น้ำตาประมงปักษ์ใต้...ในวันที่ต้องจอดเรือ
การเสียชีวิตอย่างปัจจุบันทันด่วนจากการผูกคอตายของ นายสุรพล วงศ์ครุฑ อายุ 53 ปี ไต้ก๋งเรือประมงที่ชื่อ “โชคพัชรี 2” ที่จังหวัดปัตตานี ทำให้ความเดือดร้อนของผู้ประกอบอาชีพประมงจากกฎเหล็กการทำประมงของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้ง
วัดหัวตลาด ตำบลบานา อำเภอเมืองปัตตานี เป็นสถานที่ตั้งศพ นายสุรพล ชาวประมงรายล่าสุดที่จากไป นางไพร วงศ์ครุฑ ภรรยาของเขายืนยันว่า สามีตัดสินใจฆ่าตัวตาย เนื่องจากความเครียดที่ได้รับความเดือดร้อนจากการไม่สามารถออกเรือหาปลาได้ ทำให้ไม่มีรายได้ดูแลครอบครัว
“ไม่คาดคิดเลยว่าสามีจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย เพราะปกติเขาก็เป็นคนไม่ค่อยพูดถึงปัญหาอะไรกับครอบครัวอยู่แล้ว มักแก้ปัญหาด้วยตัวเองมาตลอด เพราะเขาเป็นเสาหลักของบ้าน ทำงานคนเดียวเลี้ยงครอบครัว ด้วยอาชีพเป็นไต๋เรือมาตั้งแต่เด็ก”
“ที่ผ่านมาเขาเครียดมาก เขาเสียใจเพราะทำงานไม่ได้ พอดีหลานเข้าโรงพยาบาลด้วย ทำให้เขายิ่งเครียดหนัก จะขอเงินลูกก็สงสารลูก จะขอที่เถ้าแก่ (เจ้าของเรือ) ก็เกรงใจ เพราะเอาเงินเถ้าแก่มาเยอะแล้ว งานก็ไม่ได้ทำ เรือก็ไม่ได้ออก เถ้าแก่ก็ต้องใช้เงินเหมือนกัน ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร”
“เราเดือดร้อนเพราะออกทะเลไม่ได้...มันสุดๆ แล้ว เดือดร้อนมาก ทุกคนเครียด แต่ไม่คิดว่าเขาจะเลือกวิธีนี้ ไม่รู้ว่าเขาผูกคอตายตั้งแต่กี่โมง แต่ประมาณตี 2 เพื่อนบ้านมาบอกว่าเขาผูกคอตาย รู้สึกตกใจ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็เอาเขาลงมา ตัวเย็นหมดแล้ว ไม่รู้ว่าตายตั้งแต่ตอนไหน” นางไพร กล่าว
ด้าน นายธนะวัตน์ เล่าตง เจ้าของเรือโชคพัชรี 2 ซึ่งเป็นเถ้าแก่ของนายสุรพล เล่าว่า การผูกคอตายของไต้ก๋งเรือมาจากความเครียดที่ไม่มีรายได้ เพราะไม่สามารถออกเรือหาปลาได้เหมือนปกติ ขณะที่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังคงเท่าเดิม
“เขาเป็นไต้ก๋งเรือโชคพัชรี 2 มาสิบกว่าปีแล้ว เขามีภาระเยอะเพราะเขาทำงานคนเดียว ภรรยาทำงานไม่ได้ เขาเครียดมากหลังจากที่เรือออกไม่ได้ กว่า 4 เดือนแล้วที่เขาไม่มีรายได้ ทั้งค่าผ่อนบ้านและค่ายารักษาโรคที่ตัวเองเป็นอยู่ หลานก็ต้องไปโรงเรียน ข้าวปลาก็ต้องซื้อ เขาถึงเครียดมาก ไม่มีทางออก ก็เลยต้องทำแบบนี้”
“แม้ไม่ได้ออกเรือ ผมก็ให้เงินเขาทุกครั้ง แต่หลังๆ เขาไม่กล้ามาขอเพราะเขาเบิกเยอะ เขาก็เกรงใจ แต่ผมรู้ว่าเขามีปัญหา ก็เอาเงินไปให้ตลอด ไม่ใช่เขาคนเดียว แต่ผมดูแลลูกน้องทุกคน ให้เขาพออยู่ได้ทั้งหมด เพราะยังมีหวังว่าวันไหนเรือได้ออก ทุกคนก็จะได้อยู่ได้กินดีกว่านี้ ก็เลยต้องดูแล แต่ถ้าถึงที่สุดจริงๆ ก็คงต้องยอมรับสภาพ”
