ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จากต้นทางถึงปลายทาง
แก้ไขต้นตอความเหลื่อมล้ำ สลายวงจรความขัดแย้ง สร้างพลเมืองเป็นใหญ่ แนวทางที่ต้องเร่งสานต่อในการยกร่าง รธน.ฉบับใหม่ เพื่อประโยชน์ของของประชาชนไทยอย่างเป็นรูปธรรม
หากวิเคราะห์ถึงรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งที่ฝังรากลึกมายาวนานในสังคมไทย หนึ่งในสาเหตุสำคัญ มาจากปัญหาเรื่องการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม จนสังคมคุ้นชินกับวาทกรรมที่ว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” ซึ่งยิ่งตอกย้ำปัญหาความเหลื่อมล้ำในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น การจะตัดวงจรอุบาทว์ สลายความขัดแย้ง จำเป็นต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นตอด้วยการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่ไม่ผ่านการพิจารณาจากที่ประชุมสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ระบุในเรื่องเหล่านี้ไว้อย่างชัดเจน และหากได้รับการสานต่อจะสามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างแท้จริง
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ ได้เคยกล่าวในงานเสวนาเวทีเสวนาพบสื่อมวลชน ในหัวข้อ “ปฏิรูปก่อนหรือหลังเลือกตั้ง ต้องปฏิรูป” ถึงแนวทางในการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมที่น่าสนใจดังนี้ “การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจะต้องทำให้แต่ละคนสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นเอง ต้องมีกฎหมาย ทั้งกฎหมายให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดี ไม่ว่าจะเป็น การเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา คดีมหาชน หรือคดีทางปกครอง รวมทั้งจัดตั้งกองทุนให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายและคดี ให้เขามีอาวุธเท่าเทียมกันในการต่อสู้คดีในศาล
อดีตกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะรองประธานอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศยังได้นำเสนอเนื้อหาในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับปฏิรูปที่น่าสนใจและควรที่จะมีการหยิบมาสานต่อในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ในหมวด 1 การเมืองการปกครองและกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่ 1 การปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มาตรา 9 ซึ่งบัญญัติให้มีการปฏิรูปด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้มีกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพ อาทิ ใน (6) นั้น เป็นการปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยการยุติธรรมทางเลือก กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ คือ การระงับข้อพิพาทระหว่างประชาชน โดยกระบวนการยุติธรรมชุมชน หรือการประนีประนอม ข้อพิพาท เนื่องจากวันนี้ต้นทุนทางคดีของไทย ถ้าเป็นคดีอาญา ใช้ต้นทุนคดีหนึ่งประมาณกว่า 1 แสนบาท คดีแพ่ง 6 หมื่นกว่าบาท ซึ่งเกิดจากไม่มีกระบวนการยุติข้อพิพาทก่อนที่จะมาศาล
“เมื่อไม่มีข้อยุติระหว่างทาง มันก็เข้าสู่กระบวนการหลัก และเป็นต้นทุนให้ประเทศชาติ เพราะฉะนั้น ต้องสร้างกระบวนการให้ข้อพิพาทบางเรื่องยุติในชุมชน ในหมู่บ้าน ไม่ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมหลัก นี่ต้องปฏิรูป ซึ่งทำให้คุณภาพของกระบวนการยุติธรรมไทยดีขึ้น” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าว
สำหรับ (7) ระบุให้ “ปฏิรูปองค์กรและกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง โดยปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐาน” ซึ่งแม้จะเป็นประโยคเดียวแต่มีภารกิจมาก เช่นเดียวกับ (8) ให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ ในเรื่ององค์ประกอบ อำนาจหน้าที่ กำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการ เพราะวันนี้ กระบวนการยุติธรรมแห่งชาติกระจัดกระจาย ทับซ้อนกับหลายองค์กร การบังคับใช้จึงไม่เป็นเอกภาพ เพราะฉะนั้น ต้องปรับปรุงให้กระบวนการยุติธรรมแห่งชาติมีเอกภาพ
ศ.ดร.บรรเจิด ระบุว่า อีกประเด็นที่สำคัญ คือ การปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะมีภารกิจหลายด้าน ด้านหนึ่งถือเป็นต้นทางแห่งกระบวนการยุติธรรม ดังนั้น หากต้นทางไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดี อย่าไปคาดหวังว่าปลายทางกระบวนการยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมได้ดี เพราะฉะนั้นสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีภารกิจอย่างน้อยสองเรื่อง คือ ป้องกันและปราบปราม และกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
“หลักสำคัญที่ต้องปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติมี 3 - 4 เรื่อง คือ จะทำอย่างไรให้ภารกิจของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ลดน้อยลง ซึ่งต้องไปดูเรามีกฎหมาย 700 - 800 ฉบับ แต่ 300 - 400 ฉบับ มีโทษทางอาญา กฎหมายเหล่านี้จึงลงไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติหมด เราจะถ่ายโอนภารกิจอย่างไรไม่ให้เรื่องทุกเรื่องไปลงที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ประการที่หนึ่งให้มีเจ้าหน้าที่เฉพาะเรื่องเฉพาะทาง อย่างที่มีอยู่แล้ว เช่น เจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กรมเจ้าท่า ให้มีอำนาจสอบสวนและดำเนินการฟ้องร้องคดี ก็จะเป็นการถ่ายโอนภารกิจ และ
