กรีนพีชจัดอันดับทูน่ากระป๋องไทย พบ 5 ยี่ห้อต่ำกว่ามาตรฐาน
กรีนพีชเผยไทยส่งออกผลิตภัณฑ์ทููน่ากระป๋องอันดับต้นของโลก แต่พบหลายแบรนด์ห่างไกลมาตรฐานการตรวจสอบย้อนกลับ และใช้วิธีการประมงแบบไม่ยั่งยืน ระบุผู้บริโภคมีส่วนสนับสนุนและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์
29 กันยายน 2558 กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดแถลงข่าวรายงานการจัดอันดับความยั่งยืนของปลาทูน่ากระป๋องในไทยจากทะเลสู่กระป๋อง ณ ห้องประชุมหลังสวน1 โรงแรมเซ็นเตอร์พ้อยท์ ชิดลม
นางสาวอัญชลี พิพัฒวัฒนกุล ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลมหาสมุทร กรีนพีช เอเชีตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวถึงรายงาน “จากทะเลสู่กระป๋อง” การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในไทย ได้ประเมินแบรนด์ทูน่ากระป๋องที่ขายในประเทศและแบรนด์ที่ขายเฉพาะในซูเปอร์มาร์เก็ต โดยมีทั้งหมด 14 แบรนด์ และพบว่า ส่วนใหญ่ไม่มีมาตรการเพียงพอในการตรวจสอบย้อนกลับ ความยั่งยืน และความเป็นธรรม ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาใหญ่ในภาคอุตสาหกรรมปลาทูน่า
ทั้งนี้ผลการประเมินผลิตภัณฑ์ปลาทูน่า 14 แบรนด์ที่จัดจำหน่ายในประเทศไทย พบว่า มี 5 แบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ ควรปรับปรุง และ 9 แบรนด์ อยู่ในเกณฑ์ พอใช้ ได้แก่ ทีซีบี คิงส์คิดเช่น นอติลุส ซีคราวน์ ซีเล็ค โอเชี่ยนเวฟ เทสโก้โลตัส แอโร่ บรูก
นางสาวอัญชลี กล่าวว่า สำหรับแบรนด์ที่อยู่ในเกณฑ์ที่ควรปรับปรุงและอยู่ในอันดับรั้งท้าย ได้แก่ ท็อปส์ อะยัม บิ๊กซี โฮมเฟรช มาร์ท และโรซ่า และจากการตรวจสอบทั้ง 14 แบรนด์ไม่มีแบรนด์ใดเลยที่ได้รับคะแนน ดี
ฉะนั้นแต่ละแบรนด์ต้องพยายามมากขึ้นในการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืน สิ่งสำคัญของอุตสาหกรรมปลาทูน่ากระป๋องต้องรับประกันว่า ผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถที่จะตรวจสอบย้อนกลับได้ว่าใช้วิธีการจับปลาแบบใด เกี่ยวข้องกับการขนถ่ายปลาทูน่ากลางทะเล การทำประมงผิดกฎหมาย การใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง หรือการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน
ผู้ประสานงาน กรีนพีชเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวอีกว่า การดำเนินนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์เป็นขั้นตอนแรกสุดและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการปกป้องทะและมหาสมุทร ซึ่งจะช่วยต่อสู้กับการทำประมงแบบผิดกฎหมายและทำลายล้าง รวมถึงการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานในห่วงโซ่อุปทาน
สำหรับการจัดอันดับพบว่า ทีซีบี ได้รับคะแนนสูงสุดกว่าแบรนด์อื่น ซึ่งทีซีบีทำคะแนนได้มากในด้านการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์มีนโยบายในเรื่องแหล่งที่มา แต่ก็ยังต้องปรับปรุงเรื่องความยั่งยืนและเป็นธรรม เนื่องจากใช้ปลาทูน่าครีบเหลืองและปลาทูน่า Tonggol ทั้งสองสายพันธุ์มีปัญหาเรื่องจำนวนประชากรรวมและการจับปลาทูน่าสองสายพันธุ์นี้ถูกจับมาด้วยวิธีการทำประมงแบบไม่ยั่งยืน โดยใช้อวนล้อมร่วมกับเครื่องมือล่อปลา ซึ่งเป็นสาเหตุปัญหาของการจับสัตว์น้ำที่ไม่ใช่เป้าหมาย
สำหรับอุตสาหกรรมทูน่านั้น นางสาวอัญชลี กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องรายใหญ่เป็นอันดับต้นๆของโลก และยังเป็นประเทศที่ผู้นำเข้าปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลก โดยในปี 2551 นำเข้าปลาทูน่าราว 8-8.5 แสนตันต่อปี เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมทูน่ากว่า 50 โรงงาน และ 90% ของการนำเข้านำมาจากมหาสมุทรเอเชียแปซิฟิกตอนกลางและตะวันตก โดยส่วนที่เหลือมีแหล่งที่มาจากมหาสมุทรอินเดีย
อย่างไรก็ตาม ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะลมหาสมุทร กรีนพีช กล่าวด้วยว่า การขาดการตรวจสอบย้อนกลับ และความโปร่งใสในห่วงโซ่อุปทานทน่ายังเป็นปัญหาที่พบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นสิ่งสำคัญที่ผู้มีบทบาทในตลาดอุตสาหกรรมปลาทูน่าและอาหารทะเลต้องส่งเสริมมาตรฐานด้านแรงงาน และการตรวจสอบย้อนกลับให้เข้มแข็ง โดยพัฒนานโยบายการจัดหาวัตุดิบที่สาธารณชนเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันผู้บริโภคเองก็มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนและเลือกซื้อปลาทูน่ากระป๋องที่มีการตรวจสอบย้อนกลับความยั่งยืนอย่างเป็นธรรม