10 ประเด็นคาใจคดีระเบิดกลางกรุง
คดีลอบวางระเบิดครั้งรุนแรงที่สี่แยกราชประสงค์และท่าเรือสาทร กลายเป็นงานท้าทายชิ้นแรกของ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่ รวมทั้งหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วย เพราะคดีที่ดูเหมือนเดินมาสู่จุดสุดท้าย ซึ่งตำรวจหลายนายระบุว่า “ปิดคดีได้แล้ว” นั้น จริงๆ แล้วยังเป็นเพียงแค่เริ่มต้นเท่านั้นเอง
ประเด็นที่ทำให้คดีระเบิดกลางกรุงเทพฯ ยังไปไม่ถึงจุดสิ้นสุดในความรู้สึกของหลายๆ ฝ่าย รวมทั้งประชาชนคนไทยทั่วไป มีอยู่หลายประเด็น แม้ข้อสงสัยเกี่ยวกับ นายอาเดม คาราดัก หรือ นายบิลาล เติร์ก มูฮำหมัด ที่จู่ๆ ก็ยอมรับสารภาพว่าเป็น “ชายเสื้อเหลือง” ที่นำระเบิดไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม จะลดดีกรีลงแล้ว เนื่องจากทนายความของนายอาเดมเอง คือ ทนายชูชาติ กันภัย ก็ออกมาระบุหลังเข้าเยี่ยมนายอาเดมล่าสุดว่า เจ้าตัวยอมรับว่าเป็นคนนำระเบิดไปวางจริง
แต่ประเด็นคาใจได้ขยับไปที่ความพยายามของตำรวจที่สรุปมูลเหตุของการลอบวางระเบิดว่า อาจเป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ โดยมีตัวละครใหม่ที่ชื่อ นายอ๊อด พยุงวงศ์ หรือ นายยงยุทธ พบแก้ว โผล่ขึ้นมา
ประเด็นที่หลายฝ่ายออกมาตั้งคำถาม และเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ โดยเฉพาะตำรวจ ต้องมีคำตอบให้กับสังคม มีดังนี้
1.นายอ๊อด มีตัวตนจริงหรือไม่ เกี่ยวข้องกับเหตุระเบิดกลางกรุงเทพฯจริงหรือเปล่า เพราะมีการระบุว่านายอ๊อด ไม่มีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่กลับเคยถูกจับกุมในคดียาเสพติดและคดีอื่นๆ ถึง 9 ครั้ง แล้วหนีประกันหายตัวไป
2.การเข้ามาเกี่ยวโยงกับคดีของนายอ๊อด เหตุใดจึงเพิ่งปรากฏในช่วง 1-2 วันก่อนแถลงสรุปคดี ในการขออนุมัติหมายจับจากศาลทหารล็อตใหญ่ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้แทบไม่ปรากฏหลักฐานพาดพิงถึงนายอ๊อดมาก่อน
3.สมมติว่านายอ๊อด เกี่ยวข้องสนับสนุนการลอบวางระเบิดจริง เขาเข้ามาร่วมในนามส่วนตัว ในลักษณะของคนที่พร้อมจะทำผิดกฎหมาย เพราะเคยมีประวัติถูกจับกุมมาแล้วหลายครั้ง หรือเป็นการร่วมโดยมีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง เพราะแม้นายอ๊อดจะเคยถูกออกหมายจับในคดีระเบิดย่านมีนบุรีช่วงการชุมนุมของ กปปส.เมื่อปี 2557 ที่มีผู้ต้องหาบางส่วนเป็นชุดเดียวกับคดีระเบิดที่สมานเมตตาแมนชั่น ช่วงการชุมนุมขับไล่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ แต่ตัวนายอ๊อดก็ไม่ได้ถูกออกหมายจับในคดีสมานเมตตาแมนชั่น
4.คำบอกเล่าของนายอาเดมที่บอกกับทนายความว่า เขาไม่ได้รับค่าจ้างในการลอบวางระเบิด และปฏิบัติการวางระเบิดเป็นไปตามคำสั่งของ นายอับดุลเลาะห์ อับดุลเลาะห์มาน ผู้ต้องหารายหนึ่งจาก 17 หมายจับที่ศาลทหารอนุมัติ เท่ากับเป็นข้อมูลที่สวนทางกับแนวการสอบสวนคดีของตำรวจใช่หรือไม่ ทั้งๆ ที่อ้างว่านายอาเดมยอมรับสารภาพหมดแล้วเช่นกัน