ประการที่สองเรื่องพนักงานสอบสวน วันนี้ควรแยก ให้มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานที่ชัดเจน เพราะพนักงานสอบสวน คือ ต้นทางกระบวนการยุติธรรมที่แท้จริง และควรเป็นวิชาชีพที่มีทักษะ ส่วนว่าควรแยกอย่างไร ประเด็นที่มีข้อถกเถียง คือ แยกออกจาก สตช. หรือ แยกแต่อยู่ใน สตช. ตรงนี้ไปว่ากัน แต่เขาต้องมีความก้าวหน้าในฐานะของพนักงานสอบสวน
ประเด็นต่อมา คือ การบริหารงานบุคคล จะทำอย่างไรให้การแต่งตั้งตำรวจเป็นไปตามระบบคุณธรรม ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อีกประเด็นสำคัญ คือ เรื่องงบประมาณ ซึ่ง พล.ต.อ. อชิรวิทย์ สุพรรณเภสัช อดีต รอง ผบ.ตร. เคยกล่าวไว้ว่าหากไม่แก้เรื่องงบประมาณ ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ เพราะฉะนั้นต้องจัดงบประมาณลงให้เพียงพอ” ศ.ดร.บรรเจิด ระบุ
การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมยังลงรายละเอียดไปถึงการปฏิรูปการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยปฏิรูปด้วยนโยบายของรัฐ บำบัดฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด และการแก้ปัญหาเกี่ยวกับผู้ค้ายาเสพติด รวมทั้งทบทวนบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่มีบทสันนิษฐานเด็ดขาด ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการจัดให้มีประมวลกฎหมายยาเสพติดดังจะเห็นว่า คดีอาญา 60-70 % เป็นเรื่องยาเสพติด นักโทษที่ล้นคุกเวลานี้ มาจากคดีเหล่านี้ ดังนั้น จึงจะต้องเร่งหาทางปฏิรูป
ประเด็นสุดท้าย (11) ให้มีกลไกในการบังคับคดีทางแพ่งที่มีประสิทธิภาพในสังกัดศาลยุติธรรม ทำหน้าที่บังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาและคำสั่งของศาลยุติธรรมตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้มีการปฏิรูปกระบวนการบังคับโทษทางอาญาทั้งหมด คือ สิ่งที่ต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางการบังคับคดี ต้องมีการปรับปรุงมากพอสมควร
ศ.ดร.บรรเจิด ยังกล่าวถึงการปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งเวลานี้มีความคืบหน้าไปพอสมควรแล้วและควรที่จะได้รับการสานต่อ เริ่มตั้งแต่ข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่เสนอให้ตั้งศาล ชำนัญพิเศษแผนกคดีทุจริต ซึ่งวันนี้ศาลได้เปิดแผนกนี้แล้ว และในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้กำหนดรองรับว่าให้แผนกคดีทุจริต ที่ประกาศตั้งไปแล้วนั้น เป็นแผนกคดีทุจริตตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ และหลังจากนั้น 4 ปีให้มีคณะกรรมการไปประเมินว่า ถ้ามีคดีมากพอสมควร มีประสิทธิภาพ มีวิธีพิจารณา ก็ให้จัดตั้งเป็นศาลชำนัญพิเศษ เรื่องนี้ได้มีการกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญแล้ว
ประการที่สอง วันนี้เรามีองค์กรดำเนินการเรื่องทุจริต ทั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แต่ในส่วนของ ป.ป.ท. นั้นไม่ใช่องค์กรอิสระยังอยู่ภายใต้กระทรวงยุติธรรมซึ่งเป็นฝ่ายบริหาร ทำให้มีประเด็นพิจารณาเรื่องความเป็นอิสระ และร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้ปรับปรุง ป.ป.ท. ให้อิสระเหมือน ป.ป.ช. พร้อมกับแยกให้ชัดเจนว่า ป.ป.ช.จะตรวจสอบตั้งแต่ระดับอธิบดีขึ้นไป ป.ป.ท. ตรวจสอบตั้งแต่ระดับรองอธิบดีลงมา คือ ให้ ป.ป.ช.ดูปลาใหญ่ ป.ป.ท. ดูปลาน้อย
สำหรับประเด็นสุดท้าย คือ การปฏิรูปการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งถือเป็นประเด็นใหญ่ในร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้พลเมืองเป็นใหญ่ ซึ่งประเด็นสำคัญที่ต้องการทำ คือ กำหนดให้มีคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านพลเมืองศึกษา (Civic Education) และมีกฎหมายว่าด้วยการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างสร้างสรรค์ ทั้งระดับชาติและระดับท้องถิ่น โดยหลายเรื่องได้มีความคืบหน้าไปแล้งว เช่น ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมัชชาพลเมือง และส่งเสริมการมีส่วนร่วมในกฎหมายท้องถิ่น เป็นต้น
“ส่วนคำถามที่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นถ้ามีการปฏิรูปในด้านนี้ คำตอบก็คือจะมีการอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชน ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา ทางมหาชน จะดีขึ้น รวมไปถึงการทุจริต ซึ่งจะมีกลไก ป้องกัน และปราบปรามการทุจริตที่จะฟังก์ชั่นได้ดีขึ้น การมีส่วนร่วมของประชาชนทางการเมืองจะดีขึ้น โดยการปฏิรูปผ่านรัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ ฉบับนี้” ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวทิ้งท้าย
นื่ถือเป็นอีกหนึ่งในหลายประเด็นที่มีความก้าวหน้าและเชื่อว่าจะสามารถปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปจะไม่ผ่านความเห็นชอบในชั้นสภาปฏิรูปแห่งชาติ แต่ทว่าหากกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ จะนำประเด็นเหล่านี้มาสานต่อก็น่าจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย และช่วยสร้างกลไกพาสังคมก้าวพ้นวังวนความขัดแย้งที่เรื้องรังมานาน
ขอบคุณภาพจาก:http://v-reform.org