นายธนะวัตน์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้นอกจากครอบครัวของนายสุรพลแล้ว ยังมีครอบครัวของไต๋เรืออีกคนที่ภรรยาอยู่โรงพยาบาล ต้องผ่าตัด แต่ไม่มีเงินค่าผ่าตัด ไต๋เรือก็เครียดอยู่ ไม่รู้จะทำอย่างไร ได้แต่พยายามหาทางช่วยกัน
“เมื่อเดือนก่อน เพื่อนที่ระยอง เขาเป็นไต๋เรือผิดกฎหมาย ก็ฆ่าตัวตายเหมือนกัน มาวันนี้ลูกน้องเราเป็นไต๋เรือถูกกฎหมาย แต่ถูกรัฐทำให้ผิดกฎหมายก็ต้องมาตาย จะมีคนเดือดร้อนและตายอีกเยอะถ้ารัฐยังไม่ทำอะไรเพื่อช่วยเหลือพวกเขา ก็ขออย่าให้มีศพต่อไปอีกเลย”
เจ้าของเรือโชคพัชรี 2 เล่าอีกว่า มีเรือทั้งหมด 7 ลำ ผิดกฎหมาย 1 ลำ ที่เคยถูกกฎหมายตั้งแต่ปี 2522 อีก 6 ลำ แต่ตอนนี้รัฐทำให้กลายเป็นผิดกฎหมาย 3 ลำ เหลือที่ถูกกฎหมายจริงๆ เป็นของลูกสาวและลูกชาย 3 ลำ
ทุกวันนี้เรือประมงมีอยู่ 3 แบบ คือ 1.ผิดกฎหมายจริงมาตั้งแต่ต้น 2.ก่อนหน้านี้ถูกกฎหมาย หรือกฎหมายอนุโลมให้ แต่ปัจจุบันผิดกฎหมาย และ 3.เรือที่ถูกกฎหมาย ตรงตามกฎของ คสช. แต่ทั้ง 3 รูปแบบนี้ต่างเจอปัญหาหมด
“เรือที่ผิดกฎหมายแน่นอนแล้วก็ออกไม่ได้ ที่เคยถูกกฎหมายเขาก็ทำให้ผิดกฎหมาย ก็จอดนิ่งที่ท่าเรือ ส่วนเรือที่ถูกกฎหมายก็ยังต้องมาเจอปัญหา วันหยุดทำประมงที่เขาออกมาตรการมาใหม่อีก ให้หยุดเดือนละ 9 วัน (คำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 15/2558) สรุปแล้วเรือประมงไม่ว่าประเภทไหน ต้องเจอปัญหาเหมือนกันหมด”
“ตอนนี้ชาวประมงไม่รู้จะหันหน้าไปทางไหนแล้ว ขึ้นไปทำงานบนบกก็เจอสถานการณ์ความไม่สงบ ลงเรือก็ออกทะเลไม่ได้ ก็คงต้องตายกันอีกเยอะ” นายธนะวัตน์ กล่าว
ขณะที่ นายสมนึก หนูเซ็น ไต๋เรือจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นทั้งรุ่นน้องและลูกศิษย์ของนายสุรพล เขามาช่วยงานศพนายสุรพลตั้งแต่วันแรก เล่าว่า ตอนนี้ไม่มีงานทำ ไม่สามารถออกเรือได้ ไม่มีเงินแต่ก็ต้องมาช่วยงานลูกชายที่กำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่โรงเรียนในอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช ก็ต้องออกจากโรงเรียนแล้ว เพราะไม่เงินส่ง ตั้งใจจะให้ไปเรียน กศน. (การศึกษานอกโรงเรียน) ไปก่อน
“แม้ผมจะไม่มีเงิน แต่พอทราบข่าวว่าพี่สุรพลเสียชีวิต ก็ต้องมาช่วยงานก่อน และก่อนเดินทางมาก็ขายไก่ชนไป 3 ตัว และพาครอบครัวนั่งรถไฟฟรี จากนครศรีธรรมราชมาลงที่ปัตตานีเพื่อมาช่วยงาน เสร็จงานก็ยังกลับไม่ได้ ต้องรอรถไฟฟรีวันพรุ่งนี้ รู้สึกเศร้ามากกับเรื่องที่เกิดขึ้น”
