มีคนตายถูกลงโทษแค่ตัดเงินเดือน! พ่อเหยื่อสะพานฯ200ปีถล่ม โวยให้ไล่ออก
บิดาผู้เสียชีวิต เหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี จ.อยุธยา ถล่มหลังเปิดใช้แค่ 9 เดือน เข้าร้องขอความเป็นธรรม "อิศรา" อีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องถูกลงโทษ ทางวินัยตัดเงินเดือน 4 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ทั้งที่มีคนตาย เผยส่งหนังสือถึงศูนย์ดำรงธรรมฯ เสนอแก้ไขให้ไล่ออกแทน
ความคืบหน้าล่าสุด กรณีเหตุการณ์สะพานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี เทศบาลตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา พังถล่มเมื่อวันที่ 28 เม.ย. 56 หลังจากเปิดใช้สะพานได้เพียง 9 เดือน เนื่องจาก ใช้ลวดสลิงไม่ได้มาตรฐานและเป็นการก่อสร้างผิดแบบ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ปรากฏชื่อบริษัทผู้รับจ้าง คือ บริษัท ดีไซน์(2009) จำกัด นั้น
(อ่านประกอบ : มหากาพย์ 2 ปีสะพานถล่ม! ร้องเรียนสารพัดหน่วยงาน-ไร้ความคืบหน้า)
เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 58 นายอนุนาท เสือสมิง บิดาของเด็กหญิงวัย 10 ปี ผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าการติดตามคดี ว่า ได้ส่งหนังสือร้องต่อศูนย์ดำรงธรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอให้พิจารณาการลงโทษผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ใหม่ แก้ไขเป็นไล่ออก เนื่องจากตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ระบุในส่วนที่ 3 บทกำหนดโทษ ข้อ(1) อย่างชัดเจนว่า “ถ้าการกระทำมีเจตนาทุจริต หรือเป็นเหตุให้ทางราชการเสียหายอย่างร้ายแรง ให้ดำเนินการลงโทษอย่างต่ำ ปลดออกจากราชการ”
"การที่กรมโยธาฯ หน่วยงาน ต้นสังกัด ชิงลงโทษ ลูกน้องเพียงแค่ตัดเงินเดือน 4% มันเล็กน้อยมากกับข้อ กม. ที่เกี่ยวกับคทุจริตและมีคนตาย"นายอนุนาทระบุ
นายอนุนาท ยังระบุด้วยว่า ได้แจ้งเรื่องถึงสภาวิศวกร เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยเกี่ยวกับการควบคุมงานก่อสร้างโครงการสะพานสมโภชน์รัตนโกสินทร์ 200 ปี (เคเบิ้ลคนเดินข้าม) โดย สภาวิศวกรได้พิจารณาเรื่องดังกล่าวแล้ว พบว่า เนื่องจากงานควบคุมการสร้างหรือการผลิตโครงสร้างสะพานที่มีช่วงระหว่างศูนย์กลางตอม่อช่วงใดช่วงหนึ่งยาวตั้งแต่ 10 เมตรขึ้นไป เข้าข่ายงานและประเภทของงานวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ตามข้อ 3(4) และข้อ 4(5) ของกฎกระทรวงกำหนดวิชาสาขาวิชาชีพวิศวกรรม และวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม พ.ศ. 2550
และเป็นงานที่ภายในขอบเขตความสามารถของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุม สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับสามัญวิศวกร ตามข้อ 5 ของข้อบังคับสภาวิศวกร ว่าด้วยหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ประกอบการวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมแต่ละระดับสาขาวิศวกรรมโยธา พ.ศ. 2551
ดังนั้น นายอนุวัติ วิชัยโย เลขทะเบียน ภย.39132 และนายสันติธรรม สีนวนสกุลณี เลขทะเบียน ภย.26146 ในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตฯ สาขาวิศวกรรมโยธา ระดับภาคีวิศวกร จึงไม่สามารถทำงานควบคุมการสร้างหรือการผลิตโครงการสะพานดังกล่าวได้ เนื่องจาก ภาคีวิศวกรสามารถควบคุมการสร้างสะพานได้แค่ 12 เมตรเท่านั้น ซึ่งสะพานสมโภชน์ฯ 200 ปี จ.อยุธยา มีความยาวประมาณ 111 เมตร(ดูเอกสารประกอบ)
นายอนุนาท ยังระบุด้วยว่า ต่อกรณีนี้ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รับทราบเรื่องแล้ว หลังจากที่ได้มีการทวงถามในงานวันต่อต้านคอร์รัปชั่นแห่งชาติ (จัดโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น(ประเทศไทย)) โดยได้มอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ในฐานะเลขนุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ พิจารณาดำเนินการต่อไปแล้ว(ดูเอกสารประกอบ)
"ที่ผ่านมา ผมคิดว่ากระบวนการ ตรวจสอบของหน่วยงาน ตรวจสอบ ทั้งกระทรวงมหาดไทย ป.ป.ช. หรือที่อื่นๆ มีความล่าช้า ในการตรวจสอบการทุจริต ทั้งที่เข้ายื่นเรื่องร้องเรียนและติดตามหลายครั้ง รวมทั้งร้องเรียนตรงกับ มท.1 ด้วย" นายอนุนาทระบุ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รายการเจาะลึกข่าวร้อน สถานีโทรทัศน์ TNN 24 รายงานผลการตรวจคดีนี้ ว่า ผลการดำเนินการลงโทษทางวินัย ของนายอนุวัติ และนายสันติธรรม โดยการตัดเงินเดือน 4 เปอร์เซ็นต์