5.เหตุใดตำรวจจึงพยายามตัดตอนมูลเหตุจูงใจในการลอบวางระเบิด ว่าเป็นเรื่องของขบวนการค้ามนุษย์ชาวอุยกูร์ที่ไม่พอใจมาตรการปราบปรามของเจ้าหน้าที่ แต่ยืนกรานว่าไม่เกี่ยวกับเรื่องการส่งมุสลิมอุยกูร์ 109 คนให้รัฐบาลจีน ทั้งๆ ที่การปราบปรามขบวนการค้ามนุษย์ในช่วงที่ผ่านมา มุ่งไปที่มุสลิมโรฮิงญามากกว่าอุยกูร์
6.เหตุใดตำรวจจึงไม่ตั้งข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่เมื่อพลิกดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่าน่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดฐานก่อการร้าย
7.การติดตามตัวผู้ต้องหาที่เหลือจะดำเนินการได้อย่างไร เนื่องจากน่าจะหลบหนีออกนอกประเทศไปทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดแล้ว ขณะที่หมายจับบางหมายก็ยังออกซ้อนกันอยู่ เช่น มีหมายจับของ "นายอาเดม คาราดัก" แล้ว ยังมีหมายจับของ "ชายเสื้อเหลือง" อยู่อีก ทั้งๆ ที่ตำรวจบอกว่านายอาเดมยอมรับแล้วว่าเป็น "ชายเสื้อเหลือง" ที่นำระเบิดไปวางที่ศาลท้าวมหาพรหม
8.การไม่แจ้งข้อหาก่อการร้ายกับกลุ่มผู้ต้องหา จะยิ่งเป็นการยากในการติดตามตัวผู้ต้องหาที่หลบหนีอยู่นอกประเทศหรือไม่ โดยเฉพาะการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศในการติดตามตัว โดยเฉพาะกลุ่มที่มีพฤติการณ์เป็นเพียงผู้สนับสนุน ไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลอบวางระเบิด เพราะหากแจ้งข้อหาก่อการร้าย อาจใช้กลไกของกฎหมาย ปปง.คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย ในการขอความร่วมมือจากมิตรประเทศและการตรวจสอบเส้นทางเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
9.การขยายประเด็นเรื่อง “ฝักแคสีชมพู” ที่พบตรงจุดเกิดเหตุระเบิดที่ท่าเรือสาทร โดยนำไปโยงกับเหตุลอบวางระเบิด 2-3 ครั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเคยใช้ฝักแคสีเดียวกัน ถูกผู้เชี่ยวชาญด้านวัตถุระเบิดตั้งคำถามว่า เป็นสาระสำคัญทางคดีหรือไม่ เนื่องจากฝักแคสีชมพู มีใช้ทั่วไปในกิจการของพลเรือน เช่น ระเบิดหิน แต่ไม่ใช่ฝักแคที่ใช้ในทางทหาร
10.การขยายประเด็นสู่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องมีความชัดเจนมากกว่านี้หรือไม่ว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มขบวนการที่มีอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน หรือเป็นกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายเท่านั้น มิฉะนั้นอาจกลายเป็นการยกระดับปัญหาชายแดนใต้ได้
ทั้งหมดนี้คือ 10 ประเด็นคาใจที่ฝ่ายตำรวจและหน่วยงานด้านความมั่นคงต้องมีคำตอบ เพื่อปิดคดีระเบิดกลางกรุงเทพฯที่รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ได้อย่างสมบูรณ์
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : ภาพถ่ายบุคคลที่ตำรวจอ้างว่าคือ นายอ๊อด พยุงวงศ์ ผู้ต้องหาคนไทยในคดีระเบิดราชประสงค์ อีกหนึ่งคำถามคาใจของสังคมเกี่ยวกับคดีนี้
ชอบคุณ : ภาพจากสถานีโทรทัศน์ NOW26