เมื่อรัสเซียร่วมถล่มไอเอสในซีเรียอะไรจะเกิดขึ้น ?
หลังจากที่รัสเซียเข้าร่วมการสู้รบเพื่อปราบกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ด้วยการโจมตีทางอากาศที่มั่นของไอเอสในซีเรียเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา สำนักข่าวที่ได้ชื่อว่าบิ๊กระดับโลก ต่างนำเสนอบทวิเคราะห์ไว้หลากหลายแง่มุม
สำนักข่าวอัลจาซีราวิเคราะห์ว่าจะคลี่คลายปัญหาแบบซีเรียได้อย่างไร โดยได้เชิญนักวิเคราะห์มาถกถึงทางออก นักวิเคราะห์คนหนึ่งชี้ว่าชาติตะวันตกมองปัญหาซีเรียจาก 3 มุมมองด้วยกัน 1. ภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) 2. กรณีการหลั่งไหลของผู้อพยพจากซีเรียเข้าไปยังยุโรป และ 3. มีพลเรือนจำนวนมากเสียชีวิตจากกรณีที่รัฐบาลปธน. บาชาร์ อัล-อัสซาด ทิ้งระเบิดในพื้นที่ยึดครองของฝ่ายกบฏ ทำให้มีคนจำนวนมากอพยพเข้าไปยังตุรกีและเลบานอน
การเจรจากับปธน. อัสซาดจะไม่ช่วยให้สถานการณ์คลี่คลายลงแต่อย่างใด แต่ถ้าหากปล่อยให้ปธน. อัสซาดอยู่ในอำนาจต่อไป สถานการณ์จะเลวร้ายหนักขึ้น ขณะที่สหรัฐฯ นั้นล้มเหลวไม่เป็นท่าในโครงการฝึกและติดอาวุธให้กับกลุ่มนักรบ และเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องขบขันในตะวันออกกลางไปแล้ว นักวิเคราะห์มองว่ามีหลายสาเหตุด้วยกันที่ทำให้สหรัฐฯ ลังเล ไม่กล้าตัดสินใจให้เด็ดขาดลงไปในเรื่องซีเรีย ทั้งนี้เพราะ 1. สหรัฐฯ เคยมีประสบการณ์ที่เลวร้ายมาแล้ว จากการส่งทหารไปแทรกแซงในต่างประเทศ 2. สหรัฐฯ ประเมินผิดไปว่าการแทรกแซงในซีเรียจะเป็นผลร้ายต่อการเจรจาเรื่องนิวเคลียร์กับอิหร่าน และ 3. สหรัฐฯ วิเคราะห์ผิดไปว่า หากรัฐบาลปธน. อัสซาดล่ม ไอเอสจะยึดครองซีเรียไว้ได้ในที่สุด
ขณะที่รัสเซียพยายามทุกวิถีทางเพื่อปกป้องปธน. อัสซาด ตั้งแต่ใช้สิทธิยับยั้งมติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ ไปจนถึงล่าสุดส่งกำลังพลและเครื่องบินรบเข้าร่วมเสริมกำลังให้กับปธน. อัสซาด รัสเซียได้ลงทุนในซีเรียไปมาก และคงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดี ๆ รัสเซียจะทิ้งปธน. อัสซาดไป ดังนั้นรัสเซียก็จะอุ้มปธน. อัสซาดไปเรื่อย ๆ จนถึงขั้นที่รัสเซียเห็นว่ามีค่าใช้จ่ายมากเกินไปแล้ว ด้านปธน. อัสซาด เมื่อได้กำลังหนุนทั้งจากรัสเซียและอิหร่าน เขาคงจะมุ่งเน้นคุมพื้นที่ที่ยึดครองไว้ได้ในขณะนี้ เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียที่มั่นให้ฝ่ายกบฏเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในขณะนี้จำเป็นต้องหาทางคลี่คลายสถานการณ์ด้วยการดึงให้สหประชาชาติเข้ามาร่วมหารือเพื่อหาทางออก