“เมื่อต้นเดือนกันยายน เพื่อนบ้านก็ให้ลูก 3 คนกินยาฆ่าตัวตาย แล้วจากนั้นตัวเองก็กินยาฆ่าตัวตายตาม เสียชีวิตหมด โชคดีภรรยาของเขาออกไปซื้อของที่ตลาด จึงไม่ได้กินยาฆ่าตัวตายด้วย เชื่อว่าจะต้องมีคนตายอีกเยอะ จากปัญหาออกเรือไม่ได้”
นายสัญญา หนูเซ็น ลูกชายของนายสมนึก บอกด้วยสีหน้าเศร้าๆ ว่า ทุกวันนี้ไม่ได้ไปโรงเรียนแล้ว เพราะพ่อไม่มีเงินส่ง ก็คงต้องหยุดเรียนไปสักพัก
เสียงจากผู้ประกอบการเรือประมงอย่างนายธนะวัตย์ ยืนยันว่า ทุกคนอยากปฏิบัติตามกฎหมาย และเข้าใจถึงปัญหาที่ประเทศกำลังเผชิญแรงกดดันจากมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมายฯ ของสหภาพยุโรป หรือ “ไอยูยู ฟิชชิ่ง” แต่การเปลี่ยนแปลงเครื่องยนต์เรือ หรือเครื่องมือทำประมงที่ติดมากับเรือ ต้องมีค่าใช้จ่าย และต้องใช้เวลาในการดำเนินการ ทว่าที่ผ่านมารัฐบาลประกาศมาตรการออกมาโดยไม่ฟังเสียงจากชาวประมงเลย
“ผลกระทบตรงนี้ก็อยากจะฝากรัฐบาลช่วยรับฟังด้วย ผมไม่ได้คิดคัดค้านอะไรท่าน ผมไม่ได้ว่าท่าน ผมจบแค่ ป.4 แต่ท่านจะแก้ปัญหาอะไร ท่านวางแผนเสียหน่อยดีไหม ผมทำเรือ ผมจะทำอะไรจะเปลี่ยนเครื่องมืออะไรก็แล้วแต่ ผมต้องวางแผนไว้ก่อน ไม่ใช่ประกาศกฎไปก่อน แล้วมาบังคับให้ทำ อย่างนี้ก็เดือดร้อนกันหมด” นายธนะวัตน์ ระบุ
ปัญหาที่ผู้ประกอบอาชีพประมงต้องเผชิญในวันนี้ ส่วนหนึ่งมาจากการออกมาตรการเข้ม หรือ “กฎเหล็ก” ของคสช.ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการทำประมงจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เครื่องมือจับปลาบางอย่างเคยถูกกฎหมาย ใช้กันมาหลายสิบปี แต่วันนี้กลายเป็นผิดกฎหมาย การแก้ไขปรับเปลี่ยนต้องใช้เงินทุน เรือแต่ละลำของผู้ประกอบการ หากไม่ใช่รายใหญ่จริงๆ ก็ยังติดหนี้ธนาคาร ต้องส่งเงินต้น ส่งดอกเบี้ยทุกเดือน การหยุดออกเรือแค่เพียงไม่กี่วัน ส่งผลกระทบมหาศาล ขณะที่กฎเหล็กของ คสช.ออกมาอย่างน้อย 4 ฉบับ มีการปรับแก้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ชาวประมงตามไม่ทัน จึงไม่กล้านำเรือออก เพราะหากฝืนออกเรือไปแล้วถูกจับกุม ก็จะถูกยึดเรือและเครื่องมือทำประมงทั้งหมด
นี่คือสภาพปัญหาและคราบน้ำตาของชาวประมงปักษ์ใต้ ซึ่งมีอาชีพหลักคือออกเรือหาปลาเพื่อสร้างรายได้ให้กับตัวเอง ครอบครัว และประเทศชาติ!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เรือประมงจอดเรียงกันริมฝั่งแม่น้ำปัตตานีช่วงใกล้ปากอ่าว เพราะออกทะเลไม่ได้
2 นางไพร วงศ์ครุฑ
3 นายธนะวัตน์ เล่าตง
4 ครอบครัวของ นายสมนึก หนูเซ็น