นับวันไทยเลือดไหลไม่หยุด ‘กอบศักดิ์’ แนะสกัดที่ดินหลุดมือ บรรจุลดเหลื่อมล้ำในร่าง รธน.
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล วิพากษ์เหลื่อมล้ำสังคมไทย พบ 25 ปี เศรษฐกิจเติบโต แต่กระจายรายได้ไม่ดีขึ้น ปัญหาที่ดินหลุดมือรุนแรง แนะบรรจุแนวคิดปฏิรูป-ตั้งธนาคารที่ดิน ในร่าง รธน.ฉบับใหม่ ส่งเสริมเกษตรกรเข้มแข็ง ทำบัญชีครัวเรือน
วันที่ 29 กันยายน 2558 วิทยาลัยพัฒนาศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ร่วมกับวิทยาลัยนวัตกรรม ม.รังสิต, สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน), กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน, ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) และเครือข่ายที่ดินแนวใหม่ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองแห่งชาติ (คทช.) จัดเสวนา ‘แก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยยุทธศาสตร์จัดการที่ดินทำกินให้ผู้มีรายได้น้อย’ ณ ห้องประชุมประกอบ หุตะสิงห์ อาคารอเนกประสงค์ 1 ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหารุนแรงของไทย ซึ่งในขณะที่ประเทศมีการพัฒนามากขึ้น แต่การกระจายรายได้ช่วง 25 ปีที่ผ่านมากลับไม่ดีขึ้น โดยหากแบ่งเป็นพี่น้อง 5 คน คนโตเป็นมีฐานะรวยที่สุด และคนสุดท้องมีฐานะยากจนที่สุด พบคนโตรับส่วนแบ่งรายได้ 54% ต่อปี ขณะที่คนสุดท้องรับส่วนแบ่ง 4.7% ต่อปี แตกต่างกันประมาณ 10 เท่า
“สิ่งที่น่ากังวล คือ เมื่อคิดเป็นเม็ดเงิน พบคนสุดท้องมีรายได้เพิ่มจากประมาณ 1,000 บาท เป็น 2,000 บาท ขณะที่คนโตกลับมีรายได้เพิ่มจาก 3,000 เป็นกว่า 20,000 บาท”
นอกจากรายได้ไม่เท่ากันแล้ว อดีตสมาชิก สปช. กล่าวต่อว่า สินทรัพย์ยังมีความเหลื่อมล้ำกันแย่กว่าการกระจายรายได้ เพราะพบคนโตมีสินทรัพย์เกือบ 80% ของที่ดินทั้งหมด บางคนมีที่ดินกว่า 6 แสนไร่ ขณะที่อีกหลายคนไม่มีที่ดิน ส่วนคนสุดท้องมีที่ดิน 0.2% เท่านั้น ซึ่งนอกจากรายได้มีสัดส่วนแตกต่างกันแล้ว สินทรัพย์ยังเเตกต่างราวฟ้ากับดิน และกำลังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ปัจจุบันที่ดินของไทยมีปัญหา 4 ประการ คือ
1.ที่ดินทับซ้อน สืบเนื่องจากความพยายามขยายพื้นที่ป่าในอดีต โดยบังคับใช้กฎหมายให้ทุกพื้นที่ไม่มีโฉนดที่ดินให้เป็นพื้นที่ป่าทั้งหมด
2.ที่ดินหลุดมือ จากโฉนดเกษตรกรที่มีอยู่แล้ว แต่ลมฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ราคาไม่เป็นใจ จนเป็นหนี้ ส่งผลให้ที่ดินตกเป็นของเอกชน
3.ที่ดินรกร้าง ตั้งคำถามว่า ในเมื่อไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีโอกาสทางธุรกิจมากมาย แต่ยังมีพื้นที่รกร้างด้วย จึงต้องกลับมาแก้ไข
