พลเอกสุรยุทธ์: การศึกษานำพาใต้สันติสุข
ในการประชุมสัมมนาเรื่อง “ทางออกของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้” และการประชุมวิชาการนานาชาติด้านฮาลาล (Southern Border Halal International Fair 2015 – SHIF 2015) เมื่อต้นเดือนกันยายน 2558 ไฮไลท์หนึ่งของงาน คือ การปาฐกถาพิเศษของ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี
เมื่อครั้งเป็นนายกฯหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 พลเอกสุรยุทธ์ เดินทางลงพื้นที่ชายแดนใต้ และเอ่ยคำว่า “ขอโทษ” กับพี่น้องประชาชนในสามจังหวัด จากการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดในอดีต จนทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงในพื้นที่ตามมา
เป็นคำ “ขอโทษ” กับปัญหาที่ตัวเขาเองไม่ได้เป็นผู้ก่อ แต่ก็ต้องรับผิดชอบในฐานะที่ก้าวขึ้นเป็นผู้นำประเทศ และมุ่งหวังที่จะดับไฟความรุนแรงในดินแดนปลายสุดด้ามขวาน
และการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ในยุคของเขาก็สร้างปรากฏการณ์และจุดเปลี่ยนสำคัญๆ หลายประการ โดยเฉพาะการพยายามเปิดการพูดคุยเจรจากับแกนนำผู้เห็นต่างจากรัฐที่เคลื่อนไหวอยู่ในต่างประเทศ และการฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต.ขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เป็นองค์กรที่พึ่งของประชาชน หลังจากถูกยุบไปตั้งแต่สมัยรัฐบาล พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร
นี่เองที่ทำให้คำพูดหรือคำปาฐกถาของ พลเอกสุรยุทธ์ เกี่ยวกับปัญหาชายแดนใต้มีความสำคัญและน่ารับฟังเสมอ แม้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นทางยุทธการ การต่อสู้เพื่อเอาชนะอาร์เคเค หรือการพูดคุยสันติสุขที่กำลังดำเนินการกันอยู่ แต่มุมคิดของอดีตนายกรัฐมนตรีผู้นี้ ก็สะท้อนถึงแก่นของปัญหา และแนวทางระยะยาวในการวางรากฐานให้พื้นที่ปลายด้ามขวานสงบสุขอย่างยั่งยืน
ดับไฟใต้ต้องสามัคคี-ร่วมมือ
“ผมพูดในวันนี้ ผมต้องขอเรียนว่าไม่ได้พูดในฐานะองคมนตรี ไม่ได้พูดในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้พูดในฐานะอดีตผู้บัญชาการทหารบก อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด แต่พูดในฐานะของคนไทยคนหนึ่งที่มีความรับผิดชอบร่วมกับท่านทั้งหลาย บ้านเมืองของเรามีปัญหากันมานานอย่างที่ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามได้กล่าวเอาไว้ ไม่ใช่เฉพาะเพียงปัญหาชายแดนภาคใต้ แต่ว่าในบ้านเมืองของเรานั้นมีปัญหากันมากกว่าในภาคใต้ และได้พยายามแก้ไขปัญหานั้นมาโดยตลอด ปัญหาที่ยังไม่จบสิ้นก็ยังคงมีอยู่ แต่ว่าวิธีการที่เราจะแก้ปัญหานั้นต่างหากเป็นเรื่องที่ต้องการความร่วมมือร่วมใจ ความสามัคคีของพี่น้องคนไทยด้วยกันในการที่จะทำให้ปัญหานั้นหมดสิ้นไป
เรื่องของจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นปัญหาหนึ่งในหลายๆ ปัญหา เมื่อไม่กี่วันมานี้เราก็มีปัญหาใหม่ เรื่องการใช้ความรุนแรงมาก่อให้เกิดความสูญเสียกับพี่น้องประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่ว่าต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บ (เหตุระเบิดที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร) ผมได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนคนเหล่านั้น เขาก็มีความรู้สึกว่ามันไม่น่าจะเกิดขึ้นกับสถานที่ซึ่งเป็นที่สาธารณะ นั่นก็เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เราต้องช่วยกันแก้ไข
ท่านเลขาธิการคณะกรรมการกลางอิสลามได้พูดถึงสภาพปัญหาในอดีต แต่มาในวันนี้ผมจะพูดถึงสภาพในปัจจุบันบ้างว่าเราได้พยายามแก้ไขปัญหาในท้องถิ่น ไม่ว่าจะด้วยเรื่องของฮาลาลที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ในด้านของการรักษาพยาบาล ในเรื่องสาธารณสุข เรื่องของการศึกษา เรากำลังพยายาม
