ตั้ง"สุพจน์-อภิชาติ"รอง ปธ.กรธ."อมร" โฆษก“มีชัย”ยันฟังความเห็นเสรี
ถก กรธ. นัดแรก ตั้ง "สุพจน์-อภิชาติ" รอง ปธ. "ปกรณ์-ธนาวัฒน์" เลขาฯ "อมร-นรชิต" โฆษก ประชุม 13.30 น. ทุกวัน ยังไม่กำหนดคุยรายมาตรา “มีชัย” ลั่นกลุ่มเห็นต่างไม่เข้าใจ เป็นทุกข์ของเขา “พรเพชร” พร้อมประสานงานช่วยเหลือ เตรียมแก้ รธน.ชั่วคราว ปมประชามติเร็ว ๆ นี้
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2558 ที่รัฐสภา มีการรายงานตัวของสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปท.) ทั้งหมดจำนวน 200 คน ต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ปฏิบัติหน้าที่แทนสำนักงานเลขาฯ สปท. โดยในช่วงเช้ามีสมาชิก สปท. มารายงานตัวแล้ว 64 คน เช่น นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และอดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายวันชัย สอนศิริ อดีต สปช. และอดีต ส.ว.สรรหา และ พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาลภาค 1 พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผ.บชน.) เป็นต้น
ขณะเดียวกันในเวลาประมาณ 13.30 น. จะมีการประชุมคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นครั้งแรก ที่ห้องประชุมเดิมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชั้น 3 อาคาร 3 รัฐสภา โดยจะมีการเลือกรองประธาน 2 ตำแหน่ง เลือกโฆษก และเลขานุการประจำ กรธ.
ล่าสุด นายอมร วาณิชวิวัฒน์ หนึ่งใน กรธ. กล่าวถึงความคืบหน้าในการประชุมนัดแรกว่า เบื้องต้น ที่ประชุม กรธ. มีมติให้นายสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นรองประธานคนที่ 1 นายอภิชาติ สุขัคคานนท์ เป็นรองประธานคนที่ 2 นายปกรณ์ นิลประพันธ์ เป็นเลขานุการคนที่ 1 นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง เป็นเลขานุการคนที่ 2 ส่วนตนและนายนรชิต สิงหเสนี เป็นโฆษก และมีการตั้งคณะอนุกรรมการด้านรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และคณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์
นายอมร กล่าวอีกว่า สำหรับการพูดคุยเบื้องต้นมีการเสนอแนะในที่ประชุมว่าให้เริ่มประชุมในช่วงเวลา 13.30 น. ทุกวันจันทร์-ศุกร์ โดยการประชุมอาจเสร็จหลัง 17.00-18.00 น. ทั้งนี้ในช่วง 2 สัปดาห์แรกอาจใช้เวลาดังกล่าว แต่สัปดาห์ถัด ๆ มาอาจรวมเสาร์-อาทิตย์ด้วย นอกจากนี้ยังไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเข้ารับฟังความคิดเห็น เนื่องจากเกรงว่าสมาชิก กรธ. อาจกังวลไม่กล้าแสดงความคิดเห็น หรืออาจมีบางภาพที่ถ่ายติดบางอิริยาบทหลุดออกไป ทั้งนี้ในที่ประชุมมีการพูดคุยกันถึงกรอบโครงร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาจนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีต กมธ.ยกร่างฯ มาพิจารณา และใช้ 5 กรอบของนายมีชัย เป็นหลักในการร่าง แต่ยังไม่ได้มีการลงในรายละเอียด ต้องรอประชุมในครั้งต่อ ๆ ไป ส่วนประชุมเป็นรายมาตราเมื่อไหร่ยังไม่มีกำหนด
ก่อนหน้าการประชุม นายมีชัย กล่าวว่า ในการประชุมนัดแรก เบื้องต้นจะเป็นการตั้งคณะทำงานในตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งรองประธาน โฆษก กรธ. ตำแหน่งเลขานุการ พร้อมกำหนดวันเวลาในการประชุมและวิธีการในการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพราะการร่างรัฐธรรมจะครบกำหนดภายใน 180 วัน หรือ วันที่ 1 เม.ย. 2558 หากตัดวันหยุดราชการและวันหยุดสุดสัปดาห์ออกไปจะเหลือเวลาทำงานเพียง 120 วัน ซึ่งมองว่ายังไม่เพียงพอ เนื่องจากการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของการออกแบบ และเมื่อจัดทำร่างเสร็จเบื้องต้น ต้องส่งไปให้องค์การต่าง ๆ เช่น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี และประชาชน ได้พิจารณา และนำกลับมาแก้ไขหากมีข้อท้วงติงมา อย่างไรก็ดีขณะนี้ยังไม่จำเป็นต้องขอขยายระยะเวลาร่างรัฐธรรมนูญ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557
