ปลดประธานศาล ต้องมีฐานกฎหมาย โปร่งใสและใช้เหตุผล
"...ด้วยความเป็นห่วงศาลปกครอง ห่วงการใช้กฎหมายของที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ขอให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงให้ชัดเจน ถูก-ผิดต้องว่ากันตามหลักฐาน หลักกฎหมาย และหลักเหตุผล อย่าปล่อยให้ถูกครหาว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน.."
หมายเหตุ สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org : เมื่อวันที่ 27 ก.ย.2558 นายกิตติศักดิ์ ปรกติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนบทความเรื่อง ปลดประธานศาล ต้องมีฐานกฎหมาย โปร่งใสและใช้เหตุผล ในเฟซบุ๊กของตนเอง ที่ใช้ชื่อว่า "Kittisak Prokati"
-------------------
แม้เราจะคัดค้านการใช้เส้นสายในทางราชการ หรือรังเกียจการใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ในทางมิชอบเพียงใด เราก็ต้องคัดค้านและหาทางแก้ด้วยเหตุผล ไม่ใช่ด้วยอำนาจตามอำเภอใจ
ตัวอย่างปัญหาเรื่องปลดประธานศาลปกครอง ตามที่ปรากฏเป็นข่าว นับเป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งดูเหมือนจะมีข้อน่าสงสัยว่าเกิดสิ่งไม่ปกติทั้งในแง่การบริหาร และในแง่กฎหมายหลายข้อ
1. เรื่องนี้เริ่มมาตั้งแต่ตั้งกรรมการสอบสวนตามระเบียบของกรรมการศาลปกครอง (ก.ศป.) แล้ว แทนที่จะดำเนินการสอบสวนอย่างรวดเร็วโปร่งใสตามระเบียบ กลับปรากฏว่าเกิดกรณีกรรมการสอบสวนคัดค้านกรรมการสอบสวนประเภทผู้แทนภายนอก (กพ) โดยไม่มีเหตุผล เป็นเรื่องกรรมการคัดค้านกรรมการกันเอง ทั้งที่ระเบียบอนุญาตให้คัดค้านได้เฉพาะ 2 กรณี คือกรณีผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้คัดค้าน หรือกรณีกรรมการรายงานเหตุที่ตัวเองอาจถูกคัดค้านเท่านั้น คัดค้านยืดเยื้อมาจนล่วงพ้นกำหนดสอบสวนใน 60 วันตามระเบียบมาถึงเกือบ 6 เดือน ความน่าสงสัยมาปรากฏชัดขึ้นภายหลังสอบสวนเสร็จแล้ว ว่ากรรมการที่คัดค้านกรรมการคนอื่น ๆ ทั้งที่ระเบียบไม่อนุญาต ก็คือกรรมการฝ่ายเสียงข้างน้อยนั่นเอง
2. เมื่อกรรมการสอบสวนฝ่ายข้างมาก (รวมผู้แทน กพ) เห็นว่าไม่มีหลักฐาน แต่ฝ่ายข้างน้อยเชื่อว่ามีหลักฐาน คณะกรรมการศาลปกครอง (กศป.) กลับมีมติเห็นด้วยกับฝ่ายเสียงข้างน้อย โดยไม่ปรากฏเหตุผลอธิบายว่าฝ่ายข้างน้อยน่าเชื่ออย่างไร หรือฝายข้างมากบกพร่องตรงไหน ข้อนี้ทำให้เกิดข้อครหาได้ว่า กรณีนี้อาจเป็นเรื่องขัดแย้งระหว่างกลุ่มบุคคลในองค์กรยิ่งกว่าการรักษามาตรฐานจริยธรรม
3. ถ้าดูตามระเบียบ ก.ศป. ว่าด้วยการสอบสวนและสิทธิของตุลาการผู้ถูกกล่าวหาฯ ที่ออกตามกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง ข้อ 12 กำหนดว่าหากกรรมการสอบสวนกำหนดแนวทางสอบสวนแล้วเสนอ หรือมีความเห็นภายหลังระหว่างการสอบสวน เสนอ ก.ศป. ว่าสมควรสังพักราชการตุลาการที่ถูกกล่าวหา และ ก.ศป. เห็นสมควรสั่งพักราชการ ก็ให้สั่งพักราชการตุลาการที่ถูกกล่าวหาได้ ระเบียบนี้ไม่ได้ให้อำนาจ ก.ศป. สั่งพักราชการตุลาการโดยกรรมการสอบสวนไม่ได้เสนอมาแต่อย่างใด
