แก้วิกฤติภัยแล้ง-ท่วม อดีตสปช.หนุนรัฐใช้ม. 44 ตั้งทีมบริหารจัดการน้ำ
แก้วิกฤตท่วม-แล้ง นักวิชาการแนะประชาชนต้องรู้จักปรับตัว ชวนเพิ่มแหล่งน้ำด้วยการขุดบ่อขนาดเล็ก เผยสถานการณ์น้ำในเขื่อนต่ำกว่าปกติ ขอภาคประชาสังคมสร้างความเข้มแข็งจัดการบริหารน้ำเองอย่าหวังพึ่งรัฐบาล
1 ตุลาคม 2558 หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจร่วมกับบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) จัดงานเสวนา “Roadmap บริหารจัดการน้ำ แก้วิกฤติภัยแล้ง-น้ำท่วม” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท
นายธนรัชต์ ภุมมะกสิกร ผู้ช่วยผู้ว่าการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ว่า ข้อมูล่าสุดปัจจุบันนี้ เขื่อนภูมิพลมีน้ำใช้ได้อยู่ 800 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เขื่อนสิริกิตต์ประมาณ 1,400 ล้านลบ.ม. รวมสองเขื่อนมีน้ำอยู่ 2,000 กว่าล้านลบ.เมตร ซึ่งคาดการณ์ว่าสิ้นฤดูฝนจะได้น้ำประมาณ 3,500 ล้านลบ.ม.
ทั้งนี้โดยปกติในแต่ละปี แต่ละเขื่อนจะปล่อยน้ำมาใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ต่อปี ปีละประมาณ 8,000 ล้าน ลบ.เมตร ดังนั้นน้ำที่คาดว่าจะมีใช้ในเขื่อน 3,500 ล้าน ลบ.เมตร จึงทำให้ขาดน้ำอยู่ถึง 7,000 ล้าน ลบ.เมตร ฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีวิธีการบริหารให้พอต่อการใช้น้ำ
ส่วนการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังน้ำจะมีปัญหาหรือไม่ นายธนรัชต์ กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ไฟฟ้าพลังงานน้ำเพียง 2% ดังนั้นจึงไม่มีผลกระทบ เพราะหากไม่พอสามารถนำเข้าจากพลังงานอื่นได้
"การแก้ปัญหาระยะสั้นสำหรับภัยแล้งอยากให้ประชาชนทุกคนใช้น้ำอย่างคุ้มค่าที่สุดและให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนในระยะยาวจำเป็นที่จะต้องเพิ่มแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าให้มากขึ้น"
ด้านนายวิวัฒน์ ศัลยกำธร ประธานสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง และมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และอดีตสมาชิกสภาปฏิรูป (สปช.) กล่าวถึงพื้นที่เกษตรในเขตชลประทานนั้นมี 20% นอกเขตชลประทาน 80% หากดูสถานการณ์น้ำในเขื่อนขณะนี้เกิดวิกฤติต่อเกษตรกรแน่นอน ซึ่งไม่มีทางเลือกที่จะหนีวิกฤตครั้งนี้ ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตหวังแต่จะพึ่งรัฐบาล วันนี้หวังพึ่งรัฐบาลไม่ได้แล้ว ต้องลุกขึ้นมาช่วยตัวเอง
"เกษตรกรที่มีจะมีปัญหาคือกลุ่มที่อยู่ในเขตชลประทาน ส่วนคนที่อยู่นอกเขตจะมองเรื่องท่วมแล้งเป็นความเคยชิน เพราะเจอเหตุการณ์เหล่านี้เป็นเรื่องปกติ เรียกว่าผ่านการฝึกฝนดิ้นรนมาแล้ว"
นายวิวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทั้งคนเมืองและคนชนบทใช้น้ำแบบสุรุ่ยสุร่าย ไม่มีหลักการบริหารจัดการน้ำ ทุกครั้งมีปัญหารอให้คนอื่นเข้ามาแก้ไข เพราะถูกสังคมเลี้ยงดูเอาใจ ไม่รู้จักพึ่งพาตัวเอง จึงทำให้คนไทยกลายเป็นขอทานทั้งแผ่นดิน ความจริงวันนี้เมื่อรู้ว่าจะมีวิกฤตสิ่งที่ต้องทำคือปลุกทุกคนให้มาช่วยกัน อย่างน้อยก็ช่วยกันประหยัดน้ำ