นักวิเคราะห์คนหนึ่งของซีเอ็นเอ็นวิเคราะห์ว่า ทำไมการเข้าร่วมรบของรัสเซียถึงทำให้ปธน. โอบามาอยู่ในสภาวะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก โดยชี้ว่า การที่รัสเซียนำเครื่องบินรบรุ่นใหม่มาเข้าประการในครั้ง คือเครื่องบินรบเอนกประสงค์ซู-30 และเครื่องบินโจมตีขับไล่ทิ้งระเบิด ซู-34 ตลอดจนเครื่องบินรบสำหรับการโจมตีภาคพื้นและเฮลิคอปเตอร์นั้น มีนัยที่สำคัญ ทั้งนี้เพราะเครื่องบินรบของรัสเซียมีสมรรถนะสูงและสามารถต่อกรกับเครื่องบินรบของชาติตะวันตกที่ปฏิบัติงานอยู่ในซีเรียได้ ในประเด็นนี้หมายความว่า ไม่เพียงแต่สหรัฐฯ กับพันธมิตรจะต้องดึงรัสเซียเข้าร่วมวงหารือในการวางแผนออกปฏิบัติการเพื่อรับประกันเรื่องความปลอดภัยเท่านั้น แต่สหรัฐฯ กับพันธมิตรยังจะต้องนำเรื่องสมรรถนะของเครื่องบินรบรัสเซียร่วมประเมินถึงความเสี่ยงต่อปฏิบัติการของกองกำลังพันธมิตรด้วย กำลังพลและยุทโธปกรณ์ที่รัสเซียระดมมาใช้ในครั้งนี้เป็นเพียงส่วนเศษเสี้ยวของกองทัพรัสเซีย แต่ปธน. วลาดิเมียร์ ปูตินได้ทำให้ปธน. บารัค โอบามาไม่มั่นใจในตนเอง นอกจากนั้นกลยุทธ์การสู้รบของพันธมิตรที่มีสหรัฐฯ เป็นแกนนำยังมีความยืดหยุ่นน้อย การเดินเกมของปธน. ปูตินทำให้สหรัฐฯ กับพันธมิตรต้องยอมรับว่า รัสเซียมีบทบาทที่สำคัญต่อยุทธศาสตร์ในซีเรีย
แฟรงค์ การ์ดเนอร์ ผู้สื่อข่าวบีบีซีที่เชี่ยวชาญด้านตะวันออกกลางมากคนหนึ่ง เห็นว่าการเข้าสู่น่านฟ้าซีเรียของรัสเซียพร้อมด้วยเครื่องบินรบที่ทันสมัย ทำให้กระดานหมากด้านยุทธศาสตร์ของตะวันออกกลางสั่นคลอน สหรัฐฯ กับชาติพันธมิตรไม่เต็มใจต้อนรับรัสเซียเลย โดยเฉพาะหากรัสเซียโจมตีกลุ่มกบฏที่สหรัฐฯ หนุนหลังอยู่ด้วย สหรัฐฯ กับพันธมิตรเห็นว่ารัสเซียจะยิ่งทำให้สงครามที่ไม่มีวันชนะได้นี้ยืดเยื้อต่อไปอีก รวมทั้งการลงจากอำนาจของปธน. อัสซาดจะยิ่งล่าช้าออกไป
แต่ซีเรียกับอิหร่านที่เป็นพันธมิตรของซีเรียกลับยินดีและเห็นว่า การเข้ามาของรัสเซียจะช่วยต่ออายุให้กับกองทัพซีเรียที่กำลังเหนื่อยล้า ทั้งจะช่วยให้ซีเรียยึดพื้นที่บางส่วนกลับคืนมาได้ และช่วยปราบกบฏที่ต่อต้านปธน. อัสซาดให้หมดสิ้น เว้นแต่กลุ่มนักรบไอเอสกับกลุ่มแนวร่วมนูสราที่จะยังคงไม่หมดไปง่าย ๆ
