยสารจากผู้ซื้อ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงผลงานการจำหน่ายรถโดยสารของบริษัทผู้ชนะการประมูล
4. บริษัทผู้ชนะการประมูลไม่มีรายละเอียดผลงานการประกอบรถโดยสารขนาดความยาว 12 เมตร แต่ได้ยื่นเอกสารของบริษัทอื่นเป็นภาษาอังกฤษโดยไม่ได้แปลเป็นภาษาไทย และไม่ได้ประทับตรารับรองเอกสารจากสถานทูตจีนประจำประเทศไทยตามที่ TOR กำหนด
ข้อสังเกตดังกล่าวข้างต้น ขสมก.ได้ชี้แจงว่าบริษัทผู้ชนะการประมูลทำถูกต้องทุกประการ และขสมก.ได้ดำเนินการการประมูลในครั้งนี้อย่างโปร่งใสและเป็นธรรม
"แต่ผมก็อดกังขาไม่ได้ว่าถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ทำไม ขสมก.จึงไม่กล้าเซ็นสัญญาซื้อขายรถเมล์ NGV จำนวน 489 คัน กับบริษัทผู้ชนะการประมูล คนกรุงเทพฯ จะได้ใช้รถเมล์ใหม่กันเสียที ขสมก.กลัวอะไรหรือครับ หรืออาจจะเป็นเพราะว่าปมปริศนาอยู่ที่การทำเอกสารบางรายการให้ถูกต้องด้วยวิธีการที่สุ่มเสี่ยง ทั้งๆ ที่ มีผู้สังเกตการณ์ทักท้วงแล้ว"
ขอบคุณภาพประกอบจากเพจเฟชบุ๊กดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์