นักวิชาการชงฟื้น คกก.นโยบายป่าไม้แห่งชาติ หนุนเพิ่มป่าอีก 26 ล้านไร่ ใน 10 ปี
ก.ทรัพยากรฯ เตรียมเพิ่มป่าอีก 26 ล้านไร่ หวังทั้งประเทศมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 40% ด้านนักวิชาการ มก.ชงข้อเสนอตั้ง คกก.นโยบายป่าไม้แห่งชาติ ช่วยกำหนดทิศทาง แก้ปัญหาทรัพยากร ส่งเสริมปลูกในที่ดินเอกชน-นอกเขตตาม กม. เชื่อ 10 ปี สำเร็จ
กรณีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)มีนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่าอีก 26 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี เพื่อให้มีพื้นที่ป่าทั้งประเทศไม่น้อยกว่า 128 ล้านไร่ หรือร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ ซึ่งได้บรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 แล้ว หากไม่ประสบความสำเร็จกระทรวงจะถูกลดงบประมาณปีละ 3-4 หมื่นล้านบาท และอาจมีการเปลี่ยนหน่วยงานดูแลรักษาป่าด้วย
ผศ.ดร.ขวัญชัย ดวงสถาพร หัวหน้าภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) เปิดเผยต่อสื่อมวลชนถึงกรณีดังกล่าว โดยระบุความเป็นมาว่า ไทยมีนโยบายให้มีพื้นที่ป่าไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ขอพื้นที่ประเทศครั้งแรกเมื่อปี 2491 โดย มร.จี เอ็น ดานฮอฟ ชาวเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญป่าไม้ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) ได้สำรวจและวิเคราะห์สถานการณ์พื้นที่ป่าของไทย
โดยพบมีอัตราการลดลงในอัตราสูง หากไม่หยุดยั้งจะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมรุนแรง จึงเสนอต่อรัฐบาลไทย และหลังจากนั้นแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ปี 2504-09 กำหนดให้กรมป่าไม้ กรมที่ดิน และกรมอื่นที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการจำแนกที่ดินทั่วประเทศ ให้เหลือพื้นที่ป่าขั้นต้น 156 ล้านไร่ หรือร้อยละ 48.6 ของพื้นที่ประเทศ หากภายหลังไทยมีประชากรเพิ่มขึ้นก็อาจลดลงได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 125 ล้านไร่ หรือร้อยละ 39 ของพื้นที่ประเทศ
“นโยบายให้มีพื้นที่ป่าเคยได้รับการวิเคราะห์และกำหนดอย่างชัดเจน โดยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (ถูกยกเลิกไป 27 กุมภาพันธ์ 2550) ซึ่งคณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเห็นชอบนโยบายป่าไม้แห่งชาติ เมื่อ 3 ธันวาคม 2528” นักวิชาการ มก.กล่าว และว่าเนื้อหาส่วนหนึ่งกำหนดให้มีพื้นที่ป่าทั่วประเทศไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศ เพื่อประโยชน์ 2 ประการ คือ ป่าเพื่อการอนุรักษ์ และป่าเศรษฐกิจ (ป่าธรรมชาติและป่าปลูก)
เพื่อนำไปสู่เป้าหมาย ผศ.ดร.ขวัญชัย จึงเสนอให้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติเหมือนเดิม ทำหน้าที่กำหนดทิศทางและแก้ปัญหาทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ และควรดำเนินการหลายแนวทางประกอบกัน นั่นคือ การส่งเสริมสร้างพื้นที่ป่าในพื้นที่เอกชนหรือพื้นที่นอกเขตป่าตามกฎหมาย ซึ่งมีโอกาสเพิ่มพื้นที่ป่าให้สอดคล้องกับนโยบายป่าไม้แห่งชาติมากกว่าแนวทางอื่น
นอกจากนี้การฟื้นฟูควรให้ประชาชนมีบทบาทในการฟื้นฟูป่ามากขึ้น แทนการให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการหลักฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา อีกทั้งให้คืนพื้นที่ป่าที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ประโยชน์แล้ว กระทำผิดเงื่อนไข หรือเป็นพื้นที่ป่าควรสงวนไว้ หรือไม่เหมาะสมในการใช้ประโยชน์ เช่น สปก. สทก.แต่การคืนต้องแบ่ง 2 ส่วน คือ 1.ใช้พิจารณาจัดสรรเป็นที่ดินทำกินแก่ประชาชนผู้ยากไร้ 2.พื้นที่เหลือไม่เหมาะสมในการจัดสรรควรนำมาฟื้นฟูให้มีสภาพป่า
นักวิชาการ มก. กล่าวอีกว่า สำหรับการใช้มาตรการทางกฎหมายอย่างเคร่งคัดกับบุคคลที่พิสูจน์แล้วว่า บุกรุกพื้นที่ป่าแล้วนำมาฟื้นฟู ซึ่งแนวทางนี้จะทำให้ได้พื้นที่ป่ากลับคืนมาจำนวนน้อย สังเกตได้จาก ข้อมูลที่รัฐใช้มาตรการทางกฎหมายปัจจุบันนั้น พบว่า ไม่ถึงหลัก 1 ล้านไร่ แต่กระทรวงทรัพยากรฯ ต้องการพื้นที่ถึง 26 ล้านไร่ อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการทางกฎหมายก็เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อสร้างค่านิยมให้ประชาชนเกรงกลัวกฎหมาย หากจะบุกรุกพื้นที่ป่า ซึ่งจะช่วยในการหยุดยั้งการบุกรุกได้ในระดับหนึ่ง
เมื่อถามว่า การเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ ภายใน 10 ปี มีโอกาสมากน้อยเพียงใด ผศ.ดร.ขวัญชัย ระบุว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องบูรณาการหลายแนวทางดังข้อเสนอข้างต้น ถ้าดำเนินการเพียงมาตรการเดียวจะไม่ประสบความสำเร็จ และนโยบายของชาติต้องมีความแน่นอนและต่อเนื่องในขับเคลื่อนด้วย อย่างไรก็ตาม แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแต่ละฉบับต่อการกำหนดพื้นที่ป่าเป้าหมายไม่ค่อยสอดคล้องกับนโยบายมากนัก
ทั้งนี้ การจัดสรรพื้นที่ป่าและที่ดินทำกิน ต้องจำแนกพื้นที่ โดยหากพบพื้นที่ใดไม่เหมาะสม เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารก็ไม่ควรถูกนำมาใช้ประโยชน์ แต่พื้นที่ใดเสื่อมโทรม และไม่เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร หรือไม่เปราะบางทางธรรมชาติ ต้องมีการจัดสรรให้แก่ประชาชน ภายใต้กฎเกณฑ์ของคณะกรรมการจะใช้ประโยชน์อย่างไรให้ได้ทั้งแง่เศรษฐกิจและอนุรักษ์ ซึ่งการจัดสรรที่ดินของไทยนั้น ไม่ว่าจะเป็น สปก. สทก. ล้วนมีกฎเกณฑ์ทั้งสิ้น ว่าจะต้องปลูกพืชสัดส่วนเท่าไหร่ แต่ควรบังคับใช้อย่างจริงจัง .