4.บุกรุกพื้นที่ป่า ปัจจุบันมีเขาหัวโล้น เกิดมลพิษจากการเผาพื้นที่ปลูกข้าวโพด นับวันยิ่งทำให้ประเทศไทยเหมือนเลือดไหลไม่หยุด
ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลว่า มีความพยายามจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก. แต่เกษตรกรนำไปขายต่อ กลายเป็นเรื่องน่ากังวล เพราะเลือดไหลจากรัฐไปสู่เกษตรกร จากเกษตรกรไหลไปสู่กลุ่มทุน ทำให้ที่ดินจำนวนมากกำลังเปลี่ยนมือ คนไม่มีที่อยู่ จึงต้องเข้าไปใช้ที่ดินของป่าไม้ หรือเข้ามาอาศัยในชุมชนเมือง จนเกิดสลัมขึ้น
“ไทยมีที่ดิน 320.7 ล้านไร่ เป็นพื้นที่การเกษตร 150 ล้านไร่ พื้นที่ป่า 107 ล้านไร่ และพื้นที่ใช้ประโยชน์อื่น ๆ 64 ล้านไร่ ซึ่งพื้นที่ป่าส่วนหนึ่งทับซ้อนกับชุมชนที่อาศัยมาก่อน ดังนั้นต้องช่วยดูแลให้อยู่ต่อไปได้ หากจัดการมีประสิทธิภาพจะทำให้คนเหล่านั้นช่วยรักษาป่า ทั้งนี้ ปัจจุบันรัฐบาลมีงบประมาณจำกัดในการดูแล แต่หากให้ชาวบ้านดูแลจะทำให้เกิดการจัดการป่าดีขึ้น”
อดีตสมาชิก สปช. ยังกล่าวถึงแนวทางแก้ไขปัญหาว่า ต้องป้องกันไม่ให้เอกสารสิทธิที่ดินหลุดมือจากชาวบ้าน โดยอนาคตต้องจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่ตามนโยบายของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีสิทธิใช้ที่ดิน แต่ไม่เป็นเจ้าของ ได้รับการบริหารจัดการจากชุมชน จะทำให้ที่ดินถูกรักษาไว้ได้ การไหลของที่ดินของรัฐไปสู่กลุ่มทุนจะจบลง
ส่วนกลุ่มเกษตรกรที่มีโฉนดที่ดิน แต่ดินฟ้าอากาศไม่เป็นใจ ราคาสินค้าเกษตรไม่เป็นใจ ทำให้ที่ดินหลุดมือไปด้วยนั้น ต้องจัดตั้งธนาคารที่ดิน สำหรับช่วยรับที่ดินกำลังจะหลุดมือไว้ชั่วคราว เมื่อชาวบ้านเข้มแข็งก็สามารถมานำคืนได้ จะช่วยต่อลมหายใจได้
ขณะเดียวกัน ที่ดินรกร้างต้องนำมาใช้เกิดประโยชน์เต็มที่ แต่ต้องผลักดันภาษีที่ดินรกร้าง หากรัฐบาลผลักดันสำเร็จจะทำให้เลือดที่ไหลไม่หยุดค่อย ๆ คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม ต้องให้เกษตรกรได้รับการฟื้นฟูเรื่องการทำบัญชีครัวเรือน เกษตรผสมผสาน การดูแลตนเอง หรือเกษตรอินทรีย์ จะช่วยแก้ไขปัญหาได้ ประเทศก็จะเกิดความเข้มแข็ง
“เราต้องนำแนวคิดเหล่านี้บรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ได้ เพื่อตอบโจทย์ความเหลื่อมล้ำของประเทศ โดยเฉพาะที่ดิน ที่ต้องมีแนวคิดการกระจายอย่างเป็นธรรม การปฏิรูปที่ดิน การจัดตั้งธนาคารที่ดิน การให้สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของตนเอง รวมไปถึงนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่อง และต้องทำกฎหมายลูกให้เกิดขึ้นด้วย” ดร.กอบศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย