ซิงเกิล เกตเวย์ ต้องไม่ครอบจักรวาล ‘ครูหยุย’ ไขคำตอบแก้เด็กติดเกมออนไลน์?
ซิลเกิล เกตเวย์ ปลุกกระแสต้านรัฐ ก.ไอซีทีแจงเป็นเพียงแนวคิด ‘วัลลภ ตังคณานุรักษ์’ มองช่วยแสกนเด็กทำผิด กม. เผยแพร่สื่อลามก-ขายอาวุธ-ยาเสพติด ยันไม่ตอบโจทย์ติดเกมออนไลน์ เตือนโลกไซเบอร์เปลี่ยนเร็ว ทำอะไรต้องระมัดระวัง
สืบเนื่องจากมีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ศึกษาความเป็นไปได้ของนโยบายการจัดตั้งทางออกอินเทอร์เน็ตทางเดียวทั่วประเทศ หรือซิงเกิล เกตเวย์ (Single Gateway) ในไทย เพื่อเป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารผ่านอินเทอร์เน็ต โดยเฉพาะการหามาตรการในการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนติดเกมออนไลน์และการเข้าถึงสื่อไม่เหมาะสม จนถูกคัดค้านจากสังคม
อย่างไรก็ตาม นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ดำเนินการหรือได้ข้อสรุป กำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาต่าง ๆ ตามที่นายกรัฐมนตรีห่วงใยเยาวชน ซึ่งอาจเข้าถึงข้อมูลไม่เหมาะสม พร้อมระบุรัฐบาลจะไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพหรือปิดกั้นการสื่อสารของประชาชน
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็กและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ถึงแนวคิดผลักดันโครงการ ‘ซิงเกิล เกตเวย์’ ว่า มีความจำเป็นในบางเรื่อง โดยเฉพาะกรณีเด็กและเยาวชนทำผิดกฎหมาย เช่น การเผยแพร่สื่อลามกอนาจาร ยาเสพติด หรือจำหน่ายอาวุธ เพราะเป็นเรื่องละเมิดสังคม แต่มิใช่เพื่อแก้ไขปัญหาติดเกมออนไลน์ ด้วยมองว่า เด็กติดเกมออนไลน์กับผู้ใหญ่ติดโปรแกรมแอปพลิเคชันไลน์ไม่แตกต่างกัน
ขณะเดียวกันไม่ควรประกาศใช้โครงการทันทีอย่างครอบจักรวาล เนื่องจากอาจสร้างความตื่นตระหนกไปทั้งวงการ เเต่จะต้องจัดตั้งหน่วยงานสำหรับให้ความรู้เบื้องต้นก่อน หากพบเด็กและเยาวชนทำผิดกฎหมาย ยกตัวอย่าง กรณีปฏิบัติการ DDoS ถล่มเว็บไซต์หน่วยงานภาครัฐล่ม เพื่อต่อต้านซิงเกิล เกตเวย์ รัฐต้องสื่อสารให้ทราบว่า ทำไม่ได้ ผิดกฎหมายความมั่นคงชาติ หากตักเตือนแล้วยังกระทำอยู่ ต้องระงับ และนำไปสู่การลงโทษทางอาญา
“ที่ผ่านมาไทยมีแผนการป้องกันเด็กและเยาวชนเข้าถึงสื่อไม่เหมาะสมพอสมควรแล้ว โดยหน่วยติดตามหน้าจอของกรมตำรวจหรือกระทรวงไอซีที แต่ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นไปเรื่องการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เลขาธิการมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก กล่าว และว่า โลกไซเบอร์เปลี่ยนไปเร็วมาก ทำให้ต้องการความดูแลอย่างละเอียดอ่อน และไม่ควรผลีผลามทำอะไรเร็ว เพราะอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรง จึงควรระมัดระวัง
ส่วนงานวิจัยระบุสื่อลามกอนาจารมีประโยชน์มากกว่าโทษ ช่วยให้เกิดการเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาและลดอาชญากรรมทางเพศได้ นายวัลลภ กล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องกัน ดังเช่นในอดีตระบุไทยมีโสเภณีมากขึ้น จะช่วยลดอาชญากรรมทางเพศได้ กลับไม่เป็นความจริง เพราะไทยเป็นประเทศที่มีอัตราก้าวกระโดดทางอารมณ์สูงมาก แต่งานวิจัยตอบโจทย์ปัญหาในต่างประเทศ เนื่องจากมีการให้ความรู้แก่เด็กและเยาวชนว่า สิ่งใดเหมาะสมหรือไม่เหมาะสมมากกว่า .