เทพชัย หย่อง ชี้สื่อสาธารณะจะเกิดได้ต้องทำให้ปชช.รู้สึกเป็นเจ้าของ
นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยแจงกรณีเลิกภาษีบาปกระทบไทยพีบีเอส แต่ไม่มีประชาชนออกโรงป้อง เหตุทีวีสาธารณะไม่อยู่ในใจประชาชน ด้านผอ.ไทยพีบีเอสฝากทีมบริหารชุดใหม่คำนึงความมั่นคงองค์กร พร้อมแนะกสทช.เรียงช่องเบอร์เดิมทั้งระบบดิจิตอลและดาวเทียมดึงคนดูเพิ่ม
วันที่ 8 ตุลาคม 2558 โครงการสื่อมวลชนศึกษาในยุคการเปลี่ยนผ่านของสื่อ เทคโนโลยีและสังคม (Media Monitor)มูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา จัดเสวนาเรื่อง “จากกรณีไทยพีบีเอส ถึงอนาคตโทรทัศน์เพื่อบริการสาธารณะในประเทศไทย” ณ ห้องประชุมอิศรา อมันตกุล ชั้น 3 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวถึงกรณีข่าวของไทยพีบีเอสที่จะได้รับผลกระทบจากกรณีการยกเลิกภาษีบาป ว่า ไม่แปลกใจที่สื่อกระแสหลักไม่ได้ใส่ใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยพีบีเอส เพราะโดยปกติสื่อกระแสหลักจะไม่ค่อยทำเรื่องที่ซับซ้อนหรืออธิบายยากอยู่แล้ว แต่สื่อเหล่านั้นจะตื่นเต้นก็ต่อเมื่อมีประเด็นหวือหวา นอกจากนี้เมื่อมีการนำเสนอข่าวสื่อส่วนใหญ่ก็เสนอเพียงประเด็นของตัวเลขว่า ไทยพีบีเอสได้เงินปีละเท่าไหร่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ได้งบประมาณปีละเท่าไหร่ แต่ไม่มีใครนำเสนอว่าบทบาทหน้าที่ที่สำคัญขององค์กรเหล่านี้ที่มีต่อสังคมอยู่ตรงไหน หรืออธิบายว่าสององค์กรนี้มีความสำคัญมากเพียงใดกับสังคม หรือใช้เงินได้คุ้มค่ากับสังคมหรือไม่ นี่คือสิ่งที่สื่อไม่ได้กล่าวถึงในการนำเสนอข่าว
นายเทพชัย กล่าวว่า สื่อกระแสหลักควรปรับวิธีการมองบทบาทของไทยพีบีเอส โดยไม่มองไทยพีบีเอสเป็นคู่แข่ง แต่มองในแง่ของสื่อที่ทำโดยสาธารณะเพื่อสาธารณะ ที่สำคัญคือไทยพีบีเอสเป็นสื่อที่มีองค์ประกอบสำคัญของประชาธิปไตย ดังนั้นบทบาทของไทยพีบีเอสจึงเป็นมากกว่าสื่อ ที่สำคัญไทยพีบีเอสเป็นองค์กรที่ทุกภาคส่วนมีความคาดหวังสูงในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะในการส่งเสริมประชาธิปไตย ส่งเสริมให้สังคมมีส่วนร่วม ซึ่งสื่อกระแสหลักควรจะตรวจสอบการทำหน้าที่ของไทยพีบีเอส และอย่ามองไทยพีบีเอสเป็นเพียงสื่อสื่อหนึ่งเท่านั้น
“ปรากฏการณ์ข่าวของไทยพีบีเอสที่เกิดขึ้นจากกรณีจะมีการยกเลิกภาษีบาปนั้นสะท้อนให้เห็นว่า ไทยพีบีเอสเองอาจจะไม่ได้นำเสนอในสิ่งที่สังคมคาดหวังเท่าที่ควรจึงทำให้ไทยพีบีเอสไม่ได้อยู่ในใจของคนทั่วไป ดังนั้นต้องย้อนถามตัวเองว่า 8 ปีที่ผ่านมาของการทำหน้าที่สื่อสาธารณะนานเพียงพอไหมกับความคาดหวังของคนในสังคม ที่จะทำให้เขาเห็นคุณค่าและอยากออกมาปกป้อง”
