สภาองค์กรชุมชนชงแผนฟื้นฟูผู้ประสบภัยระยะสั้น-ยาว ของบ ครม.
สภาองค์กรชุมชน จับมือ สหพันธ์คนจนเมือง ช่วยชุมชนประสบอุทกภัยในภูมิภาคต่างๆ ชงแผนฟื้นฟูระยะสั้น-ยาว ตั้งกองทุนภัยพิบัติระดับตำบลถึงชาติ วางแผนระบบเตือนภัยอนาคต วาดผังเมืองใหม่ ที่อยู่อาศัย-ที่ทำกิน เตรียมชง ครม.ของบสานต่อไอเดีย
----------------------------------------
นายพรมมา สุวรรณศรี ประธานคณะกรรมการดำเนินการที่ประชุมระดับชาติ สภาองค์กรชุมชนตำบล เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา ว่าขณะนี้คณะกรรมการสภาองค์กรชุมชนตำบลได้จัดตั้งศูนย์พักพิงและศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งรับบริจาคสิ่งของช่วยเหลือตามจังหวัดที่ประสบอุทกภัย โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วย คณะกรรมการประสานงานองค์กรชุมชน สหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชนคนจนเมืองแห่งชาติ และสภาองค์กรชุมชนตำบล ซึ่งจะร่วมกันฟื้นฟูชุมชนที่ประสบภัยตามภูมิภาคต่าง ๆ ทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และอื่น ๆ
นายพรมมา กล่าวต่อว่า ยังมีการจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูช่วง 3 เดือน หลังน้ำลด ได้แก่ 1. เชื่อมโยงและสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วมของขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนฟื้นฟู (การซ่อมแซม/สร้างบ้าน, การปรับวิถีการผลิต), 2. ลงปฏิบัติการช่วยเหลือฟื้นฟู โดยจัดขบวนการฟื้นฟูในระดับตำบล เช่น ที่อยู่อาศัย วิถีการผลิต อาชีพ 3. กิจกรรมรณรงค์ ระดมทุน ตั้งกองทุน จัดการภัยพิบัติของตำบล จังหวัด 4. จัดทำแผนฟื้นฟูภัยพิบัติของขบวนองค์กรชุมชนเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แผนปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟูระยะยาว (1-3 ปี) ได้แก่ 1.จัดตั้งกองทุนภัยพิบัติ โดยขบวนองค์กรชุมชนทุกระดับ (ตำบล/ จังหวัด/ ภาค/ ชาติ), 2. พื้นที่ที่จะประสบภัยเตรียมการในการจัดทำแผนป้องกัน (การจัดทำผังชุมชนทั้งระดับตำบล/จังหวัด, พื้นที่รองรับผู้ประสบภัย, การปรับวิถีการผลิต, การปรับโครงสร้างที่อยู่อาศัย) 3. จัดทำแผนป้องกัน/รับมือการจัดการภัยพิบัติในระดับตำบล 4.จัดการองค์ความรู้/ชุดประสบการณ์ในการจัดการภัยพิบัติของขบวนองค์กรชุมชนทุกระดับ 5. จัดให้มีระบบการเตือนภัยระดับตำบล
“มีการจัดสร้างแผนปฏิบัติการเชิงนโยบาย ได้แก่ จัดระบบการบริหารจัดการน้ำร่วมกับภาครัฐ โดยการศึกษาระบบผังเมือง ระบบทางน้ำ เพื่อวางแผนการแก้ปัญหาระยะยาว และมีการติดตามนโยบายบริหารจัดการทรัพยากรของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งแผนทั้งหมดจะมีการเสนอรัฐบาลนุมัติงบประมาณต่อไป” นายพรหมา กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 1 พ.ย. 54 ของสภาองค์กรชุมชนมีการจดแจ้งจัดตั้งสภาองค์กรชุมชนทั่วประเทศตาม พ.ร.บ.สภาองค์กรชุมชนแล้ว 2,837 แห่ง แบ่งเป็น กรุงเทพฯ/ปริมณฑลและภาคตะวันออก 386 แห่ง, ภาคกลางตอนบนและตะวันตก 636 แห่ง, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 868 แห่ง, ภาคใต้ 501 แห่ง และภาคเหนือ 446 แห่ง.