ประเด็นที่สหรัฐฯ เป็นห่วงมากที่สุดคือ เครื่องบินของตนอาจปะทะกับเครื่องบินของรัสเซียเหนือน่านฟ้าซีเรียได้ ทั้งนี้สหรัฐฯ กับพันธมิตรใช้ฐานทัพอากาศที่กาตาร์เป็นศูนย์บัญชาการปฏิบัติการทางอากาศเพื่อโจมตีไอเอส แต่เมื่อต้นสัปดาห์นี้ รัสเซียได้ประกาศเปิดศูนย์บัญชาการแห่งใหม่ขึ้นในกรุงแบกแดด โดยมีรัสเซีย อิหร่าน ซีเรียและอิรัก ปฏิบัติการร่วมกัน แน่นอนว่าไอเอสเป็นกลุ่มที่อยู่ในบัญชีที่รัสเซียจะต้องจัดการ แต่ทั้ง 4 ประเทศนี้ก็เห็นพ้องกันว่ากบฏทุกกลุ่มที่ต่อต้านปธน. อัสซาดคือศัตรูที่จะต้องจัดการด้วย ขณะที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรเห็นว่าการเข้ามาของรัสเซียจะทำให้สถานการณ์ยิ่งทวีความยุ่งเหยิงมากขึ้น ทั้งจะบั่นทอนความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดการกับไอเอสด้วย
เมื่อศูนย์บัญชาการในกรุงแบกแดดเปิดใช้งานได้จริงก็หมายความว่าจะมีศูนย์บัญชาการ 2 แห่งในตะวันออกกลางที่ปฏิบัติการเพื่อบดขยี้ศัตรู 2 กลุ่ม
สำหรับไอเอส การเข้าสู่สนามรบของรัสเซีย เป็นเรื่องที่ไอเอสรออยู่แล้ว เพราะไอเอสจะได้ใช้เป็นโอกาสในการระดมหานักรบหน้าใหม่ ๆ เข้ากลุ่ม เพราะรัสเซียเป็นศัตรูเก่าที่กลุ่มมูจาฮิดินในอัฟกานิสถานรบพุ่งด้วยตลอดช่วงทศวรรษ 1980 และเมื่อใดที่เครื่องบินรบรัสเซียโจมตีนักรบมุสลิม รัฐบาลชาติอาหรับที่อยู่กับรัสเซียคงรู้สึกเสียหน้าและไม่ต้องการให้ถูกมองว่าอยู่ข้างเดียวกับรัสเซีย ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะมีคนเข้าร่วมกลุ่มกับไอเอสและกลุ่มอัลนูสรามากขึ้น
หมากอีกชุดในกระดานยุทธศาสตร์ในซีเรียคือตุรกี ซาอุดีอาระเบียและชาติอื่น ๆ ในภูมิภาคที่ยืนกรานมาตลอดว่าท้ายที่สุดปธน. อัสซาดจะต้องไป แต่รัสเซียกับอิหร่านกลับอุ้มปธน. อัสซาดไว้ ซาอุฯ กับกาตาร์นั้นให้เงินอุดหนุนและติดอาวุธให้กับกลุ่มนักรบมุสลิมหลายกลุ่มในซีเรียแบบลับ ๆ มาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งทำให้หลายฝ่ายกล่าวหาว่าทั้งสองประเทศนี้ว่าหนุนหลังไอเอสหรืออัลไคด้า หรือทั้งสองกลุ่ม มีแนวโน้มว่าซาอุฯ จะเพิ่มการสนับสนุนกลุ่มกบฏในซีเรียให้เท่ากับกำลังสนับสนุนที่รัสเซียเทให้กับกองทัพปธน. อัสซาด
