ศาลสั่งจำคุก 8 ปีอดีตผู้บริหารPOWER-P เบียดบังเงินค่ามัดจำหุ้น 45 ล.
ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 8 ปี อดีตผู้บริหารเครือ POWER-P ให้การเป็นประโยชน์ลดโทษเหลือ 5 ปี 4 เดือน ปมเบียดบังเงินบริษัทจ่ายค่ามัดจำซื้อหุ้น 45 ล้าน ไม่ยอมลงข้อความสำคัญในงบการเงิน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2558 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เผยแพร่ข่าว กรณีศาลอาญาลงโทษจำคุกอดีตผู้บริหารเครือบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) หรือ POWER-P ทุจริตและยินยอมให้มีการทำผิดเกี่ยวกับบัญชีและเอกสารของบริษัท
กรณีนี้สืบเนื่องจาก ก.ล.ต. ได้รับการร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทุนในบริษัท แอล.วี.ซี.ดีเวลล็อปเม้นท์ จำกัด ในเครือ POWER-P ว่า นายราชศักดิ์ สุเสวี ครั้งดำรงตำแหน่งกรรมการรับผิดชอบการดำเนินงานของบริษัท POWER-P เบียดบังเงินออกจากบริษัทโดยทุจริต ด้วยการให้บริษัทจ่ายเงินมัดจำค่าซื้อหุ้นบริษัทแห่งหนึ่งสูงกว่าความเป็นจริง 45 ล้านบาท ยอมให้ลงข้อความเท็จและไม่ลงข้อความสำคัญในบัญชีและเอกสารของ POWER-P และทำบัญชีไม่ถูกต้องครบถ้วนตามจริง เพื่อลวงผู้อื่นเกี่ยวกับการเบียดบังเงินออกจากบริษัท โดยเกิดขึ้นระหว่างปี 2548
ต่อมา ก.ล.ต. ได้ตรวจสอบพบการทำความผิด จึงดำเนินการกล่าวโทษนายราชศักดิ์ สุเสวี ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. 2553 และจากพยานหลักฐานที่รวบรวมโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ จึงทำให้สำนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ได้พิจารณาเห็นควรฟ้องร้องดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2558 ศาลอาญามีคำพิพากษาว่านายราชศักดิ์มีความผิดตามมาตรา 307 308 311 ประกอบมาตรา 313 และความผิดตามมาตรา 312(2)(3) แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ให้ลงโทษฐานเบียดบังทรัพย์ของ POWER-P เป็นของตนโดยทุจริตตามมาตรา 90 แห่งประมวลกฎหมายอาญา โดยจำคุก 8 ปี และมีความผิดตามมาตรา 312 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์ฯ ฐานยินยอมให้ลงข้อความเท็จและไม่ลงข้อความสำคัญในงบการเงินงวดปี 2548 และเอกสารของ POWER-P และบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง และไม่ตรงตามความเป็นจริงเพื่อลวงผู้อื่น ให้ลงโทษจำคุก 8 ปี
เนื่องจากนายราชศักดิ์ให้การเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามมาตรา 78 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จึงลดโทษจำคุกเหลือกรณีละ 5 ปี 4 เดือน รวมลงโทษจำคุก 10 ปี 8 เดือน โดยไม่รอลงอาญา
นายวสันต์ เทียนหอม รองเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนเป็นหัวใจสำคัญในการลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัท โดยหลักจะต้องมีการเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอ ถูกต้อง ทั่วถึง และทันเวลา แต่หากกรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงอันควรบอกให้แล้ว ก็ย่อมมีความรับผิดทางอาญา อีกทั้งถ้ากระทำไปเพื่อลวงผู้ถือหุ้นหรือบุคคลทั่วไป ก็ย่อมต้องรับโทษที่สูงขึ้น กรรมการหรือผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียนจึงมีหน้าที่ที่จะต้องระมัดระวังและซื่อสัตย์สุจริตในการเปิดเผยข้อมูลสำคัญของบริษัท