“การศึกษา” คือกุญแจ
ผมอยากจะเรียนให้ทุกท่านทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระราชทานพระราชดำริให้กับคณะองคมนตรี โดยที่มีท่านประธานองคมนตรีเป็นผู้ที่รับพระราชดำรินั้น ก็คือการที่จะทำให้สถานที่ศึกษาของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ห่างไกล มีมาตรฐานการศึกษาที่ดีขึ้น พระราชดำรินั้นได้พระราชทานเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2555 เราก็ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระยะเวลาที่ได้กล่าวมาแล้ว
เรื่องของการศึกษานี้เองที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงห่วงใยเป็นอย่างยิ่งว่าเยาวชนของเราได้รับการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน ครูก็ไม่ได้รับการดูแลที่ดีพอ มีปัญหาทั้งในเรื่องส่วนตัว ทั้งในเรื่องความก้าวหน้าทางด้านการงานในหน้าที่ นั่นเป็นเรื่องที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้พระราชทานแนวทางให้คณะองคมนตรีมาแก้ไข ผมได้รับในส่วนการทำงานของจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ลงมาดำเนินการส่วนหนึ่ง ซึ่งมีโรงเรียนที่ร่วมโครงการอยู่แล้ว และเราก็จะขยายโครงการนี้ร่วมกับ ศอ.บต. ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ในการที่จะเพิ่มระดับมาตรฐานด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนภาครัฐและเอกชน
ในเรื่องของรายละเอียดของการทำงานนั้นก็คงจะเป็นที่ทาง ม.อ.ปัตตานี และทาง ศอ.บ.ตจะได้หารือกับท่านทั้งหลายด้วย มันมีหลายส่วนในเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องของความเชื่อของเราที่จะเข้ามามีส่วนในเรื่องต่างๆ ของการศึกษา นั่นก็เป็นเรื่องที่อยากจะเรียนฝากไว้ว่า ถ้าเราได้มีส่วนการร่วมมือกันในเรื่องเหล่านี้ ก็จะทำให้ลูกหลานของเรามีมาตรฐานทางด้านการศึกษาที่ดีขึ้น สามารถที่จะออกไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งก็จะเริ่มประกาศเป็นประชาคมอาเซียนในปลายปีนี้
“สังคม-วัฒนธรรม” คือแก่นของอาเซียน
ผมเองในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็เป็นผู้ที่ลงนามในบทบาทอาเซียน โดยผมก็พูดมาโดยตลอดว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นมันไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ เพราะว่าประชาคมอาเซียนมีความแตกต่างทั้งเรื่องของเชื้อชาติ ความเชื่อ ภาษา วัฒนธรรมประเพณี เราแตกต่างกันมามาย แต่ว่าทำไมเขาถึงคิดที่จะมารวมกัน เราจะรวมกันก็เพราะว่าเมื่อเรามองไปทางตะวันออก เราก็มีประเทศเพื่อนบ้านที่ใหญ่โต มองไปทางตะวันตกเราก็มีประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นมหาอำนาจ ทำอย่างไรที่เราจะพูดจาให้มีน้ำหนักกับเขา ก็อยู่ที่การรวมตัวของเรานั่นเอง
เพราะฉะนั้นประชาคมอาเซียนจึงมีสัญลักษณ์เป็นรวงข้าวที่มัดรวมกัน เพราะว่าเรามีอาหารหลักก็คือข้าว เมื่อฟ่อนข้าวมามัดอยู่ด้วยกันมันก็จะมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง พอที่จะต่อรองกับคนอื่นได้ นั่นคือแนวความคิดพื้นฐานว่าทำไมเราถึงต้องรวมตัวกัน ทั้งๆ ที่มีความแตกต่างอย่างมากมาย
สิ่งที่เราจะถือเป็นส่วนสำคัญในประชาคมอาเซียน ก็จะมีอยู่ 2 ประโยชน์ คือ ความเอื้อเฟื้อและการแบ่งปัน การเอื้อเฟื้อและการแบ่งปันเป็นวัฒนธรรม เป็นประเพณีของคนทางซีกโลกตะวันออก เราจะต้องช่วยเหลือกัน เราจะต้องแบ่งปันกันในยามที่เพื่อนๆ หรือคนที่เรารู้จักขาดแคลน สิ่งเหล่านี้ก็เป็นพื้นฐานที่จะทำให้ประชาคมอาเซียนร่วมมือกันและเดินหน้าต่อไปได้
ที่สำคัญที่สุดก็คือในเรื่องสังคมและวัฒนธรรม เราพูดกันแต่เศรษฐกิจ เราไม่พูดกันถึงเรื่องของสังคมและวัฒนธรรม สังคมและวัฒนธรรมจะทำให้เรารู้จักกันมากขึ้น มีความเอื้อเฟื้อ มีความช่วยเหลือกันมากขึ้น สิ่งนั้นต่างหากที่จะเป็นแก่นที่จะเป็นสาระสำคัญของประชาคมอาเซียนในโอกาสข้างหน้าต่อไป
