เปิดมุมมอง "4 กรธ." ป้ายแดง! ก่อนร่วมหัวจมท้าย "มีชัย ” ร่างรธน.ฉบับใหม่
"..อะไรที่เราเห็นว่าจำเป็นที่ต้องมีก็ต้องเอามากางดูกันใหม่ กรธ.ต้องพูดจากันก่อน เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท คนร่างก็ต้องเห็นตรงกัน..."
ในที่สุด “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความแห่งชาติ (คสช.) นั่งหัวโต๊ะประชุมคสช.ทำคลอด 21 อรหันต์ “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” (กรธ.) ชุดใหม่
ชื่อของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” นั่งประธานกรธ. มาแบบไม่แหกโผ
ส่วนชื่อ 20 อรหันต์ เน้นไปที่มือกฎหมายระดับอาจารย์-เจ้ากรมพระธรรมนูญ
ล่าสุด หลังมีการประกาศรายชื่อเป็นทางการออกมา สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้ต่อสายโทรศัพท์ไปยัง กรธ. บางราย เพื่อสอบถามความคิดเห็นหลังปรากฎชื่อเป็น กรธ. และแนวทางการทำงานร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นเพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย
(อ่านประกอบ : ประกาศแล้ว! 21 กรธ.“มีชัย”นั่ง ปธ.คนกฤษฎีกาพรึบ-ร่างให้เสร็จ 4 เดือน)
@ ประพันธ์ นัยโกวิท อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง
“ผมยังไม่เห็นรายชื่อ แต่เมื่อมีชื่อออกมาก็พร้อมทำงาน”
“ผมยังไม่ทราบเรื่องเลยว่ามีการแต่งตั้งกัน แต่ก่อนหน้านี้ก็มีการทาบทามมา เมื่อคสช.ไว้วางใจให้ทำงานก็จะทำเต็มที่ ส่วนจะเข้าไปช่วยดูเรื่องอะไรได้บ้างยังไม่ขอตอบ เพราะต้องแบ่งงานกันก่อน
-ในฐานะที่มีประสบการเป็นกกต.จะช่วยดูรายงานด้านการเลือกตั้งได้
"ผมยังไม่ทราบเรื่อง ต้องเข้าไปคุยหารือก่อน อาจจะช่วยงานด้านอื่นด้วยก็ได้"
-ส่วนตัวรู้สึกดีใจหรือไม่ที่ได้ดำรงตำแหน่งกรธ.
"ไม่รู้เหมือนกัน แต่ก็พร้อมทำงาน"
@ พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
"เป็นไปตามมติที่ประชุมคสช. เมื่อ คสช.มีมติก็ยินดีที่จะทำงานและจะทำงานเต็มที่ ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน"
-จะร่างรัฐธรรมนูญอย่างไรเพื่อไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นอีก
"ตอนนี้ยังไม่รู้ ผมยังไม่ทันตั้งตัวเลย ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาก็ดีทั้งหมด อยู่ที่ว่าเราจะหยิบข้อดีส่วนไหนมาใช้ แล้วปรับให้เข้ากับสถานการณ์บ้านเมืองที่เกิดขึ้น"
-ร่างรัฐธรรมนูญที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ร่างไว้ที่กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ (คปป.) ทำให้พรรคการเมืองออกมาต่อต้าน จนนำมาสู่การกล่าวอ้างให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คปป.ยังจำเป็นต้องมีหรือไม่
"อะไรที่เราเห็นว่าจำเป็นที่ต้องมีก็ต้องเอามากางดูกันใหม่ กรธ.ต้องพูดจากันก่อน เพื่อทำความเข้าใจให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เพราะร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท คนร่างก็ต้องเห็นตรงกัน"
-มาในโควตาของคสช.จะโดนขั้วตรงข้ามตั้งแง่-ตั้งข้อครหาหรือไม่
"ผมเป็นทหารที่จบมหาวิทยาลัย ผมเป็นนักกฎหมาย ผมเป็นเจ้ากรมพระธรรมนูญ แล้วจะเอาอะไรมาครหาผม ผมเป็นทหารก็จริงแต่รู้เรื่องกฎหมาย เราทำให้อยู่ในหลักการของกฎหมาย ผมว่าเขาก็มาครหาเราไม่ได้ อีกอย่างผมเกษียณมาแล้วเป็นแค่อดีตนายทหาร"
-ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเอื้อขั้วการเมืองบางขั้วหรือไม่
"เห้ย...ผมไม่มีขั้วว่ะ ผมไม่รู้จักคำว่าขั้ว ผมไม่มีขั้ว ผมไม่ใช่นักการเมือง ว่ากันไปตามการทำงาน ผมทำงานของผมตามที่ได้รับมอบหมาย อย่ามาหาว่าผมมีขั้วนะ ผมไม่มี เข้าใจผมนะ"
@ ดร.อมร วานิชวิวัฒน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ
"ผลการคัดเลือกกรรมการชุดนี้ถือว่าทางคสช.มีสายตาที่ยาวไกลที่คัดเลือกบุคลากรหลายคนที่เคยทำงานเป็นสภาปฏิรูปเข้ามาร่วมเป็นกรรมการในชุดนี้"
"ผลงานที่ผ่านมาของตัวเองนั้นก็ทำงานเรื่องการปฏิรูปทางด้านการเมืองมาโดยตลอด มีความเข้าใจเป็นอย่างดี โดยเฉพาะเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญฉบับดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ดังนั้นการทำงานเรื่องการปฏิรูปกฎหมายสามารถสานต่อได้โดยไม่มีปัญหาแน่นอน"
- ส่วนเรื่องความขัดแย้งจะมีเกิดขึ้นหรือไม่
จากรายชื่อทั้งหมด 21 คน รู้จักเป็นอย่างดี จะมีเพียง 2-3 คนเท่านั้นที่ไม่เคยพูดคุยกันมาก่อน อย่างไรก็ดี เชื่อว่าจะไร้ปัญหาในการทำงานร่วมกัน เนื่องจากมุ่งที่จะศึกษาการทำงานซึ่งกันและกันเป็นหลัก และปกติไม่คิดจะมีวิวาทะกับใครโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญระยะเวลาในการทำงาน 6 เดือน ค่อนข้างจำกัด จึงอยากจะตั้งใจทำงานให้เต็มที่
@ ดร.จุรี วิจิตรวาทการ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (สพบ.) หรือ นิด้า
อยากให้การสานต่อเน้นไปที่เรื่องสิทธิเสรีภาพของความเป็นมนุษย์ สิทธิสตรี ในมิติต่างๆ ทางสังคม อันไหนที่ร่างเดิมเขียนไว้ดีอยู่เเล้ว ก็นำมาปรับปรุงให้ดีขึ้น
"ส่วนอันไหนที่ไม่ดี ก็ควรปรับปรุงแก้ไข ในส่วนว่ากรรมการท่านอื่นจะมีความเห็นอย่างไร อันนี้ต้องรอประชุมกันอีกที ในเบื้องต้นตนเองยังไม่ทราบรายชื่อทั้งหมดว่ามีใครบ้าง"
----------
ทั้งหมดนี่คือ มุมมองและแนวคิดของตัวแทน คณะกรรมการ กรธ. ชุดใหม่ ที่จะเข้ามาทำหน้าที่สำคัญในการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดอนาคตประเทศไทย ในเร็วๆ นี้