สำหรับกรณีนี้ เว็บไซต์ ASTVผู้จัดการ รายงานเมื่อปี 2553 ว่า พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ขณะนั้น มีความเห็นสมควรสั่งฟ้องกรรมการผู้จัดการบริษัท พาวเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) กับพวกรวม 5 ราย แยกเป็นผู้ต้องหาที่ 1-3 ที่เป็นกรรมการผู้จัดการบริษัท พาวเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ในความผิดฐานเป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงาน ของนิติบุคคลใด ได้ร่วมกันกระทำ หรือยินยอมให้ทำบัญชีไม่ครบถ้วน ไม่ถูกต้อง ไม่เป็นปัจจุบันหรือไม่ตรงต่อความเป็นจริง ถ้ากระทำหรือยินยอมให้กระทำ เพื่อลวงให้นิติบุคคลดังกล่าวหรือผู้ถือหุ้นขาดประโยชน์อันควรได้หรือลวงบุคคลใดๆ ผู้ต้องหาที่ 4 ในความผิดฐานผู้ใดกระทำด้วยประการใด ๆ อันเป็นการช่วยเหลือ หรือให้ความสะดวกในการที่กรรมการผู้จัดการหรือบุคคลซึ่งรับผิดชอบในการดำเนินงานของนิติบุคคลใด ตาม พ.ร.บ.นี้ หรือผู้สอบบัญชีที่กระทำผิด ม.287, 306, 307, 308, 309, 310, 311, 312 หรือไม่ว่าก่อนหรือในขณะกระทำผิด และผู้ต้องหาที่ 5 ในความผิดฐาน ไม่จัดทำงบการเงินหรือรายงานให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการที่คณะกรรมการ ก.ล.ต.ประกาศกำหนดและไม่ส่งงบการเงินภายในระยะเวลา ที่กฎหมายกำหนด
จากกรณีที่ ผู้ต้องหาที่ 1-3 ที่เป็นกรรมการผู้จัดการหรือผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานของบริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทก่อสร้าง ผลิตเสาเข็ม คอนกรีตฯ ได้ร่วมกันตกแต่งบัญชี โดยไม่มีการทำงาน หรือการจ้างงานจริง โดยก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อดีเอสไอ ว่า บริษัท เพาเวอร์-พี จำกัด (มหาชน) มีพฤติกรรมตกแต่งบัญชีทรัพย์สินเป็นเท็จเสนอต่อตลาดทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยทำบัญชีแสดงว่าบริษัทมีรายได้และผลประกอบการดี เพื่อขออนุมัติตลาดหลักทรัพย์ฯให้ซื้อขายหุ้นได้ จากนั้นนำหุ้นไปขายนอกตลาดได้เงินจากประชาชนกว่า 1,000 ล้านบาท แล้วนำหุ้นมาขายในตลาดหลักทรัพย์ได้กำไรประมาณ 30 ล้านบาท โดยมีผู้เสียหายมาร้องทุกข์เพิ่มเติมว่าถูกหลอกให้ซื้อหุ้น ซึ่งเข้าข่ายข้อหาฉ้อโกง
สำหรับผู้ต้องหาที่ 4 เป็นผู้จ่ายเงินค่าจ้างซึ่งเป็นการทำงานเท็จ บริษัท เดอะเบส คอนโดมิเนี่ยม และบริษัท ซิลเวอร์ เฮอริเทจ ให้กับ บริษัท เพาเวอร์-พี เป็นการสนับสนุนผู้ต้องหาที่ 1-3 ส่วนผู้ต้องหาที่ 5 เป็นนิติบุคคล คือ บริษัท เพาเวอร์พี เมื่อผู้ต้องหาที่ 1 ได้ถอนตัวจากการบริหารหลังจากขายหุ้นไปแล้ว ไม่มีผู้ตรวจบัญชีตรวจงบการเงินให้ จึงไม่ได้ส่งงบการเงินให้กับตลาดหลักทรัพย์
หมายเหตุ : ภาพประกอบศาลอาญา จาก mthai