แต่ก็ปรากฏว่า กศป. สั่งพักราชการตุลาการที่ถูกกล่าวหาตั้งแต่ยังไม่มีการประชุมกรรมการสอบสวน โดยอ้างอำนาจตามมาตรา ๒๔ วรรคสามในฐานะบทให้อำนาจสั่งพักราชการ ของกฎหมายจัดตั้งศาลปกครอง ทั้งๆที่ ระเบียบว่าด้วยการสอบสวนและสิทธิของตุลาการนั้นออกตามมาตรา ๒๔ วรรคห้าของกฎหมายเดียวกัน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเป็นบทเฉพาะที่เป็นจำกัดอำนาจ ก.ศป. โดยมุ่งคุ้มครองสิทธิตุลาการที่ถูกกล่าวหาและกำหนดเงื่อนไขในการสั่งพักราชการในทางจำกัดอำนาจ ก.ศป. ไว้แล้ว
การฝ่าฝืนระเบียบที่ ก.ศป. ออกมาเองตามบทเฉพาะที่จำกัดอำนาจตนเอง ย่อมทำให้เกิดข้อครหาขึ้นได้ว่า ก.ศป. ใช้กฎหมายเกินขอบวัตถุประสงค์ของกฎหมาย
4. ระเบียบว่าด้วยการสอบสวนของ ก.ศป. กำหนดไว้ในข้อ ๘ วรรคสาม ว่าการลงมติของกรรมการสอบสวนให้ถือเสียงข้างมาก นั่นหมายความว่า การแสดงเจตนาของคณะกรรมการสอบสวนซึ่งเป็นองค์กรกลุ่มที่ ก.ศป. ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ย่อมเป็นไปตามเสียงข้างมาก เสียงข้างน้อยแม้จะมีความเห็นแย้งก็ไม่ใช่มติกรรมการสอบสวน และไม่อาจนับเป็นผลการสอบสวนได้ แต่ปรากฏว่าเมื่อกรรมการสอบสวนรายงานมาแล้ว แทนที่ผู้มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน (ก.ศป.) จะสั่งว่าการสอบสวนบกพร่องหรือไม่ชอบ ซึ่งต้องวินิจฉัยว่าบกพร่องหรือไม่ชอบเพราะเหตุใด หรือสั่งให้สอบเพิ่มเติมในประเด็นใด หรืออาจตั้งกรรมการสอบสวนขึ้นใหม่ขึ้นใหม่ กลับไปรับฟังและเห็นชอบกับกรรมการฝ่ายข้างน้อยเลย
ในเมื่อความเห็นแย้งของฝ่ายข้างน้อยไม่ใช่ผลการสอบสวน เพราะไม่ได้มติเสียงข้างมาก การที่ ก.ศป. สั่งโดยอ้างว่าเห็นขอบกับเสียงข้างน้อย จึงทำให้การกระทำของ ก.ศป. กลายเป็นการพิจารณามีมติโดยไม่ได้สอบสวน
การที่ กศป ไม่เชื่อรายงานของฝ่ายข้างมากที่สรุปว่าไม่มีหลักฐาน แล้วไม่แสดงเหตุผลที่แจ้งชัดว่ามติกรรมการสอบสวนฝ่ายข้างมากบกพร่องหรือไม่ชอบอย่างไร แล้วตั้งกรรมการสอบสวนใหม่ กลับสั่งให้สอบสวนต่อไป ย่อมไม่อาจทำให้การสอบสวนเสร็จสิ้นลง เพราะกรรมการฝ่ายข้างมากย่อมไม่อาจลงมติใหม่ขัดกับมติเดิมได้ และเปิดช่องให้ ก.ศป. ในฐานะผู้มีอำนาจตั้งกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวนผู้พิพากษาซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ไม่สิ้นสุด จนกว่าจะได้ผลที่ ก.ศป. พอใจ ซึ่งจะก่อให้เกิดข้อครหาว่าอ้างอำนาจเกินความมุ่งหมายของกฎหมายอีกทอดหนึ่ง
5. การสอบสวนวินัยตุลาการต้องทำด้วยความระมัดระวังในระดับเดียวกับการพิจารณาของศาล เพราะย่อมกระทบต่อความเป็นอิสระของตุลาการ ดังนั้นต้องสอบสวนตามข้อกล่าวหา และเปิดโอกาสให้ต่อสู้โดยแสดงข้อหาและพฤติการณ์ที่ใช้กล่าวหาอย่างชัดแจ้ง
