คลอดพ.ร.ก.3 ฉบับรวด! ล้อมคอกปัญหาการบินทั้งระบบ แก้ลำผลตรวจ "ICAO"
ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ทางการ "พระราชกำหนด 3 ฉบับ" รวด! เร่งปรับปรุงโครงสร้างระบบการบินประเทศไทยทั้งระบบ เผยตั้ง สนง.การบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขึ้น ใช้ชื่อย่อ "กพท.” คุมเข้มปฏิบัติตามกม.มาตรฐานสากล -แก้ลำผลตรวจธงแดง "ICAO"
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2558 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ จากการที่ประเทศไทยได้รับการตรวจสอบติดตามการดำเนินการภายใต้โครงการตรวจสอบการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยสากล (Universal Safety OversightAudit Program ; USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้เปลี่ยนวิธีการตรวจสอบจากเดิมในปี พ.ศ. 2539 ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศ (SARPs) เฉพาะในภาคผนวกที่ 1 ภาคผนวกที่ 6 และภาคผนวกที่ 8 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และในปี พ.ศ. 2548 ที่ใช้วิธีการตรวจสอบการปฏิบัติ ตามมาตรฐานและข้อพึงปฏิบัติระหว่างประเทศในทุกภาคผนวกที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัย (All Safety-related annex) มาเป็นวิธีการตรวจสอบแบบเฝ้าตรวจตราอย่างต่อเนื่อง (Continuous Monitoring Approach ; CMA) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา
ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวปรากฏผลของการขาดประสิทธิผลในการดำเนินการ(Lack of Effective Implementation ; LEI) ที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลความปลอดภัยการบินพลเรือนที่สำคัญรวม 8 ด้าน ซึ่งมีผลทำให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศการพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ของประเทศไทย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ประกาศในวันที่ 18 มิถุนายน 2558 ไม่เห็นชอบกับแผนแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าวที่ประเทศไทยได้จัดทำเสนอ
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นกรณีที่มีความจำเป็นรีบด่วนเพื่อมิให้ผลของการประกาศพบข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัยข้างต้นส่งผลต่อการถูกปรับลดระดับมาตรฐานการบินพลเรือนของประเทศไทยจากองค์การบริหารการบินอื่น รวมถึงการพิจารณาสิทธิการบินและการทำการบินของไทย อันจะส่งผลเสียหายอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการบิน ผลกระทบต่อประโยชน์และความปลอดภัยสาธารณะ และความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศและต้องปรับปรุงรูปแบบ โครงสร้าง และอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานด้านการบินพลเรือนของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล รวมทั้งให้เป็นไปตามข้อกำหนดและข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ พระราชกำหนดการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 52 มาตรา แบ่งออกเป็น 5 หมวด กับอีกหนึ่งบทเฉพาะกาล มีสาระสำคัญอยู่ที่ การให้จัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยขึ้น เรียกโดยย่อว่า “กพท.” และให้ใช้ชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า “The Civil Aviation Authority of Thailand” เรียกโดยย่อว่า “CAAT”เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณหรือกฎหมายอื่น และมีฐานะเป็นนิติบุคคล ทำหน้าที่ กำกับ ดูแล ควบคุม ส่งเสริม และพัฒนา กิจการการบินพลเรือน ทั้งในด้านนิรภัย การรักษาสิ่งแวดล้อม การรักษาความปลอดภัย การอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางอากาศ เศรษฐกิจการขนส่งทางอากาศ และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับกิจการการบินพลเรือนให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานสากล ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกำหนดนี้
ออกพระราชกำหนด โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) 2557 พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
(ดูพระราชกำหนดฉบับเต็มที่นี่http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/095/1.PDF)
ผู้สื่อข่าวรายด้วยว่า ในวันเดียวกัน ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งมีสาระสำคัญอยู่ในการแก้ไขข้อกฎหมายพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 หลายมาตราเพื่อรองรับอำนาจหน้าที่การดำเนินงานของ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย
โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกำหนดฉบับนี้ คือ โดยที่ได้มีการจัดตั้งสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นการปรับปรุงโครงสร้าง และรูปแบบของหน่วยงานด้านการบินพลเรือน ตามข้อเสนอแนะขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ และมีการยุบเลิกกรมการบินพลเรือน โดยเปลี่ยนเป็นกรมท่าอากาศยาน
ดังนั้น เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติราชการตามโครงสร้างเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพจึงจำเป็นต้องตราพระราชกำหนดนี้ด้วย
(ดูพระราชกำหนดฉบับเต็มที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/095/17.PDF)
นอกจากนี้ ราชกิจจานุเบกษา ยังได้เผยแพร่ พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พ.ศ. 2545 พ.ศ. 2558 เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของส่วนราชการในกรมการบินพลเรือนเสียใหม่ โดยแยกงานการกำกับดูแลออกเป็นสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยและงานเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลือกรณีอากาศยานประสบภัย งานนิรภัยการบิน และสอบสวนหาสาเหตุของอุบัติเหตุอากาศยานให้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของสำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม รวมทั้งเปลี่ยนชื่อกรมการบินพลเรือนเป็นกรมท่าอากาศยาน เพื่อให้สอดคล้องกับงานในหน้าที่หลักที่ปรับปรุงใหม่ด้วย ซึ่งเป็นผลมาจาการที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศได้ตรวจสอบพบข้อบกพร่องในด้านโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของกรมการบินพลเรือน โดยเฉพาะการแบ่งแยกอำนาจหน้าที่ระหว่างหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลและหน่วยงานผู้ให้บริการด้วย
(ดูพระราชกำหนดฉบับเต็มที่นี่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2558/A/095/28.PDF)