กฤษฎีกาชี้ปมศลช.ฟ้องบ.เกาหลี ไม่จ่ายค่าที่ปรึกษาขายวัคซีน ให้คำนึงปย.ราชการ!
"กฤษฎีกา" ให้ "ศลช." ใช้อำนาจคำนึงผลประโยชน์ราชการ พิจารณาข้อเสนอ บ.เกาหลี ขอยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดค่าตอบแทนสัญญาให้คำปรึกษาขายวัคซีน "เอกชนไทย" แนะ "ก.คลัง-ก.พ.ร." ชงครม.กำหนดแนวทางปฏิบัติเจรจา-ไกลเกลี่ยระงับข้อพิพาทเพิ่ม
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้เผยแพร่ความเห็นทางกฎหมาย กรณี ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) (ศลช.) ขอปรึกษาข้อกฎหมายจากกรณีที่ ศลช. ได้ทำสัญญาให้คำปรึกษากับ บริษัท โกลแวกซ์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายของสาธารณรัฐเกาหลี เพื่อส่งเสริมการขายวัคซีน ของบริษัทฯ ซึ่งเป็นวัคซีนไขสมองอักเสบเจอี ชนิดเชื้อเป็นสายพันธุ์ุ SA 14-14-2 หรือมีชื่อทางการค้าวา CD.JEVAX Vaccine (วัคซีนโกลแวกซ์) ให้แก่องค์การเภสัชกรรม
โดย ศลช. มีสิทธิได้รับค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกล่าวในจำนวนร้อยละ 5 ของยอดขายวัคซีนหลอดและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของวัคซีนโกลแวกซ์ที่บริษัทฯ ขายให้แก่องค์การเภสัชกรรมเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแตวันที่บริษัทฯ ขายวัคซีนโกลแวกซ์เป็นครั้งแรกให้แก่องค์การเภสัชกรรม
และเนื่องจากในขณะนั้น ยังไม่สามารถขายวัคซีนโกลแวกซ์ให้แก่ภาครัฐ แต่สามารถขายให้ภาคเอกชนได้ ศลช. และบริษัทฯ จึงได้แก้ไขเพิ่มเติมสัญญา ให้คำปรึกษาฯ ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2550 โดยให้ ศลช. มีสิทธิได้รับค่าตอบแทน จำนวนร้อยละ 5 ของยอดขายผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปของวัคซีนโกลแวกซ์ที่บริษัทฯ ขายให้แก่ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ในตลาดเอกชนเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่บริษัทฯ ขายวัคซีนโกลแวกซ์เป็นครั้งแรกให้แก่บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด
เมื่อ ศลช. ได้ปฏิบัติตามสัญญาครบถ้วนแล้ว จึงมีหนังสือทวงถามไปยังบริษัทฯ หลายครั้ง ให้ชำระค่าตอบแทนตามสัญญา แต่ บริษัทฯ ปฏิเสธโดยอ้างว่า ศลช. มิได้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา
พร้อมทั้งมีหนังสือยกเลิกสัญญาให้คำปรึกษามายัง ศลช. และแจ้งว่าจะชำระค่าตอบแทนให้แก่ ศลช. จากมูลค่าการนำเข้าในสัญญาเป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่ปีแรกของการนำเข้าวัคซีนโกลแวกซ์เท่านั้น
ต่อมา ศลช. ได้มีหนังสือที่ วท 6500/01/287 ลงวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2558
ถึงอัยการสูงสุด ขอให้จัดพนักงานอัยการดำเนินการฟ้องร้องบริษัทฯ ให้ชำระเงิน ค่าตอบแทนตามสัญญาให้คำปรึกษาพร้อมด้วยดอกเบี้ย
อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2558 บริษัทฯ มีข้อเสนอขอเจรจากับ ศลช. โดยตกลงที่จะชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่ ศลช. ตามเงื่อนไขของสัญญาให้คำปรึกษา แต่ขอยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดที่ ศลช. เรียกร้อง
ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการบริหาร ศลช. ครั้งที่ 10/2558 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2558 คณะกรรมการบริหาร ศลช. ได้พิจารณาถึงข้อดีและข้อเสียในการเจรจาและไกลเกลี่ยข้อพิพาทกับบริษัทฯ ตลอดจนการดำเนินคดีกับบริษัทฯ ซึ่งอาจไม่ก่อให้เกิดประโยชน์
