ชายเสื้อเหลือง ก่อการร้าย และตำรวจไทยเก่งที่สุดในโลก
"ตำรวจไทยเก่งที่สุดในโลก"วลีนี้ไม่ได้มีใครชม แต่เป็นตำรวจเขาชมกันเอง เป็นคำชมจากท่าน ผบ.ตร. ภายหลังโชว์ผลงานที่เชื่อกันว่าน่าจะปิดคดีระเบิดกลางกรุงเทพฯได้ก่อนที่ท่านจะเกษียณอายุราชการในอีก 2-3 วันข้างหน้านี้
ผลงานที่ท่านว่าก็คือการหาหลักฐานที่พลิกคดีกลับมาว่า นายอาเดม คาราดัก หรือ บิลาล เติร์ก มูฮำหมัด แท้ที่จริงแล้วคือ "ชายเสื้อเหลือง" ที่จับกุมได้คนแรก ตั้งแต่หลังเกิดเหตุได้ 12 วัน ที่พูลอนันต์อพาร์ทเมนท์ย่านหนองจอกนั่นเอง
คำชมของท่านก็มาจากทัศนะของท่าน แต่ข้อมูลอีกด้านที่ได้มา ดูเหมือนว่าตำรวจจะมีส่วนร่วมกับการหา "หลักฐานเด็ด" ในส่วนที่นำมาสู่การพลิกคดีน้อยมาก โดยเฉพาะการไล่ตรวจสอบกล้องวงจรปิดจนพบจุดระเบิดที่คนร้ายตั้งเป้าจะไปวางจุดแรก อย่าง "ท่าเรือเจริญนคร 61" รวมไปถึงการนำหลักฐานใหม่ๆ ไปยัน จนทำให้นายอาเดมต้องเปิดปากรับสารภาพ (จริงๆ คือ จำนนต่อหลักฐาน)
ท่าน พลตำรวจโทศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. กล่าวอย่างตรงไปตรงมาและเป็นสุภาพบุรุษอย่างน่าชื่นชมว่า ก่อนหน้านี้ตำรวจแทบไม่ได้สอบปากคำนายอาเดมเลย เพราะถูกคุมตัวอยู่ในค่ายทหาร การสอบและบันทึกปากคำโดยมากทำโดยฝ่ายทหารและหน่วยงานความมั่นคงอื่น
เป็นการให้ข้อมูลสวนทางกับท่าน ผบ.ตร.อย่างสิ้นเชิงที่บอกว่าทุกเรื่องทุกอย่างตำรวจทำเองหมด!
ทั้งที่จริงๆ สิ่งที่เห็นว่าทำชัดเจน คือการไปหลงทางอยู่แถวๆ ประเทศเพื่อนบ้าน ตามหา "ชายเสื้อเหลือง" ทั้งๆ ที่ "ชายเสื้อเหลือง" จริงๆ แล้วอยู่ที่ มทบ.11
แต่มีเรื่องหนึ่งที่ "ตำรวจไทยเก่งที่สุดในโลก" จริงๆ คือ การพลิ้วไปตามความต้องการของผู้มีอำนาจ เช่น รัฐบาลไม่อยากให้สรุปว่าเหตุระเบิดเป็นปมก่อการร้าย หรือโยงกับการส่งชาวมุสลิมอุยกูร์ 109 คนไปจีน ตำรวจไทยก็สนองให้โดยพลัน แม้พูดผิดไปวันนี้ พรุ่งนี้ยังพูดใหม่ได้ โดยบอกว่าเมื่อวานไม่ได้พูด
ปมก่อการร้ายนับว่าน่าสนใจ โดยเฉพาะคนร้ายทำกันเป็นขบวนการแบบนี้ มีผู้สนับสนุนจำนวนไม่น้อยแบบนี้ และมีวิธีการทำระเบิดที่รุนแรง สมบูรณ์ขนาดนี้
ลองไปพลิกดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 135/1 ที่บัญญัติถึงนิยามของความผิดฐาน "ก่อการร้าย" ระบุตอนหนึ่งว่า ผู้ใดกระทำการอันเป็นความผิดอาญาดังต่อไปนี้...(1) ใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการใดอันก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิตฯ (2) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ระบบการขนส่งสาธารณะฯ (3) กระทำการใดอันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินของรัฐหนึ่งรัฐใด หรือของบุคคลใด หรือต่อสิ่งแวดล้อม อันก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ
ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อขู่เข็ญหรือบังคับรัฐบาลไทย รัฐบาลต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ ให้กระทำหรือไม่กระทำการใดอันจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรง หรือเพื่อสร้างความปั่นป่วนโดยให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน ผู้นั้นกระทำความผิดฐานก่อการร้ายฯ
