นโยบายทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย...แห่งบ้านสารขันธ์
กาลครั้งหนึ่ง นานหรือไม่นานไม่รู้ ในบ้านสารขันธ์ได้ประกาศนโยบายทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยในระบบสุขภาพ และให้แต่ละที่แต่ละคนตัดสินใจกันตามอำเภอใจว่าจะเข้าร่วมนโยบายนี้หรือไม่ก็ได้
เดากันว่า พ่อบ้านสารขันธ์คงเห็นฝรั่งมังค่าเค้าใช้นโยบายแบบนี้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจอุตสาหกรรม หวังจะกระตุ้นให้คนงานทำงานมากๆ จะได้ผลผลิตมากๆ ขายได้กำไรมากๆ บ้านสารขันธ์จึงชื่นชอบ อยากให้ทำตามแบบธุรกิจอุตสาหกรรมของฝรั่งตาน้ำข้าวบ้าง แถมงานวิจัยมากมายของฝรั่งก็รับประกันว่า จะได้ผลผลิตมากขึ้น ประสิทธิภาพมากขึ้นชัวร์ๆ
กิจการของระบบสุขภาพของบ้านสารขันธ์นั้นเกี่ยวข้องกับชีวิต และความเป็นความตายของคน แถมดันไม่ได้อยู่กันแบบระบบธุรกิจอุตสาหกรรมที่แสวงหากำไรเป็นที่ตั้ง โดยที่ในอดีตที่ผ่านมา คนงานก็มีจำกัด แต่คนที่มาให้ช่วยดูแลนั้นเยอะเกินกว่าที่จะดูแลไหว แต่คนงานทุกระดับก็มุ่งมั่นทำงานเต็มที่ อดมื้อกินมื้อ สมดุลชีวิตก็ไม่ค่อยมี ทรัพยากรสนับสนุนก็จำกัดจำเขี่ย ในระยะหลังๆ ก็ไม่ค่อยมีตำแหน่งงานที่เป็นหลักเป็นฐานให้บรรจุ สวัสดิการด้านต่างๆ ก็เริ่มโดนบีบคั้น อย่างไรก็ตาม คนงานส่วนใหญ่ก็ไม่ปริปากบ่น เพราะตั้งปณิธานไว้ตั้งแต่เข้ามาเรียนด้านนี้ว่า อยากดูแลคนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
พ่อบ้านสารขันธ์นั้นคงครึกครื้น คิดว่านโยบายฝรั่งจะช่วยทำให้คนงานในกิจการทำงานกันเต็มสตีม และใช้เป็นตะแกรงร่อน หาคนงานที่ขี้เกียจ เพื่อคัดทิ้งไป
ถือโอกาสตอนที่อายุขัยในการคุมกิจการจะหมดลง รีบประกาศนโยบายนี้อย่างเงียบเชียบ สร้างความตื่นเต้น และหวาดกลัวให้กับเหล่าคนงาน และเหล่าผู้สื่อข่าวเมืองสารขันธ์อย่างมาก
ผลจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตาม
แต่ลองพลิกหาข้อมูลวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพื่อมาทำนายอนาคตกัน ดีไหม?
จีนเน็ท เทเลอร์ และคณะ เคยทำการสำรวจกลุ่มคนออสเตรเลีย และมาเลเซีย จำนวน 300 คน ที่เป็นคนงานภาครัฐ ว่านโยบายทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยนั้น ทำให้พวกเค้าทำงานดีขึ้นหรือไม่? อย่างไร?
สิ่งที่นักวิจัยพบคือ เฮ่ยๆ นโยบายนี้ไม่ได้มีผลต่อการทำงานตามที่หวังไว้แฮะ แต่ตัวคนงานภาครัฐกลับระบุกันว่า เค้าต้องการการเสริมพลังด้านจิตใจ การสร้างความรู้สึกอินกับงานและเป็นเจ้าข้าวเจ้าของ รวมถึงการปรับวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดการร่วมแรงร่วมใจกันทำงาน และลดการใช้อำนาจบาตรใหญ่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ต่างหากที่จะทำให้พวกเค้าทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น (1)
ยัง ยังไม่พอ หลายคนที่สนับสนุนปาหลาดคิก เค้าชอบแบโพยงานวิจัยอื่นๆ เช่น ผลของนโยบายแบบนี้ในการดูแลรักษาโรคต่างๆ ในมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่น โรคเบาหวาน ซึ่งพบชัดเจนในฝั่งตะวันตกว่า นโยบายนี้
ในภาพรวมช่างดีเหลือหลาย แต่ช้าก่อน ดันไม่มีใครเอางานที่จำแนกแยกแยะผลที่ได้นั้นตามลักษณะประชากรเลย ดังนั้นจึงขอแชร์ให้เห็นว่า มิลเลทท์ และคณะ เค้าศึกษาผลของการดูแลรักษาโรคเบาหวานว่า
หากใช้นโยบายนี้ล่อหลอกตัวผู้ป่วยแล้ว จะได้ผลอย่างไร นักวิจัยเค้าระบุให้เห็นว่า ผลที่ได้จากการดำเนินนโยบายนั้นมีนัยสำคัญทางคลินิกน้อย แถมยังพบว่าเกิดความแตกต่างกันระหว่างเชื้อชาติ โดยคนชาติตะวันตกจะให้ผลที่ดีกว่า ในขณะที่คนเชื้อสายแอฟริกา และเอเชียนั้นไม่ค่อยได้ผล และอาจสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบด้านลบเสียด้วยซ้ำ ทางมิลเลทท์ และคณะ ได้ทิ้งท้ายไว้ให้นักกำหนดนโยบายสาธารณะได้ระมัดระวัง
