ศาล ปค.ยกฟ้อง ชาวประจวบฯ ค้านสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล ไม่กระทบสิ่งเเวดล้อม
ศาลปกครองกลางพิพากษายกฟ้องกรณี ส.ต่อต้านโลกร้อนและชาว จ.ประจวบฯ ค้าน บ.พลังงานสะอาดทับสะเเก สร้างโรงไฟฟ้าชีวมวล เหตุชอบด้วยกฎหมาย ไม่กระทบชุมชน เเละสิ่งเเวดล้อม
วันที่ 29 กันยายน 2558 ศาลปกครองกลาง อ่านคำพิพากษา คดีหมายเลขดำที่ 924/2553 และ คดีหมายเลขแดงที่ 2291/2558 กรณีสมาคมต่อต้านภาวะโลกร้อนและพวกอีก 37 คน ยื่นฟ้อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม, อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม, ผู้ว่าราชการประจวบคีรีขันธ์, อุตสาหกรรมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายกองค์การบริหารตำบลห้วยยาง, นายกองค์บริหารตำบลแสงอรุณ และบริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก จำกัด ในกรณีพิพาทเกี่ยวกับการ ที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมายและละเลยหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติ
โดยผู้ฟ้องเห็นว่าการที่บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก จำกัด ได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลและประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล รวมทั้งได้รับใบอนุญาตผลิตพลังงานควมคุมและใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า โดยมิได้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อน อีกทั้งได้รับอนุญาตให้ขุดดินเพื่อก่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำโดยปิดกั้นลำธารสาธารณะซึ่งเป็นแหล่งน้ำจืดที่ประชาชนใช้ร่วมกัน ทำให้ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย
ซึ่งคดีมีประเด็นให้ศาลวินิจฉัยรวมสามประเด็น ดังนี้
1. การที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง ออกใบอนุญาตให้บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก จำกัด ก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และการที่อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานออกใบอนุญาตให้ผลิตงานควมคุมและออกใบอนุญาตในผลิตไฟฟ้าเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลพิเคราะห์เเล้วเห็นว่า โรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลมิใช่โครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน อย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ อีกทั้งยังมิใช่โครงการหรือกิจกรรมที่ต้องได้รับความเห็นชอบของสภาองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง ก่อนออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการโรงงานและขยายกำลังการผลิต
นอกจากนี้ทางโรงงานยังได้มีการจัดการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามบัญญัติไว้เเล้ว รวมทั้งการกำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไข หรือเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายจากผลกระทบดังกล่าวและประกาศให้ประชาชนทราบแล้ว
ดังนั้นการที่ นายก อบต. ห้วยยาง ออกใบอนุญาตก่อสร้างให้กับ บ.พลังงานสะอาดทับสะแก จำกัด และการที่ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และการที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุมและผลิตไฟฟ้า จึงเห็นชอบด้วยกฏหมาย
2. การที่ นายกองค์บริหารส่วนตำบลแสงอรุณ อนุญาตให้บริษัท พลังงานสะอาดทับสะแก จำกัด ขุดดินเพื่อสร้างแหล่งกักเก็บน้ำไว้ใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้างานชีวมวลชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ศาลได้พิเคราะห์เเล้วเห็นว่า การขุดดินเพื่อสร้างแหล่งเก็บน้ำไว้ใช้ในโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวลเห็นชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากที่ดินดังกล่าวไม่ได้เขตติดต่อกับที่สาธารณสมบัติแผ่นดิน
3. การที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางและนายกองค์บริหารส่วนตำบลแสงอรุณ ไม่ดำเนินการเสนอพื้นที่ตำบลห้วยยางและตำบลแสงอรุณ ต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อประกาศให้เป็นเขตคุ้มครองสิ่งเเวดล้อมตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กำหนดหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติหรือไม่
ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ที่ตั้งของโรงงานผลิตไฟฟ้าชีวมวล อยู่นอกเขตการควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยผังเมือง สภาพที่ตั้งโดยรอบของโรงงานเป็นสวนมะพร้าว ไม่มีติดต่อสาธารณสถาน ไม่มีชุมชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโรงงาน การขนส่งวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ไม่เป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมของประชาชน ไม่ขัดต่อกฎกระทรวงฉบับที่2 (พ.ศ.2535) ดังนั้น พื้นที่ที่ตั้งโรงงานจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้เป็นพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและไม่มีกฎหมายให้อำนาจหรือหน้าที่แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์, นายกองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยางและนายกองค์บริหารส่วนตำบลแสงอรุณ ในการประกาศกำหนดเขตคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การที่ผู้ถูกฟ้อง ไม่ดำเนินการดังกล่าวจึงไม่เป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฎิบัติ
ศาลจึงมีคำพิพากษายกฟ้องในคดีข้างต้น อย่างไรก็ตามศาลเห็นว่า หากการดำเนินโครงการหรือกิจการของบริษัท ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ หรือก่อให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญ ก็สามารถนำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครองตามเงื่อนไขการฟ้องคดีต่อไป
ภาพประกอบ:http://www.newsplus.co.th/71809