‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ :พลิกฟื้นปฏิรูปที่ดิน แก้สังคมเหลื่อมล้ำ ไม่เหนือบ่ากว่าแรง
“ปัญหาที่ดินหลุดมือ เนื่องจากการทำเกษตรกรรมต้องใช้เงินลงทุน จึงต้องกู้ยืมจาก ธ.ก.ส. โดยการจำนองที่ดินไว้ แต่ต่อมาที่ดินผืนนั้นก็จะสูญเสียไป แม้รัฐบาลจะจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. แต่ก็นำไปขาย สุดท้ายวนกลับมาวงจรเดิม เลือดจึงไหลไม่หยุด”
ไทยมีความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงฐานทรัพยากรที่ดิน และกำลังเป็นปัญหาที่กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ จากจำนวนที่ดินออกเอกสารสิทธิทั้งหมด 127 ล้านไร่ กว่า 90% กลับไปกระจุกตัวอยู่ในมือกลุ่มบุคคลเพียง 10% ของประชากรทั้งประเทศ พื้นที่จำนวนมากถูกทิ้งร้างไม่ใช้ประโยชน์ ขณะที่เกษตรกรรายย่อยไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านครัวเรือน ต้องเช่าที่ดินทำกิน และอีก 811,892 ครัวเรือนไม่มีที่ดินของตนเอง
ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงนี้ ‘ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล’ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชวนผู้เข้าร่วมเสวนา ‘แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยยุทธศาสตร์จัดการที่ดินทำกินให้ผู้มีรายได้น้อย’ ตั้งคำถามไปยังรัฐบาลจะมีนโยบายแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างไร ซึ่งเชื่อว่า คงตอบไม่ค่อยได้
ตรงกันข้าม หากตั้งคำถามถึงนโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโต 5% เขาบอกว่า รัฐบาลจะตอบได้ว่าต้องดำเนินการอย่างไร เช่น การผลักดันส่งออกมากขึ้น ส่งเสริมการลงทุนในประเทศ ส่งเสริมอสังหาริมทรัพย์ หรือการลดภาษีนำเข้า เป็นต้น
คำถามเปิดประเด็นข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความใส่ใจในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำมีน้อย เมื่อเปรียบเทียบกับปัญหาอื่น อย่างไรก็ตาม ดร.กอบศักดิ์ คิดว่า จะต้องผลักดันนโยบายที่เหมาะสมต่อไป เพื่อทำให้คนส่วนใหญ่ของประเทศ ซึ่งเปรียบดังฐานของพีระมิดอยู่ได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน และคงไม่เหนือบ่ากว่าแรง หากจะพลิกฟื้นขึ้นมา
“จากการศึกษาดูงานมา มั่นใจว่า ชาวบ้านสามารถดูแลกันเองได้ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลมักทำให้เกิดความทุกข์ ยามต้องการทำเกษตรผสมผสาน รัฐบาลกลับส่งเสริมทำเกษตรเชิงเดี่ยว ตัดไม้ ทำลายป่า จนภูเขาหัวโล้น สุดท้ายก็เลี้ยงตนเองไม่ได้” อดีตสมาชิก สปช. บอก
ดร.กอบศักดิ์ เปิดเผยถึงปัญหาที่ดินของไทยปัจจุบันเกิดการทับซ้อนกับพื้นที่ป่า เนื่องจากนโยบายประกาศเขตป่า ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านที่อาศัยในพื้นที่นั้นมาก่อนหลายร้อยปี และไม่มีโฉนดที่ดิน ต้องอาศัยอยู่ด้วยความยากลำบาก นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ดินหลุดมือ ที่ดินรกร้างไม่ใช้ประโยชน์ และการบุกรุกทำลายป่า
