‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ปลุกนวัตกรรมสร้างชาติ ปั้นโมเดลธุรกิจดึง ศก.ไทย
“กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีเจ้าภาพโดยเป็นองค์กรกลาง ระดมมหาวิทยาลัยที่มีเรื่องเทคโนโลยี องค์กรเอกชนที่มีพลัง เป็นแกนกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงานภายในกี่ปี เพื่อให้ได้รับงบประมาณชัดเจน”
วันที่ 5 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันนวัตกรรมแห่งชาติ เนื่องจากเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฐานะพระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรการดำเนินงานโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส และมีพระราชดำรัสเกี่ยวกับโครงการแกล้งดิน ซึ่งทรงใช้เทคโนโลยีแก้ปัญหาสภาพดินเปรี้ยวให้สามารถใช้ประโยชน์ทางการเกษตรได้
ปีนี้ ‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ รองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ให้เกียรติเป็นประธานการมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2558 ซึ่งจัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสนช. พร้อมปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ นวัตกรรม เพื่ออนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทย มีผู้สนใจรับฟังเต็มห้องวิภาวดีบอลรูม โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว
“10 ปีที่ผ่านมา คำว่า ‘นวัตกรรม’ มีคนรู้จักไม่กี่คน และไม่ทราบความหมาย หรือความสำคัญว่า สามารถช่วยเหลือประเทศได้อย่างไร จึงดูเหมือนว่านวัตกรรมเป็นเรื่อง ‘นามธรรม’ มาก” ดร.สมคิด ชวนผู้มีเกียรติในงานย้อนกลับไปในอดีต
จำได้ว่า สมัยเรียนหนังสือที่สหรัฐฯ ผมเริ่มเขียนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม ซึ่งมีความหมายหลากหลาย แต่มีคำนิยามของนักวิชาการหนึ่งท่าน พูดไว้ง่าย ๆ ว่า นวัตกรรม คือ ทุกสิ่งที่ถูกมองเป็นสิ่งใหม่ ไม่ว่าจะเป็น ความคิดใหม่ สิ่งของใหม่ กระบวนการทำงานใหม่ หรือแม้กระทั่งของเก่านำมาดัดแปลงใหม่ ดังนั้น นวัตกรรมจึงไม่จำเป็นต้องมาจากสิ่งใหม่ที่ไม่เคยมีในโลกเสมอไป
รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลายประเทศในโลกเริ่มเปลี่ยนแปลงจากการกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มาสร้างรากฐานพัฒนาประเทศระยะยาวด้วยนวัตกรรม สำหรับประเทศไทยมีการพูดเรื่องดังกล่าวมานานแล้ว แต่พูดถี่มากขึ้น เพราะเริ่มเห็นตัวเลขการส่งออกค่อย ๆ ถดถอยลง ซึ่งความจริงมิได้เพิ่งถดถอย
โดยหากศึกษาตัวเลขเมื่อกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า การส่งออกของไทยเคยเติบโตสูงถึง 20% และช่วงหนึ่งอยู่ระหว่าง 15-20% กระทั่งปี 2554-55 หล่นมาอยู่ที่ 15% ก่อนจะเหลือเพียง 2.9% และปรับตัวขึ้นลงต่อเนื่อง 2 ปีเต็ม
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยเจอภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ แม้จะจำหน่ายสินค้าเกษตรได้มากขึ้น แต่มูลค่ากลับน้อยลง ทำให้คาดการณ์ตัวเลขการส่งออก ปี 2558 จะติดลบ 5% โดยเฉลี่ย
ที่เป็นเช่นนี้ ดร.สมคิด ระบุว่า เกิดการสะสมมาจากอะไรบางอย่าง ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับจีดีพีที่ผ่านมา จะเห็นรูปแบบคล้ายกัน โดยช่วงหนึ่งไทยเคยมีจีดีพีเติบโตสูง 2 ปีซ้อนติดต่อกัน และช่วงหนึ่งก็มีจีดีพีเติบโตสูง 5-8%
จนกระทั่งปี 2551 ภายหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในสหรัฐฯ สถานการณ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เริ่มต้นด้วยการติดลบ ก่อนจะบวกขึ้นไป ด้วยมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในลักษณะฟันปลา ท้ายที่สุด เหลือประมาณ 0.5-0.7% เมื่อปีที่ผ่านมา
สะท้อนให้เห็นถึงฐานะโครงสร้างเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะการส่งออกเริ่มเปราะบาง และคงไม่สามารถอาศัยการส่งออกเพียงอย่างเดียวในอนาคตได้ ซึ่งมีสาเหตุมาจากเศรษฐกิจโลกและราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ แต่นั่นเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั้น หากยังมีอีก 2 ปัจจัย ซึ่งภาคเอกชนมักไม่พูดถึง คือ
1.สินค้าแข่งขันได้หรือไม่ ซึ่งเดิมทีอาศัยความได้เปรียบเชิงต้นทุน การไม่ยอมปรับเปลี่ยน วิธีการสร้างจุดเด่นแข่งขันในตลาดโลก เมื่อเวลาผ่านไปการแข่งขันเข้มข้นขึ้น จึงค่อย ๆ ชะลอลง และทำให้ความสามารถนวัตกรรมสินค้าไทยเชิงส่งออกต่ำมาก
2.โมเดลธุรกิจยุคสมัยใหม่ เป็นนวัตกรรมเชิงความคิดในการทำธุรกิจที่ไม่ใช่ตัวสินค้า ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากการปรับปรุงเทคโนโลยี จะเห็นว่า ในอดีตกว่าการซื้อสินค้าอย่างหนึ่งจะพัฒนาและเป็นที่นิยมทั่วโลกได้ต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปี แต่ปัจจุบันใช้ระยะเวลาเพียงข้ามคืน ด้วยสัญญาณอินเทอร์เน็ต
ด้วยเหตุนี้จึงต้องนำนวัตกรรมสินค้าให้เกิดผลสำเร็จ ดร.สมคิด ระบุว่า ทุกคนทำได้ด้วยการรู้จักทำโมเดลธุรกิจที่ถูกต้อง ซึ่งมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งพิสูจน์แล้วว่า ในธุรกิจที่เหมือนกัน ได้รับงบประมาณเท่ากัน แต่ธุรกิจที่มีโมเดลธุรกิจที่ถูกต้องตั้งแต่เริ่มต้น สามารถเติบโตและเกิดการจ้างงานได้เร็วมาก
หากบทพิสูจน์เป็นเช่นนั้นจริง หมายความว่า ประเทศไทยจะมีนวัตกรรมได้และเกิดผลทางเศรษฐกิจ ท่านต้องมี ‘เจ้าภาพ’ ซึ่งขณะนี้มีองค์กรที่เกี่ยวข้องอยู่แล้ว แต่ไม่ค่อยมีเจ้าภาพที่เป็นผู้นำ สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงหรือความตื่นตัวได้ แต่ทุกคนต่างทำเหมือนจุดประทัดคนละนัด แล้วก็เงียบไป
“กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องมีเจ้าภาพโดยเป็นองค์กรกลาง ระดมมหาวิทยาลัยที่มีเรื่องเทคโนโลยี องค์กรเอกชนที่มีพลัง เป็นแกนกลางเชื่อมโยงทุกฝ่าย พร้อมกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินงานภายในกี่ปี เพื่อให้ได้รับงบประมาณชัดเจน”
รองนายกรัฐมนตรี บอกอีกว่า โมเดลธุรกิจมีความสำคัญมากกว่าสินค้า สิ่งเหล่านี้คือนวัตกรรมต้องทำให้บังเกิดผล ซึ่งต้องใช้หลายหน่วยงานของรัฐ สร้างความตื่นตัวในหมู่ประชาชนและภาคเอกชน แต่นวัตกรรมมิได้จำกัดเฉพาะเชิงพาณิชย์ของสินค้าเท่านั้น แต่ประเทศพัฒนาแล้วต้องมีกระบวนการคิดใหม่ออกมา เพื่อแก้ปัญหาที่เราไม่เคยแก้ไขได้
ยกตัวอย่าง ปริมาณการส่งออกสินค้าของประเทศลดลง สมมติมีการปรับปรุงสินค้า แม้ตลาดโลกดีขึ้น ภายใน 3 ปีข้างหน้า ปริมาณการส่งออกไม่มีทางก้าวกระโดด 5-10% นั่นหมายความว่า เศรษฐกิจไทยจากวันนี้เป็นต้นไปไม่สามารถพึ่งการส่งออกอย่างเดียวได้อีกต่อไป
“จำเป็นต้องมีบางสิ่งขึ้นมาชดเชย นั่นคือ เศรษฐกิจท้องถิ่น โดยการสนับสนุนให้เกิดการผลิต การท่องเที่ยว วิสาหกิจชุมชน ทุกอย่างอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งในอดีตเราพูดกันเยอะ แต่ต่างคนต่างทำ จึงไม่ประสบความสำเร็จ อีกทั้งยังเห็นควรสนับสนุนเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งมีความคิดสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วย” เขา ระบุ
ทั้งหมดนี้คือวิสัยทัศน์บางช่วงบางตอนต่อการขับเคลื่อนนโยบายนวัตกรรมไทยของ ‘ดร.สมคิด’ มือขวาด้านเศรษฐกิจ ‘บิ๊กตู่’ ที่น่าจับตา .