ผู้ว่าฯ กทม.เสนอแก้ปัญหาจราจรสำเร็จต้องคุมการกำเนิดรถยนต์
ปี 2572 คาดรถยนต์ใน กทม.เพิ่มเป็น 10 ล้านคัน ผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ ชี้ลงทุนหลานแสนล้าน สร้างรถไฟฟ้าไม่ช่วยลดปัญหาจราจร ยกเว้นสร้างวัฒนธรรมสัญจรใหม่ เชื่อหากไม่ทำอนาคตความเร็วจราจรลดลงเหลือ 12 กม./ชม. เผยคืบหน้าโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยา 14 กม. เลิกกังวลเเบบก่อสร้าง ยันคำนึงถึงวิถีชีวิตเเต่ละพื้นที่
วันที่ 30 กันยายน 2558 คณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับวิทยาลัยพัฒนามหานคร มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช และกรุงเทพมหานคร จัดประชุมระดมสมอง เรื่อง ท้าทายไทย:ปัญหาจราจรในกรุงเทพมหานคร ณ อาคารศรีจุลทรัพย์ เขตปทุมวัน โดยมี ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธาน
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดเผยถึงข้อมูลการจราจรในกรุงเทพฯ ว่า ปัจจุบันมีรถยนต์ 8 ล้านคัน ซึ่งจำนวนรถมีมากกว่าจำนวนประชากรในทะเบียนบ้านเกือบ 2 ล้านคัน ขณะที่ผิวจราจรมีเพียง 0.8 กม./ตร.กม. แตกต่างจากหลายประเทศทั่วโลก เช่น โตเกียวมีผิวจราจร 19 กม./ตร.กม. นิวยอร์ก 13 กม./ตร.กม. ลอนดอน 9 กม./ตร.กม. สิงคโปร์ 5 กม./ตร.กม. และฮ่องกง 2 กม./ตร.กม.
สำหรับสัดส่วนการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ มี 17 ล้านเที่ยวคน/วัน มีเพียงร้อยละ 40 หรือประมาณ 7 ล้านคน ใช้ระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ อีกร้อยละ 60 หรือประมาณ 10 ล้านคน ใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล จากข้อมูลระบุข้างต้นจึงเป็นสาเหตุทำให้เกิดการจราจรติดขัด
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่อว่า แนวโน้มอนาคตไม่ทำให้สบายใจมากนัก เพราะขณะนี้มีรถยนต์ส่วนบุคคลจดทะเบียนใหม่วันละ 3.5 พันคัน ขณะที่การสร้างถนนเพิ่มลำบากมากขึ้น เพราะประชาชนไม่ต้องการให้เวนคืนที่ดินหรือโยกย้ายถิ่นฐาน อีกทั้งมีช่องทางร้องเรียน อย่างไรก็ตาม เข้าใจได้ เเต่ก็มีความพยายามแก้ไขปัญหาจราจร โดยใช้ 2 มาตรการหลัก ได้แก่
1.ยาบรรเทาอาการ เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง โดยเฉพาะสัญจรทางน้ำ ยกตัวอย่าง คลองภาษีเจริญ เพื่อป้อนผู้โดยสารเข้าสู่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสบางหว้า นอกจากนี้ยังมีการปรับปรุงถนน จัดตัดทางแยก สร้างเส้นทางจักรยาน และเพิ่มประสิทธิภาพคอขวด
2.ยารักษาโรค ระบบขนส่งมวลชนทางรางแล้วเสร็จ ระยะทาง 300 กม.ภายในปี 2572 เพื่อเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้เดินทาง แต่จำนวนยานพาหนะจะเพิ่มขึ้นจาก 8 ล้านคัน เป็น 10 ล้านคัน การเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้นจาก 17 ล้านเที่ยวคน/วัน เป็น 22 ล้านเที่ยวคน/วัน
“สัดส่วนการใช้ยานพาหนะไม่ลดลง แม้จะมีรถไฟฟ้า เนื่องจากระบบขนส่งมวลชนดังกล่าวแบ่งผู้โดยสารจากรถประจำทางเท่านั้น จึงชี้ให้เห็นว่า การลงทุนหลายแสนล้านบาท ไม่ช่วยลดการใช้ยานพาหนะได้” ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าว และว่า ยกเว้นต้องสร้างวัฒนธรรมการเดินทางและใช้ชีวิตใหม่ แต่ก็นับเป็นเรื่องยาก ทั้งนี้ แก้ปัญหาไม่ได้ ความเร็วเฉลี่ยจราจรจะลดลงจากปัจจุบัน 19 กม./ชม. เหลือเพียง 12 กม./ชม. ในปี 2572
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุด้วยว่า การแก้ปัญหาให้สำเร็จต้องคุมการกำเนิดรถยนต์ อย่างน้อยที่สุด ผู้ประสงค์ซื้อรถยนต์ต้องแสดงหลักฐานมีพื้นที่จอดรถ และพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจต้องเก็บเงินในบางช่วงเวลา หรือบังคับให้ผู้จอดรถในย่านใจกลางเมืองจ่ายค่าจอดรถสูงขึ้น เพื่อสร้างแรงจูงใจให้จอดรถไว้ที่บ้าน
ตลอดจนพัฒนาระบบรถประจำทางและเรือ ซึ่งมีแผนจะพัฒนาในคลองเปรมประชากร คลองลาดพร้าว และสร้างเส้นทางจักรยานเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาคือ ปัจจุบันมีหน่วยงานกว่า 20 แห่ง เกี่ยวข้องกับการดูแลจราจรในกรุงเทพฯ ซึ่งทำให้กระจาย ดังนั้นต้องทำให้เกิดการรวมศูนย์บริหารจัดการขึ้นด้วย
เมื่อถามเพิ่มเติมถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาริมน้ำเจ้าพระยา ระยะทาง 14 กม. ซึ่งหลายฝ่ายกังวลการออกแบบจะกระทบต่อวิถีชีวิตริมแม่น้ำ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ปัจจุบันยังไม่มีการออกแบบ แต่ยืนยันจะคำนึงถึงพื้นที่ได้รับผลกระทบที่มีความหลากหลาย ทั้งด้านศาสนา ธุรกิจ ที่สำคัญ มีโบราณสถาน ดังนั้น การออกแบบให้เหมือนกันตลอดแนวเป็นเรื่องยาก อย่างไรก็ตาม แบบก่อสร้างจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่นั้น ยังตอบไม่ได้ โดยยอมรับยังไม่ได้ติดตามความคืบหน้าล่าสุดเป็นอย่างไร .