ท้ายที่สุดสงครามก็จะยืดเยื้อต่อไป หากยังมีฝ่ายที่คิดว่าตนจะเป็นฝ่ายชนะ หรือตนจะไม่แพ้ ก็จะไม่มีฝ่ายไหนยอมเข้าร่วมการเจรจา หลายครั้งแล้วตั้งแต่เมื่อปี 2554 เป็นต้นมาที่ผู้รู้เรื่องตะวันออกลางหลายคนชี้ว่า ปธน. อัสซาดใกล้จะถึงจุดจบแล้วและเขาคงอยู่ไม่พ้นปีที่ผ่านมา แต่เขาก็ยังอยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ ตอนนี้ยิ่งปธน. อัสซาดได้กำลังเสริมมาจากรัสเซีย เขาก็จะยิ่งไม่ถอย การสู้รบจะเดินหน้าต่อไป จนกระทั้งถึงขั้นที่เหลือเพียงกองทัพของปธน. อัสซาดกับแนวร่วม และไอเอสกับอัลไคด้า โดยที่สหรัฐฯ กับพันธมิตรไม่สามารถชี้ชะตาผลการสู้รบได้ สันติภาพในซีเรียยังอยู่ห่างไกลมาก
อาร์ที (RT) ซึ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ที่ได้เงินอุดหนุนจากรัฐบาลรัสเซียรายงานว่า รัสเซียเข้าไปในซีเรียตามคำเชิญของรัฐบาลซีเรีย และอาร์ทีเป็นช่องเดียวที่ได้เข้าไปทำข่าวที่ฐานทัพอากาศที่รัสเซียใช้ใกล้ ๆ เมืองลาตาเกีย
อาร์ทีหยิบการนำเสนอข่าวของสื่อตะวันตกมารายงาน โดยพาดหัวว่า สื่อตะวันตกที่อ้างว่ามีเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสาร รายงานข่าวแบบสองมาตรฐาน โดยนักวิเคราะห์การเมืองคนหนึ่งของอาร์ทีชี้ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐฯ ร่วมมือกับสื่อ ทั้งนี้เพื่อให้สารที่สื่อไปถึงประชาชนออกไปในทิศทางเดียวกันและเพื่อรักษาผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ นอกจากนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ที่พยายามรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารในประเทศต่าง ๆ แทบไม่ได้ทำในสิ่งที่พร่ำพูดในเรื่องดังกล่าวเลย
นักวิเคราะห์อีกคนพูดถึงเรื่อง กลุ่มกบฏสายกลางในซีเรียที่สื่อตะวันตกหลายเจ้าหยิบมารายงาน โดยนักวิเคราะห์รายนี้ไม่มั่นใจว่าเป็นกบฏกลุ่มไหนและมีอยู่จริงหรือไม่ และการที่สื่อตะวันตกใช้คำว่ากบฏ เวลาเรียกกลุ่มต่าง ๆ ที่สู้รบกับกองกำลังรัฐบาลซีเรียนั้น ยังเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาด้วย นอกจากนั้นสื่อตะวันตกยังไม่ได้ย้ำเตือนผู้อ่านและผู้ฟังเลยว่าหนึ่งในกลุ่มกบฏคือกลุ่มอัลไคด้า ที่สหรัฐฯ เป็นฝ่ายริเริ่มรณรงค์ปราบปรามในตอนที่ทำสงครามปราบปรามการก่อการร้าย และการที่สื่อในสหรัฐฯ พยายามปกป้องอัลไคด้า เป็นเรื่องที่เหลือเชื่อจริง ๆ
นักวิเคราะห์อีกคนชี้ว่าการรายงานข่าวแบบโจมตีรัฐบาลรัสเซียของสื่อตะวันตก โดยเฉพาะสื่อในสหรัฐฯ เป็นเพราะสหรัฐฯ นั้นล้มเหลวโดยสิ้นเชิงเรื่องนโยบายต่อตะวันออกกลาง ดังนั้นสหรัฐฯ กับพันธมิตรจึงพยายามกลบเกลื่อนความล้มเหลว ด้วยการออกข่าวโจมตีรัสเซีย ทั้งนี้เพื่อให้เกิดกระแสต่อต้านรัสเซียเพิ่มยิ่งขึ้น
ขอบคุณภาพข่าวจาก sanook.com