กรธ.มีกุนซือได้ไม่เกิน 9 คนเน้นเคยร่าง รธน.มาก่อน-เบี้ยประชุม 4 พัน/ครั้ง
คสช. ออกคำสั่งให้ กรธ. มีที่ปรึกษาไม่เกิน 9 คน คำนึงถึงผู้เคยร่วมร่าง รธน.ปี 40-50-57 มาก่อน เบี้ยประชุม 4 พันบาท/ครั้ง ให้มีผู้เชี่ยวชาญรับเงิน 2 หมื่นบาท/เดือน-ผู้ช่วยดำเนินงาน รับเงิน 1.5 หมื่นบาท/เดือน ให้ สปท. มีผู้ช่วยไม่เกิน 3 คน รับเงิน 1.5 หมื่นบาท/เดือน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 34/2558 เรื่อง การอำนวยความสะดวกในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ
คำสั่งดังกล่าว ระบุว่า ตามที่มีประกาศคณะรักษาความความสงบแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ลงวันที่ 5 ตุลาคม 2558 นั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานของคณะกรรมการดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อยรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ สามารถมีที่ปรึกษา ผู้ช่วยปฏิบัติงาน คณะอนุกรรมการและเจ้าหน้าที่อื่น ๆ ได้ ตามความจําเป็นซึ่งยังไม่เคยมีกฎเกณฑ์ในเรื่องนี้มาก่อน จึงสมควรวางมาตรการเพื่ออํานวยความสะดวกในการจัดทําร่างรัฐธรรมนูญและการเตรียมการอื่น ๆ เช่น การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การเตรียมการเกี่ยวกับการลงประชามติ การจัดทํากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ อันจะทําให้กระบวนการทั้งหลายดําเนินไปได้ตามเวลาที่กําหนดหรือเร็วขึ้นสมประโยชน์และสอดคล้องกับการปฏิรูปการเมืองการปกครองตามแผนและขั้นตอน (Roadmap) ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้แถลงไว้
อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ โดยความเห็นชอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ จึงมีคําสั่งดังต่อไปนี้
1. ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา 4 แห่งพระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557
2. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีที่ปรึกษาจํานวนไม่เกินเก้าคน ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญแต่งตั้งโดยคํานึงถึงผู้เคยเป็นกรรมาธิการในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 พ.ศ. 2550 และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด พ.ศ. 2557 – 2558 ด้วย
ให้ที่ปรึกษาตามวรรคหนึ่งซึ่งประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเชิญให้เข้าประชุมได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ๆ ละสี่พันบาท วันใดที่มีการประชุมหลายครั้งให้ได้รับเบี้ยประชุมเพียงครั้งเดียว
3. ให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศแต่ละคนมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงานในตําแหน่งและอัตราค่าตอบแทนตามที่ประธานรัฐสภาออกระเบียบ โดยเทียบเคียงกับกรณีของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติแต่จํานวนต้องไม่เกินคนละสามอัตรา (ตามระเบียบของ สปช. ผู้ช่วยปฏิบัติงาน ได้รับเงินเดือน 1.5 หมื่นบาท/เดือน)
4. ให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีผู้ช่วยในการปฏิบัติงานดังนี้
(1) ผู้ชํานาญการประจําตัวประธานกรรมการ จํานวน 2 อัตรา และผู้ชํานาญการประจําตัวกรรมการคนละ จํานวน 1 อัตรา ทั้งนี้ ให้ผู้ชํานาญการแต่ละคนได้รับค่าตอบแทนในอัตรา เดือนละ 20,000 บาท
(2) ผู้ช่วยดําเนินงานของประธานกรรมการและกรรมการคนละ จํานวน 1 อัตรา ให้ได้รับค่าตอบแทนเดือนละ 15,000 บาท
คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอาจตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายต่าง ๆ เพื่อปฏิบัติงานภายในอํานาจหน้าที่ของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อนุกรรมการดังกล่าวได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้งที่มาประชุมตามอัตราและหลักเกณฑ์เดียวกับกรรมาธิการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
ให้มีผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญไม่เกินห้าคนซึ่งแต่งตั้งจากข้าราชการรัฐสภาสามัญอย่างน้อยหนึ่งคน ผู้ช่วยเลขานุการได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายครั้ง ๆ ละหนึ่งพันบาท
ให้ประธานกรรมการ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมการซึ่งต้องเดินทางไปราชการภายในราชอาณาจักร นอกจังหวัดอันเป็นที่ตั้งอาคารรัฐสภาเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตามมติของคณะกรรมการได้รับค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายและมีสิทธิได้รับค่ารักษาพยาบาล เช่นเดียวกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และอนุกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ตามพระราชกฤษฎีกาเงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557
5. ให้สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจัดงบประมาณ สถานที่ เจ้าหน้าที่ และสิ่งอํานวยความสะดวกแก่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและคณะอนุกรรมการตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แจ้งให้ทราบเพื่อประโยชน์แก่การจัดทําร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและการจัดทําร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ
ในกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเห็นสมควรให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนให้สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดค่าใช้จ่าย สิ่งอํานวยความสะดวกในการเดินทางและการปฏิบัติงานและประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ด้วย
6. การเบิกเบี้ยประชุม ค่าตอบแทน ค่าใช้จ่าย ค่าพาหนะ ค่ารักษาพยาบาลของประธานกรรมการกรรมการและอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ให้เบิกจ่ายจากสํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
7. เพื่อประโยชน์ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการลงประชามติและการจัดทําร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จําเป็น นายกรัฐมนตรีอาจแต่งตั้งคณะกรรมการหรือคณะทํางานอื่นเพื่อศึกษาหรือเตรียมการควบคู่กันไป โดยประสานกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญและองค์กรที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ต้องให้มีความสอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ และคํานึงถึงกําหนดเวลา แผนและขั้นตอนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ในการนี้จะกําหนดอัตราเบี้ยประชุมหรือค่าตอบแทนแก่ผู้ได้รับแต่งตั้งด้วยก็ได้
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 ตุลาคม พุทธศักราช 2558 เป็นต้นไป
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้ กรธ. ได้มีการแต่งตั้งบุคคลขึ้นมาทำหน้าที่เป็น ที่ปรึกษา กรธ. จำนวน 3 รายแล้ว คือ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2558 และรองศาสตราจารย์ ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย
อ่านประกอบ :
ตั้ง"สุพจน์-อภิชาติ"รอง ปธ.กรธ."อมร" โฆษก“มีชัย”ยันฟังความเห็นเสรี
ประกาศแล้ว! 21 กรธ.“มีชัย”นั่ง ปธ. คนกฤษฎีกาพรึบ-ร่างให้เสร็จ 4 เดือน
เคาะแล้ว! 200 สปท.อดีต สปช.เพียบ “ปธ.ป.ป.ช.-หมอพรทิพย์”มาด้วย
ตั้ง"สมคิด-กาญจนารัตน์-เจษฎ์"นั่งกุนซือกรธ.! "ภัทระ"ทิ้งเก้าอี้ปธ.สภานสพ.