หากคิดจะใช้นโยบายนี้สำหรับเรื่องการดูแลรักษาแบบที่เค้าศึกษามา (2) เดี๋ยวจะหาว่า เอาแต่งานวิจัยมาเสนอ เลยอยากยกบทความของกูรูด้านการจัดการ ที่ตีพิมพ์ในวารสารดังอย่าง Harvard Business Review มาให้ดูด้วยว่า แอนดรูว์ ไรอัน และคณะ ได้เขียนถึงความสงสัยเกี่ยวกับนโยบายนี้ในระบบดูแลสุขภาพว่า ข้อควรระวังอย่างยิ่งจากการดำเนินนโยบายนี้คือ ความลำบากในการจัดการระบบให้สามารถดำเนินนโยบายได้ตามที่หวัง แถมหากดำเนินนโยบายได้ ก็จะเกิดผลทำให้แรงบันดาลใจของคนวิชาชีพสุขภาพลดน้อยถอยลง และจะก่อให้เกิดผลกระทบวงกว้างของทั้งระบบ ที่จะมุ่งทำงานเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน (3)
ในขณะที่ย้อนหลังไปก่อนหน้านี้อีกสองทศวรรษ ก็เคยมีนักวิชาการเตือนเรื่องนี้ไว้ว่า กลวิธีการใช้เงินล่ออาจไม่สำเร็จ และอาจก่อโทษอย่างมากตามมา ดังที่อัลฟี่ โคห์น ได้ระบุไว้ในบทความที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review เช่นกันว่า กลวิธีใช้เงินล่อ ให้ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อยจะไม่ได้ผล จากหลายเหตุผล ได้แก่ เงินรางวัลที่ล่อจะบ่อนทำลายความสัมพันธ์ระหว่างกัน การได้มาซึ่งเงินรางวัลมักไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือที่มาของผลผลิตที่วัด เงินรางวัลจะนำไปสู่พฤติกรรมการไม่อินกับเนื้องาน รวมถึงจะทำให้คนพยายามลดความเสี่ยงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการทำงานเพื่อให้ได้ผลผลิต ซึ่งหากเราคิดต่อยอดไปถึงกิจการดูแลรักษาคน ก็คงพอเดาได้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เคสผู้ป่วยยากๆ ย่อมไม่เป็นที่ปรารถนาของคนดูแลที่มองจำนวนผลผลิตเป็นที่ตั้ง เพราะนอกจากใช้เวลาดูแลมากแล้ว ยังมีความเสี่ยงด้านต่างๆ มากมาย ดังนั้นจึงมีโอกาสโดนโบ้ยไปให้ผู้อื่น (4)
นอกจากนี้ นักวิชาการทั้งแวดวงสุขภาพ และนอกวงสุขภาพได้มีการแสดงทรรศนะที่คัดค้านนโยบายนี้ในต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น Wall Street Journal เมื่อสองปีก่อน ที่ได้เตือนไว้เช่นกันว่า การทำตามมาตรการดังกล่าวนั้น จะสวนกระแสการบ่มเพาะทัศนคติตั้งแต่ดั้งเดิมของวิชาชีพสุขภาพให้หันมาเอาเรื่องเงินเป็นที่ตั้ง แทนที่จะมุ่งเรื่องสุขภาพของประชาชน (5)
เอ๊ะ...อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว บ้านสารขันธ์จะเป็นอย่างไรต่อไป หลายคนคงสงสัย และอยากติดตามอย่างใกล้ชิดกระมัง?
เอกสารอ้างอิง
1. Taylor J et al. The Impact of Pay-for-Performance Schemes on the Performance of Australian and Malaysian Government Employees. Public Management Review, 2013; 15(8):1090-1115.
2. Millett C et al. Impact of Pay for Performance on Ethnic Disparities in Intermediate Outcomes for Diabetes: A Longitudinal Study. Diabetes Care, 2009: 32(3):404-9.
3. Ryan A et al. Doubts About Pay-for-Performance in Health Care. Harvard Business Review 2013. Available online at: https://hbr.org/2013/10/doubts-about-pay-for-performance-in-health-care/
4. Kohn A. Why Incentive Plans Cannot Work. Harvard Business Review, Sep-Oct 1993. Available online at: https://hbr.org/1993/09/why-incentive-plans-cannot-work
5. Should Physician Pay Be Tied to Performance? Available online at: http://www.wsj.com/articles/SB10001424127887323528404578454432476458370
ขอบคุณภาพประกอบจาก matichon.co.th