นับวันปัญหาเหล่านี้ยิ่งย่ำแย่ แม้ไทยจะมีที่ดินใช้ประโยชน์โดยรวม 320.7 ล้านไร่ แบ่งเป็น พื้นที่ป่าไม้ 107 ล้านไร่ พื้นที่การเกษตร 150 ล้านไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ 64 ล้านไร่ แต่ข้อเท็จจริง พบว่า พื้นที่การเกษตรครึ่งหนึ่ง หรือ 52% เช่าทำการเกษตร เกษตรกร 72% ไม่มีความมั่นคงด้านที่ดินทำกิน
อีก 20% นำที่ดินไปจำนอง หรือขายฝาก ซึ่งมีความเสี่ยงจะหลุดมือในช่วงต่อไป นับเป็นที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ ดังนั้น จึงเหลือกรรมสิทธิ์ในที่ดินเพียง 28% จึงน่าคิดว่า หากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป เกษตรกรไทยจะอยู่กันอย่างไร เพราะปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดินไหลออกอย่างต่อเนื่อง
“ปัญหาที่ดินหลุดมือ เนื่องจากการทำเกษตรกรรมต้องใช้เงินลงทุน จึงต้องกู้ยืมจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดยการจำนองที่ดินไว้ แต่ต่อมาที่ดินผืนนั้นก็จะสูญเสียไป แม้รัฐบาลจะจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. แต่ก็นำไปขาย สุดท้ายวนกลับมาวงจรเดิม เลือดจึงไหลไม่หยุด” เขากล่าว และว่า บางคนมีที่ดินสูงถึง 6 แสนไร่ จากการได้มาเพียง 1 ชั่วอายุคน แล้วอีก 30 ปีข้างหน้า จะกลายเป็นเท่าไหร่ เมื่อเป็นเช่นนี้ จะแก้ไขปัญหาเลือดไหลไม่หยุดอย่างไร
(สัดส่วนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตร)
การที่ที่ดินหลุดมือ ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย ดร.กอบศักดิ์ ยกตัวอย่าง พื้นที่เขตชลประทานมีที่ดินประมาณ 30 ล้านไร่ และเหมาะสมสำหรับการทำนาปลูกข้าว แต่ถูกนำไปใช้ผิดประเภท โดยประมาณ 5 ล้านไร่ เมื่อหลุดมือ ถูกนำไปใช้สร้างโรงงานอุตสาหกรรม รีสอร์ท และบ้านจัดสรร ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ที่ดินของ ส.ป.ก.จัดสรรเพื่อเกษตรกรรมถูกครอบครองโดยบุคคลไม่ใช่เจ้าของสิทธิ์เดิมที่ได้รับ คือ เกษตรกร และไม่ใช่คนที่มีชื่อในการถือครอง ส.ป.ก.4-01 กว่า 50% หมายความว่า ยิ่งพยายามแก้ไขด้วยการนำที่ดินให้แก่ชาวบ้าน ที่ดินก็หลุดมือไปสู่กลุ่มทุน พี่น้องถูกใช้เป็นเครื่องมือในการนำที่ดินของรัฐมาอยู่ในมือ
เขากล่าวต่อว่า เกษตรกรส่วนหนึ่งจึงอพยพเข้าเมือง นำไปสู่ปัญหาคนจนเมือง ซึ่งข้อมูลจากการเคหะแห่งชาติ และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) พบคนจนในเมืองที่ยากจนที่อยู่อาศัยมี 9.4 ล้านคน หรือประมาณ 2.4 ล้านครัวเรือน คิดเป็นสัดส่วน 30% ของประชากรเมือง
จากจำนวนนี้มีปัญหาขาดความมั่นคงในการอยู่อาศัย 3,750 ชุมชน 1.14 ล้านครัวเรือน ทำให้หลายคนต้องบุกรุกที่ดินรัฐ คลอง รถไฟ หรือที่ดินสาธารณะ 905 ชุมชน 1.6 แสนครัวเรือน หรือ 7.24 แสนคน
“ผมได้เข้าไปสอบถามชาวบ้านที่อาศัยในชุมชนบ่อนไก่ พบสภาพแวดล้อมเต็มไปด้วยน้ำครำ น้ำท่วมขัง ชาวบ้านบอกว่า ทุกครั้งที่เดินออกจากบ้าน ไม่รู้ว่ากลับมาจะมีบ้านอยู่หรือไม่ เพราะบ้านของบางคนถูกไฟไหม้แล้ว 2 ครั้ง และทุกคนต้องนอนห้องเดียวกัน สิ่งนี้จึงไม่ใช่ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” อดีตสมาชิก สปช. กล่าว และว่า หลังจากนั้นพื้นที่ด้านข้างได้จัดสร้างโครงการบ้านมั่นคง ราคาหลังละ 2 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 2,500 บาท นานสูงสุด 15 ปี ซึ่งชาวบ้านอาศัยอยู่อย่างดี รัฐบาลจึงควรผลักดันเรื่องเหล่านี้
