ถ่ายทอดเทคโนโลยีระบบราง นักวิชาการขอรบ.เชื่อมั่นศักยภาพเปิดโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม
อาจารย์มหาวิทยาลัยยังไม่มั่นใจเปิดหลักสูตรสอนระบบรางโดยเฉพาะ หวั่นนักศึกษาตกงาน ชี้ศาสตร์ด้านระบบรางต้องใช้การบูรณาการในหลายวิชา วอนรัฐบาลเชื่อมั่นศักยภาพนักวิชาการเปิดโอกาสมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เทคโนโลยีตั้งแต่เริ่มโครงการก่อสร้าง
28 กันยายน 2558 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จัดสัมนาวิชาการเรื่อง “งานวิจัยมุ่งเป้า ด้านการคมนาคมขนส่งระบบราง” ณ ห้องประชุมจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ชั้น 2 อาคารวช.1
ศ.กิตติคุณ นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า เพื่อเป็นการรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ประเทศไทยจำเป็นจะต้องมุ่งเน้นการพัฒนาด้านการขนส่งให้ดีขึ้น โดยเฉพาะการขนส่งในระบบรางเพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านระบบรางให้มีความก้าวหน้า เข้มแข็งและทันกับประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งจะต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างองค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีระบบราง ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐานไปจนถึงระบบที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ส่วนสาเหตุที่ต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาระบบรางนั้น นพ.สุทธิพร กล่าวว่า เนื่องจากการขนส่งทางรางจะเป็นการลดต้นทุนด้านการขนส่งและรองรับการเชื่อมโยงพื้นที่เศรษฐกิจทั้งภายในและระหว่างประเทศ อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนในการลงทุน และเป็นการกระจายความเจริญจากกรุงเทพฯ ออกไปสู่เมืองที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจ การสร้างงาน การสร้างอาชีพ การเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยว และการเพิ่มความต่อเนื่องในการเดินทาง ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเดินทางไปกลับได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น ลดสัดส่วนการเดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล นอกจากนี้ยังเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าที่ใช้ระบบรางมากขึ้น
ด้านผศ.ดร.กิติเดช สันติชัยอนันต์ อาจารย์ประจำภาควิชาครุศาสตร์โยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี(มจธ.) กล่าวถึงการจัดองค์ความรู้เรื่องระบบรางว่า การเตรียมความพร้อมด้านบุคลากรด้านวิชาการในระบบรางนั้นเริ่มมาได้ 4-5 ปี โดยมีทั้งผู้เชี่ยวชาญในส่วนของรัฐและเอกชนมาร่วมมือกัน รวมถึงสถาบันอุดมศึกษา 12-15 มหาวิทยาลัย ในอดีตนักวิชาการหลายคนไม่เคยให้ความสนใจระบบราง แต่เมื่อมีการพูดถึงโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการพัฒนาระบบขนส่งทางรางก็เริ่มศึกษาและพูดคุยกันมากขึ้น การพัฒนาระบบรางนั้นจำเป็นต้องใช้ศาสตร์ในหลายๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องกล โยธา ไฟฟ้า คือผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านต้องเข้ามาช่วยกันทุกหน่วย