เดิมมีข้อกล่าวหาว่า "ใช้ให้เลขาธิการฝากเลื่อนยศตำรวจ" แต่ในกรณีครั้นกรรมการสอบสวนเสียงข้างมากเห็นว่าไม่มีหลักฐานว่าเป็น “ผู้ใช้” เพราะแม้เห็นว่าเลขาธิการอ้างชื่อประธานฯเพื่อขอความสะดวกในงานอารักขา ก็ไม่มีหลักฐานว่าประธานฯ ใช้ให้ทำ ก็เกิดมีการเปลี่ยนข้อกล่าวหาและลงโทษในข้อหาใหม่ ในฐานที่ประธานฯ รู้เห็นเป็นใจกับเลขาธิการ หรือเป็น “ผู้ร่วมหรือสนับสนุนให้กระทำ”
ทั้งนี้โดยอ้างว่า หลังประธานสั่งสอบสวนเลขาธิการ ก็ลงโทษเลขาธิการเพียงแค่ตักเตือน และเลขาธิการเคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวว่าประธานฯรู้เห็น ดังนั้นจึงสรุปว่าการที่ประธานฯไม่ออกมาให้ข่าวโต้แย้งหลังเกิดมีข่าว แสดงว่าประธานฯรู้เห็นเป็นใจแทนหลักฐานที่ได้จากการสอบสวน
ถ้าเราถือหลักเช่นนี้ ถ้ามีข่าวว่าเพื่อนของผู้พิพากษาหรือเลขาศาล ฝากลูกหลานผู้พิพากษาเข้าเรียนโรงเรียนดังของรัฐ หรือเพื่อนผู้พิพากษารับพ่อแม่ผู้พิพากษาเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลของรัฐเป็นกรณีพิเศษ ผู้พิพากษาต้องออกมาแถลงข่าว หากผู้พิพากษาไม่ออกมาแถลงข่าวตอบโต้จะมิต้องปลดผู้พิพากษากันหมดหรือ?
6. ไม่ว่าจะอย่างไร การจะลงโทษวินัยต้องมีข้อเท็จจริงที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าทำผิด ไม่ใช่ลงโทษตามความเห็นว่าผิดลอยๆโดยไม่มีหลักฐาน เพราะไม่ใช่เรื่องลงมติไม่ไว้วางใจ กรณีนี้น่าสงสัยว่า กรรมการสอบสวนฝ่ายข้างมากมีเหตุผลอย่างไร ที่ถูกสั่งให้สอบสวนข้อหาเพิ่มเติม และ กศป. อาศัยหลักฐานอะไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูจากสำนวน และ ก.ศป. ควรต้องแสดงข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย พร้อมด้วยเหตุผลที่ชัดเจน ซึ่งถึงวันนี้ยังไม่ปรากฏข้อมูลแก่สาธารณชนเพียงพอ
7. เรื่องตัวการผู้ใช้ ตัวการร่วม กับผู้สนับสนุน และผู้ไม่รู้เห็นด้วยแต่อยู่ในฐานะต้องรับผิดชอบในฐานะผู้บังคับบัญชา เป็นคนละเรื่องกัน มีระดับความผิด และความรับผิดชอบต่างกัน ผู้ประพฤติตนบกพร่อง กับผู้ประพฤติชั่วก็ไม่เหมือนกัน ถ้าไม่แยกแยะให้ชัดเจนอาจถูกครหาว่า เอาเรื่องไม่ไว้วางใจ มาปนกับเรื่องวินัย เอาความถูกใจ มาปนกับความถูกต้อง
ด้วยความเป็นห่วงศาลปกครอง ห่วงการใช้กฎหมายของที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน ขอให้ผู้รับผิดชอบชี้แจงให้ชัดเจน ถูก-ผิดต้องว่ากันตามหลักฐาน หลักกฎหมาย และหลักเหตุผล อย่าปล่อยให้ถูกครหาว่าเป็นเรื่องการเมืองภายใน
เรื่องสำคัญหากไม่ชี้แจงให้กระจ่างก็จะกระทบต่อความมั่นคงในการใช้กฎหมายและ ความเชื่อถือต่อความแน่นอนของรัฐที่ใช้กฎหมายเป็นหลักพื้นฐานของบ้านเมืองอย่างรุนแรง
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก เดลินิวส์