ดร.กอบศักดิ์ ยังระบุถึงที่ดินรัฐและเอกชนถูกทิ้งร้างไม่ได้รับการจัดการ หรือใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ โดยชี้ให้เห็นข้อมูลว่า ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 200 ไร่ ใช้ประโยชน์ 71% ผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 1 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์ 30% และผู้ครอบครองที่ดินมากกว่า 5 หมื่นไร่ ใช้ประโยชน์ 3% ซึ่งการกักตุนที่ดินโดยไม่ใช้ประโยชน์ ทำให้ประเทศสูญเสียรายได้ปีละ 1 แสนล้านบาท
สำหรับการแก้ไขปัญหาให้ประสบความสำเร็จ เขาเสนอแนะให้จัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.ในรูปที่ดินแปลงใหญ่ (โฉนดชุมชน) ให้ชุมชนบริหารจัดการกันเอง โดยมีกฎห้ามขาย จะช่วยให้ไม่เกิดการหลุดมือของที่ดินไปสู่นายทุน และตอบโจทย์ที่ดินทับซ้อนพื้นที่ป่า
ส่วนชาวบ้านที่มีโฉนดที่ดิน รัฐบาลต้องต่อลมหายใจ เพื่อให้สามารถรักษาที่ดินไว้ได้ โดยการตั้งธนาคารที่ดิน เป็นที่พึ่งพิงกับคนยามยาก และต้องส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็ง รู้จักการทำบัญชีครัวเรือน เพื่อจะสามารถอยู่ได้
เขาขยายความธนาคารที่ดินว่า เป็นองค์กรตั้งขึ้นเพื่อบำบัดทุกข์ของชาวบ้าน ไม่ให้ที่ดินหลุดมือ และจัดสรรที่ดินรกร้างมาสู่ชาวบ้าน โดยอาศัยโครงข่ายจาก ธ.ก.ส. และชุมชนต่าง ๆ ช่วยเหลือ เนื่องจากธนาคารแห่งนี้ไม่มีสาขา เพื่อไม่ให้เกิดภาระ
“ธ.ก.ส.ปล่อยสินเชื่อ และผู้กู้มีที่ดินจะหลุดมือ ธ.ก.ส.จะมีหน้าที่แจ้งมายังธนาคารที่ดิน ณ กรุงเทพฯ เพื่อรับรองว่า ที่ดินดังกล่าวเหมาะแก่เกษตรกรรม ไม่ใช่ที่ดินรกร้าง หลังจากนั้นจะสอบถามไปยังชุมชนว่า เจ้าของที่ดินทำอาชีพหรือไม่ เพื่อให้เกิดการค้ำประกัน และธนาคารจะรับที่ดินผืนนั้นไว้”
ดร.กอบศักดิ์ ระบุอีกว่า ธนาคารที่ดินมีเป้าหมายดำเนินการจัดหาที่ดินให้แก่เกษตรกรและคนยากจนไม่น้อยกว่า 1 แสนรายในช่วง 5 ปีแรก ของการดำเนินการ และ 3 แสนรายในช่วง 10 ปี โดยคาดว่า จะได้รับประโยชน์ในการบรรเทาความทุกข์ให้ชาวบ้านที่จะสูญเสียที่ดิน รักษาที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและอาชีพเกษตรกร ลดความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจของประเทศ และการเกิดประโยชน์และประสิทธิภาพในการใช้ที่ดิน
ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องทำต่อไป คือ การบรรจุเรื่องปฏิรูปที่ดินไว้ในรัฐธรรมนูญ ตลอดจนขับเคลื่อนกฎหมายสำคัญที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากร พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน และ พ.ร.บ.ภาษีที่ดิน มุ่งเน้นการเก็บภาษีที่ดินรกร้าง
ทั้งหมดนี้เป็นข้อเรียกร้องที่ชาวบ้านต้องการ เชื่อว่า หากเดินหน้าในลักษณะนี้ได้ จะเปลี่ยนประเทศไทยได้อย่างแท้จริง .