นายมีชัย กล่าวอีกว่า สำหรับการรับฟังความคิดเห็นในการร่างรัฐธรรมนูญ จะต้องคุยกันใน กรธ.ว่าจะใช้วิธีใด ซึ่งคิดว่าจะรับฟังความคิดเห็นอย่างเสรีจากทุกภาคส่วน ทั้งจากภาคประชาชนและการเมือง รวมถึงสื่อมวลชนก็สามารถมาร่วมแสดงความคิดเห็นได้ รวมถึงมีแนวคิดตั้งวงคุยกับสื่อ หากใครต้องการเสนออะไรมาก็เสนอมาได้ ส่วนคนที่เห็นต่างมองว่า หากไม่ชอบ คงไม่สามารถทำอะไรได้ ทุกคนแสดงความเห็นได้แต่จะต้องไม่ใช่การสั่ง เพราะในประชาธิปไตย มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งนี้ไม่ลำบากใจในการรับฟังความเห็นของคนอื่น พร้อมรับฟังเสมอ ถ้ากลุ่มผู้เห็นต่างไม่มั่นใจ ก็เป็นความทุกข์ของเขา เราไม่มีเวลาไปทุกข์ และไม่พิสูจน์ใด ๆ แม้จะต้องคุกเข่าก็ตาม
นายมีชัย กล่าวด้วยว่า ยังไม่ได้หยิบยกรัฐธรรมนูญฉบับใดเป็นพิเศษมาใช้เป็นเค้าโครงในการร่าง แต่หากสิ่งใดที่เป็นประโยชน์จะต้องนำไปพิจารณา ทั้งนี้การแก้ปัญหาวิกฤติความขัดแย้งของประเทศถือเป็นเป้าหมายในการทำงาน ต้องหาหนทางว่าวิธีทำให้ประเทศเกิดความสามัคคีได้
ส่วนกรณีที่มีอดีตนายทหารจากกรมพระธรรมนูญ เข้ามาอยู่ใน กรธ. 3 คน นายมีชัย กล่าวว่า ทุกคนมีความรู้กฎหมาย ซึ่งกรณีนี้ไม่จำเป็นว่าจะเป็นการประสานจากฝ่ายกองทัพเป็นพิเศษ เมื่อรับฟังความเห็นชองประชาชนได้ ก็สามารถรับฟังความเห็นจากกองทัพได้เช่นกัน เพื่อความเป็นธรรม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการประชุม กรธ. นายมีชัย ได้เข้าหารือกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพูดคุยกันถึงการขอความช่วยเหลือในการทำงาน
นายพรเพชร กล่าวว่า พูดคุยกับนายมีชัยเกี่ยวกับความช่วยเหลือในการทำงานเบื้องต้น ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด ซึ่ง สนช. ก็พร้อมให้ความช่วยเหลือเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นด้านกำลังคน หรือห้องประชุม รวมถึงการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งนี้มีความยินดีที่ได้ผู้ทรงคุณวุฒิมาขับเคลื่อนเดินหน้าบ้านเมือง ตามที่เคยตั้งความหวังไว้
นายพรเพชร กล่าวถึงการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 อีกครั้ง เพื่อแก้ไขเนื้อหาในส่วนประชามติว่า เป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี ซึ่งตอนผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติมปี 2558 ก็ยืนยันเจตนารมณ์ชัดว่า นับเสียงข้างมากของผู้มาใช้สิทธิ์ลงคะแนน ดังนั้นหากมีปัญหาก็ต้องแก้ และเรื่องนี้สำคัญต้องเขียนให้ชัดเจนว่าหากประชามติผ่าน หรือไม่ผ่าน ผลจะเป็นอย่างไร ต้องมีความชัดเจน ไม่ใช่ร่างกันไปเรื่อย ๆ ทั้งนี้คาดว่าจะดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอีกครั้ง ก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเสร็จ
ส่วนกรณีที่มีสมาชิก สนช. อยู่ใน กรธ. เพียงรายเดียว นายพรเพชร กล่าวว่า สนช. ไม่ใช่องค์ประกอบหลัก จะมีหรือไม่มีก็สามารถเชื่อมการทำงานกับ กรธ. ได้ แต่ในเมื่อมี ก็ถือว่าเชื่อมได้โดยง่าย
อ่านประกอบ :
ประกาศแล้ว! 21 กรธ.“มีชัย”นั่ง ปธ. คนกฤษฎีกาพรึบ-ร่างให้เสร็จ 4 เดือน
เคาะแล้ว! 200 สปท.อดีต สปช.เพียบ “ปธ.ป.ป.ช.-หมอพรทิพย์”มาด้วย
ตั้ง"สมคิด-กาญจนารัตน์-เจษฎ์"นั่งกุนซือกรธ.! "ภัทระ"ทิ้งเก้าอี้ปธ.สภานสพ.