ก.ศป.ยันพยานหลักฐานชัดสั่ง"หัสวุฒิ"ออกจากราชการ-เปิดโอกาสชี้แจงแล้ว
ตามที่สำนักงานศาลปกครองได้เผยแพร่เอกสารข่าวมติคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) เรื่องผลการสอบสวนนายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด กรณีที่ปรากฏเป็นข่าวทางสื่อมวลชนเกี่ยวกับเลขาธิการสำนักงานศาลปกครองและประธานศาลปกครองสูงสุดกรณีการแต่งตั้งข้าราชการตำรวจ ตามเอกสารข่าวลงวันที่ 23 กันยายน 2558 นั้น สำนักงานศาลปกครองขอชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติมดังนี้
1.การพิจารณาและมีคำสั่งให้ประธานศาลปกครองสูงสุดออกจากราชการเป็นการพิจารณาโดยคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งประกอบด้วยประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 คน ซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการศาลปกครองกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภา 2 คน และจากคณะรัฐมนตรีอีก 1 คน ซึ่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ท่านหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการตุลาการของศาลยุติธรรม (กต) อีกท่านหนึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่วนอีกท่านหนึ่งเคยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด
2.การแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นอำนาจของ ก.ศป. ตามมาตรา 24 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ซึ่งออกคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และข้อ 6 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ได้กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการสอบสวนในกรณีที่ประธานศาลปกครองสูงสุดถูกกล่าวหา โดยให้คณะกรรมการประกอบด้วยตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองสูงสุด จำนวน 4 คน กับกรรมการข้าราชการพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน จำนวน 1 คน และข้อ 27 ของระเบียบดังกล่าว กำหนดให้ ก.ศป. มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ ดังนั้น เมื่อ ก.ศป. เห็นว่ากรรมการที่ ก.พ. แจ้งมามีคุณสมบัติไม่ถูกต้องเหมาะสม อันเป็นปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามระเบียบ ก.ศป. ย่อมมีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยและแจ้งให้ ก.พ. ทบทวนได้ตามข้อ 27 ของระเบียบดังกล่าว ซึ่งกรณีนี้ไม่ใช่กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาคัดค้านกรรมการสอบสวนหรือกรรมการเห็นว่าตนมีเหตุอันอาจถูกคัดค้านแต่อย่างใด
3.เมื่อ ก.ศป. มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนแล้ว หาก ก.ศป. เห็นว่าการให้ผู้ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจะเป็นการเสียหายแก่ราชการ ก.ศป. ย่อมมีอำนาจสั่งพักราชการได้ตามมาตรา ๒๔ วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 โดยบทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนต้องเสนอความเห็นมาก่อนแต่อย่างใด เพียงแต่ในระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 ได้ให้อำนาจคณะกรรมการสอบสวนเสนอความเห็นต่อ ก.ศป.ทั้งก่อนการสอบสวนและในระหว่างการสอบสวนว่าสมควรจะสั่งพักราชการตุลาการศาลปกครองผู้ถูกกล่าวหาหรือไม่ด้วย ทั้งนี้ เมื่อ ก.ศป. มีคำสั่งพักราชการผู้ถูกกล่าวหาแล้ว ผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้ฟ้องคดีปกครองเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งพักราชการแต่อย่างใด แต่ได้ฟ้องคดีอาญาว่า ก.ศป. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งศาลอาญามีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่า ก.ศป. มีอำนาจสั่งพักราชการผู้ถูกกล่าวหาได้ โดยคณะกรรมการสอบสวนไม่ต้องเสนอความเห็นต่อ ก.ศป. ก่อน
4.การสอบสวนและการเสนอความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนที่ ก.ศป. แต่งตั้งเป็นการพิจารณาทางปกครองที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองเท่านั้น ไม่ใช่การมอบอำนาจให้คณะกรรมการสอบสวนวินิจฉัยหรือมีคำสั่งทางปกครอง ความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนจึงไม่ผูกมัดให้ ก.ศป. ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนต้องปฏิบัติตาม ซึ่งมีคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานหลายคดีแล้ว (นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ก็เคยเป็นตุลาการเจ้าของสำนวนพิพากษาคดีโดยนำหลักดังกล่าวมาตัดสินคดี เช่น คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.122/2551 และคดีหมายเลขแดงที่ อ.325/2551) โดยข้อ 23 ของระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยวิธีการสอบสวนและสิทธิของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีเหตุ ให้ต้องพ้นจากตำแหน่ง พ.ศ. 2544 กำหนดให้คณะกรรมการสอบสวนทำรายงานการสอบสวนเสนอต่อ ก.ศป. แต่อำนาจในการพิจารณาวินิจฉัยว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำความผิดหรือไม่ เป็นอำนาจของ ก.ศป. ตามข้อ 24 ของระเบียบดังกล่าว ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการสอบสวนได้เสนอรายงานการสอบสวนมาแล้ว แต่ ก.ศป. เห็นว่า มีพยานหลักฐานเพียงพอรับฟังได้ตามข้อกล่าวหา แต่คณะกรรมการสอบสวนยังไม่ได้แจ้งผู้ถูกกล่าวหา ถึงพยานหลักฐานที่สนับสนุนข้อกล่าวหาและให้ผู้ถูกกล่าวหาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา ก.ศป. จึงมีอำนาจสั่งให้คณะกรรมการสอบสวนดำเนินการได้ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนก็ได้ดำเนินการตามคำสั่งของ ก.ศป. แล้ว
5.พยานหลักฐานจากการสอบสวนรับฟังได้ว่าผู้ถูกกล่าวหารู้เห็นเป็นใจและรับทราบในกรณีที่เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองมีจดหมายน้อยถึงผู้บังคับบัญชาของสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าผู้ถูกกล่าวหาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานศาลปกครองสูงสุดประสงค์จะให้มีการเลื่อนตำแหน่งแก่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาช่วยงานให้ดำรงตำแหน่งผู้กำกับการ ซึ่งการมาช่วยงานดังกล่าวเป็นเรื่องส่วนตัวที่สำนักงานศาลปกครองไม่ได้ร้องขออย่างเป็นทางการ การกระทำดังกล่าวในขณะที่ศาลปกครองมีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาคดีการแต่งตั้งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและมีคดีประเภทนี้อยู่ในศาลเป็นจำนวนมาก ย่อมเป็นปรปักษ์ต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการของผู้ถูกกล่าวหาและกระทบ ต่อภาพลักษณ์ของศาลปกครอง ซึ่งไม่ว่าผู้ถูกกล่าวหาจะเป็นผู้ใช้ให้กระทำหรือรู้เห็นเป็นใจก็ย่อมเป็นการประพฤติตนไม่สมควร เป็นการกระทำความผิดวินัยฐานไม่รักษาเกียรติศักดิ์ของตำแหน่งหน้าที่ราชการ ซึ่งคณะกรรมการสอบสวนได้แจ้งพยานหลักฐานที่แสดงถึงพฤติการณ์แห่งการกระทำทั้งหมดให้ผู้ถูกกล่าวหาทราบแล้ว กรณีจึงไม่ใช่การเปลี่ยนข้อกล่าวหา และ ก.ศป. พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้ถูกกล่าวหาประพฤติตนไม่สมควรตามที่กำหนดไว้ในวินัยแห่งเป็นการตุลาการศาลปกครองและมีคำสั่งให้ออกจากราชการ
6.การพิจารณากรณีตุลาการศาลปกครองประพฤติตนไม่สมควรนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองหรือปัญหาความมั่นคงระดับชาติ เนื่องจากเป็นการดำเนินการกรณีตุลาการประพฤติตนไม่สมควรตามที่ตุลาการศาลปกครองและองค์กรตามรัฐธรรมนูญร้องเรียนกล่าวหา แต่เป็นการดำเนินการเพื่อไม่ให้ศาลปกครองซึ่งเป็นองค์กรตุลาการที่มีอำนาจหน้าที่พิจารณาพิพากษาอรรถคดีได้รับความเสียหายจากการกระทำของตุลาการศาลปกครองคนใดคนหนึ่ง และเพื่อให้ศาลปกครองเป็นองค์กรที่ประชาชนมีความเลื่อมใสศรัทธาและเชื่อมั่นตลอดไป