ต้องเตรียมความพร้อมเยาวชน
เพราะฉะนั้นสภาวะปัจจุบันของการที่เราจะเข้าไปสู่ประชาคมอาเซียน ทำให้การเตรียมการของเราในเรื่องของเยาวชนมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เรื่องของการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเยาวชน เรื่องของนักศึกษาในระดับอุดมศึกษา เรื่องของอาจารย์ สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นมากที่เราจะต้องเตรียมการและเราจะต้องคิดกันว่าท่านทั้งหลายจะมีส่วนร่วมกันอย่างไร คงไม่ใช่เฉพาะมหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ ในประเทศกัมพูชา ในประเทศเวียดนาม ใน สปป.ลาว (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) หรือในประเทศเมียนมาร์ แต่เราจะมีความร่วมมือกันอย่างไรกับประเทศไกลๆ อย่างอินโดนีเซีย เราจะมีความร่วมมือกับเขาอย่างไรกับทางฟิลิปปินส์ สิ่งเหล่านี้ผมอยากจะฝากท่านทั้งหลายไว้ว่า เราคงจะต้องมองถึงวิธีการที่จะทำให้เรารู้จักกันคุ้นเคยกันและเป็นเพื่อนกันมากยิ่งขึ้น
แนะจับมือ “ลดใช้ความรุนแรง”
เรื่องปัจจุบันเรื่องหนึ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านได้พิจารณา ก็คือเรื่องของสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันที่มีแต่ความรุนแรง ไม่ว่าที่ไหนก็มีแต่ความรุนแรง ข่าวของผู้คนที่อพยพหลีกหนีความรุนแรงต้องเสียชีวิตทั้งเด็กและผู้ใหญ่ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้น และผมคิดว่าข่าวที่เราได้รับทราบนี้น่าจะเป็นบทเรียนที่สำคัญที่เราจะต้องมาพิจารณากันว่า เราจะลดการใช้ความรุนแรงได้อย่างไร
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากเกินกว่าท่านทั้งหลายจะร่วมมือร่วมใจกัน
ผมเองมีประสบการณ์กับเรื่องการใช้ความรุนแรงนี้มามากพอสมควร และก็เห็นว่าไม่ได้มีจุดจบที่สวยงามเลย จุดจบที่สวยงามก็คือที่ท่านกล่าวกัน ‘ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่าน’ นี่คือจุดจบที่สวยงาม ไม่ว่าท่านจะเป็นผู้ที่มีความเชื่อในศาสนาใด ทุกศาสนาก็สอนให้เรารักกันช่วยเหลือกัน นั่นเป็นส่วนที่ผมคิดว่าท่านทั้งหลายเป็นพลังที่สำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ผมเองไม่ได้มีโอกาสที่จะมาพบปะและไม่ได้มีโอกาสมาพูดคุยกับท่านทั้งหลายที่มารวมกัน ณ ที่แห่งนี้มากอย่างที่ได้พบในวันนี้ ผมเองก็คงมีหน้าที่อย่างที่ผมได้กล่าวไปแล้วว่า ทำงานในเรื่องที่ได้รับมอบจากท่านประธานองคมนตรี จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ให้ดูแลช่วยส่งเสริมและช่วยสนับสนุนเรื่องของการศึกษา
เพราะฉะนั้นก็อยากให้ท่านทั้งหลายได้ทราบว่าผมคงมีโอกาสได้พบปะกับท่านทั้งหลาย และมีอีกหลายๆ สิ่งหลายๆ อย่างที่เราน่าจะได้ช่วยกันทำให้มาตรฐานทางการศึกษา ทำให้เยาวชนของเรานั้นมีความรู้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องทางด้านวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางด้านทั่วไปเท่านั้น แต่ว่าเป็นความรู้ทางด้านอิสลามศึกษาที่ดีด้วย นั่นก็เป็นส่วนที่ผมคิดว่าท่านทั้งหลายคงเห็นพ้องและก็เห็นว่าการที่จะนำไปสู่จุดนั้นได้ ส่วนสำคัญก็คือการมีความสงบ มีสันติสุขเกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา
ผมขอฝากสิ่งเหล่านี้ไว้กับท่านทั้งหลาย นั่นเป็นความคิดส่วนตัว ผมได้มีส่วนร่วมในการทำงานในส่วนที่เป็นทั้งข้าราชการ เป็นทั้งข้าราชการการเมือง และได้เกี่ยวข้องกับปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ บัดนี้ผมไม่ได้มีหน้าที่เกี่ยวข้องแล้ว มีหน้าที่ในฐานะที่เป็นคนไทย มีหน้าที่ในฐานะที่จะช่วยดูแลในเรื่องของการศึกษา ก็ขอฝากท่านทั้งหลายไว้ว่า วิธีการในแก้ไขปัญหานั้น ผมมองเห็นทางออกอยู่ทางเดียวเท่านั้นดังที่ได้กล่าวไปแล้ว”