ชัดขนาดนี้...คำถามคือเหตุใดจึงไม่ตั้งข้อหา "ก่อการร้าย" กับทีมลอบวางระเบิด หรือว่ามันระคายหูผู้มีอำนาจ
เมื่อเร็วๆ นี้เพิ่งเจอ "นักวิชาการด้านความมั่นคง" ซึ่งได้รับการยอมรับจากหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยว่าเป็น "มือหนึ่งของเมืองไทย" ท่านไม่ได้วิจารณ์เฉพาะตำรวจ แต่วิพากษ์ทั้งระบบว่า หน่วยงานความมั่นคงไทยรับมือกับสถานการณ์ระดับนี้ไม่ได้เลย เอาแค่การให้ข่าวหรือแถลงข่าวในแต่ละวัน ข้อมูลข้อเท็จจริงก็มีหลายชุด บางชุดขัดกันอย่างสิ้นเชิง ทำให้ประชาชนที่ติดตามข่าวสาร หรือแม้แต่นักข่าวเอง ไม่รู้จะเลือกเชื่อข้อมูลชุดไหนดี
อาจารย์บอกว่า คนทำงานสถานทูตต่างประเทศ ฟังคำแถลงของฝ่ายไทยแล้วคงงง ไม่รู้จะเขียนรายงานกลับไปยังประเทศของตนอย่างไรดี
การให้ข้อมูลที่ไม่ตรงกันของหน่วยงานความมั่นคงต่างหน่วยนี้เอง ที่นำมาสู่การวิเคราะห์ที่น่าคิดว่า แม้การรับมือกับสถานการณ์ระเบิดไม่ได้ จะสะท้อนว่าประเทศไทยจำเป็นต้องปฏิรูปงานด้านความมั่นคงกันขนานใหญ่และทั้งระบบ ทว่าการตั้ง "กระทรวงความมั่นคง" ตามที่มีการเสนอโมเดลกันมาก่อนหน้านี้อาจไม่ใช่คำตอบ
เพราะกระทรวงความมั่นคงที่มักมีการเสนอกันนั้น มาจากโมเดล "โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้" ของสหรัฐ ซึ่งจัดตั้งขึ้นหลังเหตุการณ์ 911 โดยเป็นการวางโครงสร้างขนาดใหญ่ ดึงเอาหน่วยงานด้านความมั่นคงทุกหน่วยมาอยู่ภายใต้กระทรวงนี้ แล้วทำงานด้วยกัน จุดเด่น คือ "ความเป็นเอกภาพ"
คำถามคือ หน่วยงานความมั่นคงไทยทำงานร่วมกันอย่างมีเอกภาพจริงหรือไม่ เพราะจากเหตุระเบิดที่ผ่านมา แค่การให้ข่าวก็ยังสะเปะสะปะ จับต้นชนปลายไม่ถูก
ที่สำคัญ "โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้" เป็นการรวมหน่วยปฏิบัติ หรือหน่วยโอเปอเรชั่นทั้งหมดเข้ามาทำงานด้วยกัน ผิดกับหลักคิดของไทยที่คิดว่าการมีกระทรวง หรือการทำงานระดับกระทรวง เป็นเรื่องของการกำหนดนโยบาย การจะตั้งกระทรวงความมั่นคงจึงต้องปรับกันขนานใหญ่ตั้งแต่ "ระบบคิด" กันเลยทีเดียว จึงไม่ใช่เรื่องง่าย และอาจไม่ทันการณ์กับสภาพปัญหาที่เราเผชิญ
ฉะนั้นโมเดล "โฮมแลนด์ ซีเคียวริตี้" ของสหรัฐ จึงไม่ใช่คำตอบของไทยและการปฏิรูปงานด้านความมั่นคงไทย ส่วนจะใช้โมเดลไหนก็เป็นเรื่องที่ต้องขบคิดกันต่อไป แต่คงต้องตั้งต้นกันเลยว่า รัฐบาลไทยและสังคมไทยเห็นความสำคัญของการปฏิรูปงานด้านความมั่นคงจริงๆ หรือยัง เพราะวันนี้ก็ยังสรุปคดีระเบิดกันเบื้องต้นว่า ไม่ใช่ปัญหาก่อการร้าย เป็นแค่ขบวนการค้ามนุษย์ไม่พอใจที่ถูกปราบหนัก
หรือว่าเราจะอยู่กันอย่างนี้ อยู่กันแบบไทยๆ ต่อไป รอพึ่งตำรวจไทยที่เก่งที่สุดในโลก!
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 พลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.
2 โครงสร้างหลวมๆ ของกระทรวงความมั่นคงที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
หมายเหตุ : บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ในคอลัมน์ แกะรอย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ปกโฟกัส ฉบับวันจันทร์ที่ 28 กันยายน 2558 ด้วย