นักวิชาการแนะแก้จราจรกทม.ติดขัด เบ็ดเสร็จองค์กรเดียว-ยกระดับจุดเชื่อมต่อคมนาคม
นักวิชาการคาดปี 58 เศรษฐกิจไทยโต 2.7% มีปัจจัยจากลงทุนระบบขนส่งน้อย ด้านผอ.สำนักการจราจรฯ กทม. เผยรัฐสร้างระบบราง หวังแก้ปัญหาโครงข่ายถนน เชื่อช่วยรองรับ ปชช.สูงสุด 7 ล้านเที่ยวคน/วัน
วันที่ 30 กันยายน 2558 คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรุงเทพมหานคร จัดประชุมระดมสมอง เรื่อง ท้าทายไทย:ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ณ อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน
ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร วิทยาลัยพัฒนามหานคร ม.นวมินทราธิราช กล่าวถึงผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ส่วนใหญ่คิดว่า ปัญหาจราจรเกิดจากการไม่เคารพกฎหมายอย่างจริงจัง ทำให้ตำรวจจราจรต้องเข้มงวดกวดขันวินัย นอกจากนี้ยังมีการใช้รถยนต์มากเกินไป ในขณะที่ถนนมีน้อย รวมถึงไม่มีรถไฟฟ้าให้บริการอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ความแออัดในการจราจรนั้นมีมาทุกยุคสมัย แสดงว่าปัญหาดังกล่าวอยู่กับมนุษย์มาตลอด
“ในความคิดการจราจรติดขัดเป็นเรื่องปกติ และหากมีระบบจัดการจราจรที่ดีจะช่วยรองรับเศรษฐกิจได้ โดยที่ผ่านมาไทยให้ความสำคัญสูงสุดกับการขนส่งในเมือง ระหว่างเมือง และต่างประเทศ ตั้งแต่เริ่มแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 1” นักวิชาการ ม.นวมินทราธิราช กล่าว และว่า การลงทุนตั้งแต่ปี 2504-18 รัฐบาลใช้เงิน 15% ของงบประมาณ ทำระบบขนส่ง อีก 15 ปี ต่อมาเหลือเพียง 8% 7% และ 5% ตามลำดับ กระทั่งปัจจุบัน ปี 2554-58 มีการใช้เงินเพียง 3% เป็นหนึ่งสาเหตุการจราจรติดขัด
ดร.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ไทยจะเริ่มปีงบประมาณ 2559 กระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณ 138,886 ล้านบาท คิดเป็น 5.1% ของงบประมาณทั้งประเทศ 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมเงินเดือนของบุคลากรด้วย ดังนั้นการใช้เงินลงทุนคงอยู่ที่ 3% เช่นเดิม ขณะที่จีนมีเงินลงทุนด้านระบบขนส่งปีละ 10% ของงบประมาณ ทำให้มีความก้าวหน้าตามหลังยุโรปและสหรัฐฯ
ส่วนการลงทุนระบบขนส่งเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจอย่างไร นักวิชาการ ม.นวมินทราธิราช กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 1 ปี 2504-09 ไทยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 8.4% ขณะที่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 2 ปี 2510-14 ไทยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 7.2% กระทั่งแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 6 ปี 2530-34 ไทยขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ 10.9% และเริ่มลดลงเรื่อย ๆ อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่า ปี 2558 จะอยู่ที่ 2.7% ตัวเลขที่ลดลงนี้มาจากการลงทุนระบบขนส่งน้อยได้
ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผอ.สำนักการจราจรและขนส่ง กรุงเทพฯ กล่าวว่า เส้นทางสัญจรใน กทม.มีน้อย ขณะที่คนสัญจรมีมาก ทำให้การจราจรติดขัด ซึ่งเกิดขึ้นมานานแล้ว แม้จะมีโครงการก่อสร้างถนนสายใหม่ แต่ดำเนินการได้ยาก ยกตัวอย่าง การก่อสร้างถนนพุทธมณฑลสาย 1 และถนนอรุณอมรินทร์ ต้องใช้เวลานาน 60 ปี หรือถนนพหลโยธิน-รัตนโกสินทร์สมโภช ใช้เวลานาน 22 ปี
อย่างไรก็ตาม ไทยเป็นประเทศที่มีปัญหาด้านโครงข่ายถนน รัฐบาลจึงตอบโจทย์ด้วยการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางราง ซึ่งเชื่อว่าระบบดังกล่าวจะเป็นคำตอบของเมือง ปัจจุบันมีเส้นทาง 85 กม. รองรับผู้สัญจรประมาณ 1 ล้านเที่ยวคน/วัน คาดว่า เมื่อก่อสร้างเสร็จทุกเส้นทางในปี 2572 จะรองรับผู้สัญจรสูงถึง 7 ล้านเที่ยวคน/วัน แต่ต้องพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางสำหรับประชาชนด้วย รวมถึงปฏิรูป รถเมล์ ขสมก. ให้ได้มาตรฐาน
ขณะที่ รศ.จิตติชัย รุจนกนกนาฎ รอง ผอ.สถาบันการขนส่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ไทยไม่เคยมีองค์กรแก้ปัญหาจราจรเบ็ดเสร็จในองค์กรเดียว ทำให้เมื่อมีปัญหามักกล่าวโทษหน่วยงานอื่น หรือกล่าวโทษในหน่วยงานเดียวกัน ซึ่งประเทศอื่นในโลกจะร่วมมือบริหารจัดการ ดังเช่น นิวยอร์ก มีการจัดตั้งหน่วยงานเดียวที่มีผู้แทนแต่ละองค์กรเข้ามาดูแลระบบจราจรขนส่งทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็น รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง ถนน หรือจุดเชื่อมต่อ มิได้กระจัดกระจายเหมือนไทย
“ปัจจุบันมีนโยบายเน้นการใช้ประโยชน์จากการสัญจรทางน้ำ ผ่านลำคลองที่เชื่อมต่อไปยังจุดต่าง ๆ ทั้งนี้ ศึกษาให้ดี จะพบว่า จุดเชื่อมต่อเส้นทางระหว่างท่าเรือกับป้ายรถโดยสารประจำทางไม่มีความปลอดภัย ดังนั้น ระบบการขนส่งจะเกิดประโยชน์ ต้องพัฒนาเส้นทางเชื่อมต่อให้ดีด้วย” รอง ผอ.สถาบันการขนส่ง จุฬาฯ ระบุ .