ส่วนหลักการในการแก้ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการน้ำตามร่างพระราชบัญญัติการบริหารจัดการน้ำของสภาปฏิรูปแห่งชาตินั้น อดีตสปช. เห็นด้วยในหลักการ แต่ในทางปฏิบัติเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตที่เดินมาเร็วมาก หากรอจะไม่ทันการ ทั้งนี้อยากให้รัฐบาลใช้อำนาจพิเศษ หรือมาตรา 44 ตั้งทีมบริหารจัดการน้ำโดยเลือกคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านนี้โดยเฉพาะเข้ามาทำงาน อำนาจพิเศษที่ท่านมีควรใช้เพื่อประโยชน์ของประชาชน
“ถ้าจะเตรียมเผชิญกับภัยพิบัติ อยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า ต้องจัดทีมแบบพวกผม ถ้าไม่ใช่คนอย่างพวกผมไม่มีทางแก้ปัญหาได้ การจะจัดการปัญหาแล้วไปอิงกลุ่มข้าราชการหรือแต่งตั้งคนกลุ่มนี้มาจัดการโดยตำแหน่งการแก้ปัญหาไม่มีทางรอด จะพาคนออกจากป่าอย่าใช้ ศาสตราจารย์ ให้ใช้พรานป่า ถ้าคนไม่รู้จริงไม่มีข้อมูลแม่น เขาไม่รู้ว่าจะแก้ปัญหาให้ตรงจุดได้อย่างไร”
ทั้งนี้นายวิวัฒน์ กล่าวด้วยว่า ในการจัดการน้ำอยากให้ประชาชนทุกคนเริ่มต้นที่ตัวเอง โดยใครมีพื้นที่ก็จัดการขุดบ่อน้ำเล็กๆเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ รวมทั้งองค์การจัดการบริหารน้ำ หากไม่มีใครริเริ่มก็ขอให้ประชาชนทุกคนเริ่มกันเอง อย่าไปรอหวังพึ่งพาใคร เพราะสถานการณ์วันนี้ทุกอย่างต้องจัดการ
ขณะที่รศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร ปรึกษาอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวถึงการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทยว่า จากบทเรียนที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีปัญหาเรื่องการบริหารการจัดการที่ผิดพลาด เรื่องธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่การบริหารจัดการสามารถที่จะแก้ไขได้ ดังนั้นในเชิงพื้นที่จะต้องสร้างความเข้มแข็งในการจัดการช่วยเหลือตัวเองของประชาชนและชุมชน สร้างความพร้อมในการสั่งการและดำเนินการ ในยามน้ำท่วมประชาชนจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะสู้ อยู่ หนี ยามแล้งก็ต้องเรียนรู้ที่จะปรับตัว
"ปัญหาเชิงระบบในส่วนของนโยบายที่ไม่ชัดเจน ทิศทางการบริหารที่ไม่เป็นเอกภาพ การใช้งบประมาณในการบริหารจัดการอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ข้อมูลที่เข้าถึงยาก วันนี้ต้องสร้างความสมดุลของโครงสร้างเหล่านี้ โดยเฉพาะการผลักดันให้มีคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ ที่สำคัญคือต้องออกมารณรงค์เรื่องการใช้น้ำอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม"
ส่วนดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวถึงปรากฎการณ์เอลนินโญ่ในปีหน้าอาจจะทรงตัวหรือมีความรุนแรงขึ้น ดังนั้นในช่วงต้นฤดูฝนของปี 2559 ฝนจะตกน้อยกว่าปกติ ความรุนแรงเรื่องภัยแล้งอาจจะมากยิ่งขึ้น ซึ่งการใช้น้ำของภาคประชาชนจำเป็นต้องให้มีความคุ้มค่า