คณะกรรมการบริหาร ศลช. จึงมีมติเห็นชอบให้หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับการเจรจาและไกลเกลี่ยระงับข้อพิพาทกับบริษัทฯ ดังต่อไปนี้
1. ผู้อำนวยการ ศลช. หรือคณะกรรมการบริหาร ศลช. มีอำนาจหน้าที่ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ที่จะพิจารณาข้อเสนอของบริษัทฯ ที่ข้อยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัด และดำเนินการเจรจาและไกลเกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีต่อศาลหรือไม่
2. ในกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้ว ผู้อำนวยการ ศลช. และคณะกรรมการบริหารศลช. มีอำนาจที่จะไกลเกลี่ยข้อพิพาทและตกลงประนีประนอมยอมความกับบริษัทฯ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ.2554 หรือไม่ และ ศลช. จะต้องปฏิบัติตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ว. 64 ลงวันที่ 1 เมษายน 2548 ก่อนที่ ศลช. จะตกลงประนีประนอมยอมความดังกลาวหรือไม่
คณะกรรมการกฤษฎีกา ได้พิจารณาข้อหารือประกอบคำชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องแล้ว มีความเห็นดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง เห็นว่า กรณีที่ขอหารือมานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามสัญญา
ที่ ศลช. ตกลงให้บริการและให้คำปรึกษาเพื่อส่งเสริมการขายวัคซีนไขสมองอักเสบเจอี (วัคซีนโกลแวกซ์) ของบริษัท โกลแวกซ์ จำกัด ให้แก่ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ซึ่งมีค่าตอบแทนจากการให้บริการดังกลาวในจำนวนร้อยละ 5 ของยอดขายวัคซีนโกลแวกซ์
โดยที่สัญญาดังกล่าวได้จัดทำขึ้นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของ ศลช. โดยมีวัตถุประสงค์ตามมาตรา 7 (1)1 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2554 ในการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว ศลช. มีอำนาจหน้าที่ในการทำนิติกรรมทุกประเภทผูกพันทรัพย์สิน ตลอดจนทำนิติกรรมอื่นใดเพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจการของ ศลช. รวมทั้งทำความ ตกลงและร่วมมือกับองค์การหรือหน่วยงานอื่นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศในกิจการที่เกี่ยวกับการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ ศลช. โดยเรียกค่าตอบแทนหรือค่าบริการในการดำเนินกิจการได้ตามมาตรา 82(2) (3) และ (8) แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ
ดังนั้น สัญญาให้คำปรึกษาดังกล่าวจึงเป็นรูปแบบหนึ่งของการใช้อำนาจในการดำเนินกิจการของ ศลช. และคณะกรรมการบริหาร ศลช. แล้วแต่กรณี
ทั้งนี้ ตามนัยมาตรา 7 และมาตรา 8 ประกอบกับมาตรา 183 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ ที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหาร ศลช. มีอำนาจในการควบคุมดูแล ศลช. ให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ โดยมีผู้อำนวยการศูนย์ฯ เป็นผู้แทนของ ศลช. ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 284 แห่งพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งฯ และเมื่อได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงกันไว้เป็นประการใดแล้ว การจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขแห่งสัญญาเป็นประการอื่นหรือดำเนินการเจรจาและไกลเกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีตอศาลก็ยอมอยู่ในอำนาจและดุลพินิจของคู่สัญญาที่จะกระทำได้ตามข้อบังคับหรือระเบียบปฏิบัติของ ศลช.
แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้ ศลช. ยังไม่มีข้อบังคับหรือระเบียบของคณะกรรมการบริหาร ศลช.ที่กำหนดเกี่ยวกับการเจรจาและไกลเกลี่ยข้อพิพาทที่เกิดจากการทำสัญญาแต่อย่างใด
กรณีตามข้อหารือนี้จึงเป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหาร ศลช. ที่จะพิจารณาให้ความเห็นชอบการดำเนินการดังกล่าวไปก่อนจนกว่าจะมีการออกข้อบังคับหรือระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินการในเรื่องนี้
แต่ทั้งนี้การที่บริษัทฯ มีข้อเสนอที่จะขอเจรจากับ ศลช. โดยจะชำระเงินค่าตอบแทนให้แก่ ศลช. ตามเงื่อนไขของสัญญาให้คำปรึกษา แต่ขอยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดที่ ศลช.เรียกร้อง และดำเนินการเจรจาและไกลเกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดีต่อศาลตาม กรณีข้อหารือนี้ จะต้องคำนึงถึงผลประโยชน์ของทางราชการเป็นสำคัญโดยไม่ทำให้ทางราชการเสียเปรียบตลอดจนผลกระทบที่จะได้รับจากการดำเนินการดังกล่าวด้วย
ประเด็นที่สอง เห็นว่า เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า ศลช. ไดมีหนังสือถึงอธิบดีอัยการ
สำนักงานคดีแพ่ง ขอคืนเรื่องการฟ้องคดีโดยประสงค์จะรอความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา กรณีจึงไม่มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาในกรณีที่ ศลช. ฟ้องคดีต่อศาลอีกต่อไป
และสำหรับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความในคดีแพ่ง ตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ว. 64 ลงวันที่ 1 เมษายน 2548 ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับส่วนราชการผู้เป็นเจ้าของคดีสามารถใช้ดุลพินิจร่วมกับพนักงานอัยการในการพิจารณาเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความสำหรับคดีแพ่งบางประเภทได้นั้น โดยที่กรณีตามแนวทางดังกล่าวใช้สำหรับส่วนราชการตาม พระราชบัญญัติปรับปรุง กระทรวง ทบวง กรมฯ มิได้ครอบคลุมถึงหน่วยงานอื่น ของรัฐด้วย
นอกจากนี้จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการฟ้องคดีต่อศาลแล้วประสงค์จะประนีประนอมยอมความและถอนฟ้องคดีในชั้นศาลเท่านั้น กรณีจึงไม่สามารถนำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งดังกลาวมาใช้บังคับแก่องค์การมหาชนได้
อนึ่ง คณะกรรมการกฤษฎีกา มีข้อสังเกตเพิ่มเติ่มวา เมื่อกระทรวงการคลัง
เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังของแผ่นดิน ตามมาตรา 107 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ประกอบกับองค์การมหาชนเป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการบริการสาธารณะ โดยใช้เงินงบประมาณแผ่นดินประเภทเงินอุดหนุนทั่วไปซึ่งรัฐจัดสรรให้เป็นรายปีตามความเหมาะสม
ดังนั้น กระทรวงการคลัง จึงควรหารือกับ ก.พ.ร.เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีในการกำหนดแนวทางปฏิบัติขององค์การมหาชนตลอดจนรัฐวิสาหกิจเกี่ยวกับการเจรจาและไกลเกลี่ยระงับข้อพิพาทกับเอกชน ทั้งกรณีก่อนที่จะมีการดำเนินคดีทางแพ่งและในกรณีที่มีการดำเนินคดีทางแพ่งแล้ว ในทำนองเดียวกันกับแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการประนีประนอมยอมความในคดีแพ่งของส่วนราชการตามหนังสือกระทรวงการคลัง ที่ กค 0406.2/ว. 64 ลงวันที่ 1 เมษายน 2548 ด้วย ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ในทางวินัยการเงินการคลังของแผ่นดิน