ส่วนการจะมีสื่อสาธารณะเพิ่มขึ้นในอนาคต นายเทพชัย กล่าวว่า สื่อสาธารณะที่จะเกิดขึ้นใหม่จะต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีไปเพื่ออะไร ไม่ว่าจะเป็นสื่อสาธารณะหรือเชิงพาณิชย์ก็ต้องตอบคำถามให้ได้ว่าทำให้ใครดู เพราะสื่อทีวีจะมีความหมายก็ต่อเมื่อมีคนดู แต่ละวินาทีที่ออกอากาศมีใครดูเราอยู่บ้าง หากตอบโจทย์คำถามเหล่านี้ไม่ได้ก็ไม่รู้จะมีขึ้นเพื่ออะไร นอกจากนี้โจทย์หลักของสื่อสาธารณะคือการรับใช้สาธารณะ ในอเมริกาสื่อสาธารณะเขาประสบความสำเร็จมากเนื่องจากเขามีจุดยืนที่ชัดเจน มีเอกลักษณ์ ขณะที่บ้านเราเอาเรื่องเรตติ้งมาประเมินผู้อำนวยการบริหารสถานี ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเป็นสื่อสาธารณะ
“ดังนั้นหน้าที่ของสื่อสาธารณะจะต้องทำเรื่องที่ชาวบ้านอาจจะไม่อยากรู้ แต่จำเป็นต้องรู้ หรือเรื่องยากมานำเสนอในรูปที่ชาวบ้านเห็นแล้วมองว่าสำคัญและเข้าใจได้ ที่สำคัญในทางปฏิบัติก็ต้องมีการกำกับดูแลสื่อสาธารณะอย่างชัดเจน สำหรับสื่อสาธารณะที่จะเกิดขึ้นใหม่ต้องผ่านการตรวจสอบ พร้อมกับตอบโจทย์ของสังคมให้เขารู้สึกว่าเป็นเจ้าของ ตราบใดคนดูไม่รู้สึกว่าเป็นเจ้าของสื่อสาธารณะไม่มีทางเกิดขึ้นได้”
ด้านนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) กล่าวว่า สื่อมวลชนมองไทยพีบีเอสเป็นคู่แข่งไม่ใช่เพื่อนในวงการเดียวกัน บางครั้งมีแรงกดดันว่าเราต้องแข่งกับช่องการค้า ส่วนการจะมองว่า สื่อมวลชนด้วยกันจะเข้ามาช่วยปกป้องไทยพีบีเอสหรือไม่ บางครั้งไทยพีบีเอสถูกมองว่าเป็นสื่อที่มีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่นและกลายเป็นกระหน่ำซ้ำเติมด้วยซ้ำ ดังนั้นจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจึงเป็นภาระของผู้บริหารชุดใหม่ที่จะเข้ามารับหน้าที่ที่จะต้องมีความชัดเจนว่าจะสร้างความมั่นคงยั่งยืนอย่างไรให้กับองค์กร
นายสมชัย กล่าวด้วยว่า ทางสถานีเข้าใจดีถึงความคาดหวังของกลุ่มคนที่จะต้องตอบสนองความต้องการให้ผู้ชมได้ แต่ปัญหาอย่างหนึ่งของบุคลากรในองค์กรก็ยังไม่แน่ใจว่า บุคลากรพันกว่าคนนั้นหล่อหลอมให้มีแนวคิดในลักษณะเดียวกันได้เพียงใด ซึ่งได้พยายามที่จะให้มีแนวคิดในลักษณะเดียวกันแต่ก็ยังทำไม่สำเร็จ
ส่วนสื่อสาธารณะที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนั้น ผอ.ไทยพีบีเอส กล่าวว่า จะต้องคิดวิธีการสนับสนุนว่าจะอุดหนุนเขาให้ทำงานที่มีคุณภาพได้อย่างไร ทำแล้วไปให้ใครดู เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคประชาชน ทั้งนี้การจะดึงดูดให้คนมาดูทีวีสาธารณะมากขึ้นจะต้องสนับสนุนให้มีทีวีสาธารณะครบทั้ง 12 ช่องตามที่วางไว้ รวมทั้งควรกำหนดมาตรการให้ชัดเจนเรื่องการเรียงช่องให้เหมือนกันหมดไม่ว่าจะเป็นแบบดาวเทียมหรือดิจิตอลต้องใช้เบอร์ช่องเดียวกัน
ขณะที่นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) กล่าวว่า สื่อสาธารณะที่จะเกิดขึ้นจะมีการตรวจสอบการให้ใบอนุญาตอย่างละเอียด พร้อมทั้งจะพิจารณาด้านคุณสมบัติ สัดส่วนความเหมาะสมให้ละเอียดมากขึ้น