2 ผลงานคว้านวัตกรรม ปี 58 ‘ดร.สมคิด’ หนุน ก.วิทย์ฯ เป็นแกนกลาง ดันเป็นวาระชาติ
รากเทียมขนาดเล็กยึดฟันปลอม และเวลโลกราฟ นาฬิกาสุขภาพ คว้าสุดยอดนวัตกรรม ปี 58 ‘ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์’ ชี้นวัตกรรมช่วยพัฒนาสินค้าแข่งขันตลาดโลก ลดต้นทุน-เพิ่มจุดเด่น หนุนสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ แนะ ก.วิทย์ดึงความร่วมมือทุกภาคส่วนพัฒนา ผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ
วันที่ 5 ตุลาคม 2558 สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดพิธีมอบรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2558 ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
ดร.สมคิด กล่าวว่า นวัตกรรมไทยเป็นหัวใจสำคัญมากทำให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะโลกขณะนี้ไม่ได้แข่งขันเฉพาะคุณภาพของสินค้าดีหรือไม่เท่านั้น แต่ยังแข่งขันทางด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีด้วย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตลดลงและสินค้ามีความน่าสนใจมากขึ้น หากไทยยังผลิตสินค้าพื้น ๆ ก็จะแข่งขันลำบาก นอกจากทำได้เพียงรับจ้างผลิตให้ผู้อื่น ดังนั้นจึงอยากให้หันมาผลิตสินค้า สร้างแบรนด์ และจำหน่ายผ่านช่องทางใหม่ ๆ ด้วยตนเอง
“กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต้องเป็นแกนกลางผสานกับภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ ทางวิทยาการ และเทคโนโลยีสูง ในการพัฒนาและผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ดร.สมคิด กล่าวถึงงบประมาณในการพัฒนานวัตกรรมที่จำกัดว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องรู้จักสร้างความตื่นตัวให้เกิดขึ้นทุกวงการ กำหนดยุทธศาสตร์ชัดเจน ถ้าไม่มีความคิดเหล่านี้ งบประมาณก็จะน้อยเป็นเงาตามตัวปกติ ทุกฝ่ายจึงต้องให้ความสำคัญกับสิ่งที่กำลังทำอยู่ เหมือนเวียดนามที่พยายามเน้นสิ่งเหล่านี้ สร้างสิ่งใหม่ ๆ และสนับสนุนให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ เพราะเด็กรุ่นใหม่มีความสามารถมาก จะได้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น มิฉะนั้นสินค้าไทยจะแข่งขันลำบาก
ด้านดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า การใช้นวัตกรรมมิได้จำกัดเฉพาะการพัฒนาด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถก่อให้เกิดสังคมนวัตกรรมได้เช่นกัน โดยในระดับชุมชน มีโอกาสออกไปในพื้นที่หลายจังหวัด และเห็นความร่วมมือ 4 ส่วน คือ ภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคเอกชน และภาคสังคม ทำให้ชุมชนเกิดความสามารถ ภายหลังได้รับข้อมูลและความรู้ที่ถูกต้องทางวิชาการ
ทั้งนี้ หากชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริง จะสามารถสร้างและบำรุงรักษานวัตกรรมของท้องถิ่นได้ มิใช่เพียงการผลิตสินค้าเท่านั้น แม้กระทั่งการบริหารจัดการชุมชนก็เป็นตัวอย่างที่สำคัญ ชี้ให้เห็นว่าทำให้ชีวิตชุมชนดีขึ้น ก้าวต่อไปสู่เศรษฐกิจชุมชน เกิดรายได้หลัก และรายได้เสริม แต่เราต้องขยายผลเพื่อให้ตัวอย่างดี ๆ เหล่านี้ได้ศึกษาและใช้ประโยชน์ต่อไป
“ภาครัฐมีหน้าที่ต้องผลักดัน สนับสนุน และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การกำหนดมาตรการทางภาษี เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ภาคเอกชน มาตรการทางกฎหมายปลดล็อก ทำให้เม็ดเงินจากภาครัฐสนับสนุนภาคเอกชนได้จริงจัง เป็นต้น” รมว.วิทยาศาสตร์ฯ กล่าว
คุณฤทธิ์ดา บัวสาย ถ่ายภาพคู่ผลิตภัณฑ์ 'อุ' พร้อมดื่ม
ขณะที่นางฤทธิ์ดา บัวสาย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนภูมิปัญญาผู้ไทเรณูนคร จ.นครพนม ผลิตภัณฑ์ ‘อุ’ พร้อมดื่ม ในฐานะเจ้าของรางวัลชนะเลิศ นวัตกรรมข้าวไทย ประจำปี 2558 กล่าวว่า อุ เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พื้นบ้านหมักจากข้าวไทย จุดเด่นอยู่ที่การออกแบบผลิตภัณฑ์ ซึ่งสมัยก่อนจะบรรจุลงในไหธรรมดา แต่หลังจากได้รับความรู้และการสนับสนุนจากนักวิชาการ ม.มหาสารคาม และสนช. ทำให้มีการพัฒนารูปแบบให้ทันสมัย สะดวกต่อการบริโภค จากเดิมต้องใช้หลอดดูดเท่านั้น โดยราคาจำหน่ายอยู่ที่ 150 บาทต่อขวด จากต้นทุน 70 บาทต่อขวด คาดว่าจะวางจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศในอนาคต
รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมเเบบถอดได้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ปี 2558 มีผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านสังคม ได้แก่ รากเทียมขนาดเล็กสำหรับช่วยยึดฟันเทียมแบบถอดได้ จากบริษัท พีดับบลิว พลัส จำกัด มีขนาดเล็ก 2.75-3.00 มิลลิเมตร แผลจึงเล็ก หายเร็ว ยึดกับกระดูกได้ดี ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนหัวที่ยึดกับฟันปลอมและส่วนลำตัวที่ยึดติดกับกระดูกกราม เมื่อสึกหรอจากการใส่เข้าออกฟันปลอมแล้ว เปลี่ยนส่วนหัวได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรื้อทิ้งเหมือนเดิม ในวันแรกที่ผ่าตัดใช้งานร่วมกับฟันปลอมได้ทันที ไม่ต้องเป็นต้องรอนาน และยังได้รับมาตรฐานการผลิต ISO13485 และผ่านการรับรองจากมาตรฐานของสหภาพยุโรป (CE mark) ด้วย
เวลโลกราฟ นาฬิกาสุขภาพ
สำหรับผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศนวัตกรรมแห่งชาติ ด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ เวลโลกราฟ นาฬิกาสุขภาพ จากบริษัท เวลโลกราฟ จำกัด ซึ่งวัดชีพจรได้อย่างต่อเนื่อง ตรวจจับการเต้นของหัวใจจากการสวมใส่ที่ข้อมือ โดยมีเทคนิคการกำจัดสัญญาณรบกวน จึงแม่นยำใกล้เคียงกับเครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจในโรงพยาบาล มีโปรแกรมคำนวณความเหนื่อยล้าของร่างกายโดยใช้เทคนิค Heart Rate Variability (HRV) และวิเคราะห์ความพร้อมในการใช้ชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการทำงานใสสภาวะปกติหรือการออกกำลังกาย