ผศ.ดร.กิติเดช กล่าวว่า นักวิชาการในประเทศไทยมีความสามารถไม่แพ้ใครในโลกนี้ ทุกคนสามารถเรียนรู้และรับรองเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะเข้ามาได้ ขอเพียงรัฐบาลเปิดโอกาสให้ฝ่ายวิชาการเข้าไปมีส่วนร่วมในการถ่ายทอดข้อมูล ในการก่อสร้างนั้น หรือการประมูลนั้นจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาขับเคลื่อนโดยเจ้าของเทคโนโลยีนั้นๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าหากนักวิชาการไทยเข้าไปฟังเขาอธิบายแล้วจะไม่เข้าใจ เราสามารถเข้าใจได้เนื่องจากมีการเตรียมความพร้อมมา4-5 ปีแล้ว
“ขอเพียงรัฐบาลมั่นใจในศักยภาพของนักวิชาการไทย และเปิดโอกาสให้เข้าไปทำงาน เข้าไปมีส่วนร่วมในกระบวนการ การถ่ายทอดองค์ความรู้ต่างๆก็จะไม่มีปัญหาแน่นอน ขอให้เชื่อมั่นว่าเราทำได้”
ขณะที่ผศ.ดร.มงคล กงศ์หิรัญ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า มจธ. กล่าวถึงความพร้อมและการพัฒนาหลักสูตร ขณะนี้จะเป็นในส่วนการพัฒนาเรื่องเอกสารการสอน โดยจะนำรายวิชาเกี่ยวกับระบบรางเข้าไปอยู่ในหลักสูตรวิศวกรรม ซึ่งเปิดเป็นรายวิชาเลือกมหาวิทยาลัยที่นำร่อง ไม่ว่าจะเป็น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหิดล ก็จะไปแยกรายวิชาที่แตกต่างกันไป เช่น มหิดล จะเป็นเรื่องระบบไอทีของระบบราง เป็นต้น ซึ่งการเปิดรายวิชาระบบรางเป็นวิชาเลือกได้รับความนิยมจากนักศึกษาเป็นจำนวนมาก
เมื่อถามถึงความพร้อมของบุคลากรและเอกสารการสอนเกี่ยวกับรายวิชาที่เป็นระบบราง ผศ.ดร.มงคล กล่าวว่า ความพร้อมหรือไม่พร้อมขึ้นอยู่กับแต่ละมหาวิทยาลัย หากจะบอกกันตรงๆคืออาจจะไม่พร้อมทั้งหมด แต่คำว่าไม่พร้อมในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าไม่มีความสามารถในการสอน แต่เนื่องจากการจะนำความรู้เรื่องระบบรางมาสอนต้องใช้เวลา คือ 1.ตัวผู้สอนเองต้องมีความรู้ที่หลากหลาย ต้องรู้เรื่องระบบไฟฟ้า โยธา เครื่องกล เป็นต้น อีกทั้งศัพท์เทคนิคค่อนข้างมาก ดังนั้นหากจะให้คนไม่มีประสบการณ์โดยตรงไปฟังบรรยาย 3 ชั่วโมง แล้วมาสอนไม่สามารถทำได้
ผศ.ดร.มงคล กล่าวด้วยว่า คนที่จะสอนได้ดีจำเป็นที่จะต้องเป็นบุคลากรที่ทำโครงการเหล่านี้หรือสัมผัสมาก่อน ลงมือออกแบบ ซึ่งทางมจธ.เองก็นำผู้เชี่ยวชาญจากข้างนอกมาสอน ส่วนกรณีความต้องการบุคลากรทางด้านระบบรางในอนาคตที่มีการส่งเสริมให้เปิดหลักสูตรและหันมาผลิตหรือสร้างคนระบบรางขึ้นมา ต้องบอกว่าการจะสร้างหลักสูตรเฉพาะระบบรางในระดับปริญญาตรี บางครั้งมหาวิทยาลัยต้องมีความมั่นใจว่าจบมาแล้วนักศึกษาจะมีงานทำชัดเจน
“ที่สำคัญมองว่าระบบรางจะใช้บัณฑิตไม่มากนัก ยุคแรกๆที่เพิ่งเริ่มก่อสร้างอาจจะจำเป็นต้องใช้มาก แต่หลังจากนั้นไปก็จะเหมือนในยุคที่โทรศัพท์มือถือมาใหม่ๆ วิศวกรด้านไอที หรือคมนาคมเนื้อหอมมาก ผ่านไปสักระยะคือไม่มีงานทำ ระบบรางก็เช่นกัน และตัวเลขจำนวนที่เคยระบุว่าต้องการประมาณ 2 หมื่นกว่าคนนั้นเป็นตัวเลขตามแผนที่จะก่อสร้าง แต่หากการเมืองมีปัญหา กำลังก็จะชะลอลงไปด้วย อย่างไรก็ตามแม้จำนวนความต้องการทางด้านตลาดแรงงานระบบรางจะยังไม่ชัดเจนและแน่นอน แต่ก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆได้”