ผู้มีอำนาจตำหนิสื่อไม่ใช่เรื่องใหม่ ‘เทพชัย หย่อง’ แนะนำมาเป็นกระจกสะท้อนตนเอง
สมาคมนักข่าววิทยุฯ ประชุมใหญ่สามัญ ปี 58 เปิดเวทีชำแหละสื่อเพื่อปฏิรูป ‘เทพชัย หย่อง’ แนะองค์กรสื่อสร้างกลไกกำกับจริยธรรมภายใน กำหนดบทลงโทษชัดเจน สร้างความน่าเชื่อถือ นักวิชาการจุฬาฯ บอกต้องสร้างคุณค่าแก่สังคม ทำมากกว่าจริยธรรม ค้านออกกฎหมายควบคุม
วันที่ 26 กันยายน 2558 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2558 และเวทีเสวนา ‘ชำแหละสื่อเพื่อการปฏิรูป’ ณ ห้องเพชรชมพู โรงแรมดิเอมเมอรัลด์ ถ.รัชดาภิเษก
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ทุกครั้งที่พูดถึงการปฏิรูปสื่อ เสียงส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากคนทำสื่อ แต่มักเป็นเสียงเรียกร้องจากสังคม อย่างที่เป็นข่าวช่วง 1 ปีที่ผ่านมาก็ไม่ได้มาจากสื่อ แต่มาจาก สปช. อย่างไรก็ตาม ยอมรับคนในวงการยังไม่เห็นความสำคัญของการปฏิรูปจริง ๆ ทั้งที่มีแนวทางปฏิบัติชัดเจนอยู่แล้ว เนื่องจากพูดคุยกันมานาน เพียงแต่ไม่เกิดขึ้นในทางปฏิบัติ แต่บังเอิญช่วงที่ผ่านมามีกระแสแรงขึ้น จึงให้เรื่องดังกล่าวมีน้ำหนักและเป็นประเด็น
โซเชียลมีเดียเป็นอีกหนึ่งปัจจัยทำให้สื่อถูกตั้งคำถาม ส่วนนักการเมืองหรือตำรวจตำหนิสื่อบ่อยครั้ง ความจริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อย้อนกลับไปในอดีตพบว่า นักการเมืองหรือผู้มีอำนาจจะตำหนิสื่อประจำ กระนั้น สื่อก็ควรมองคำวิจารณ์เหล่านี้ในแง่บวกเป็นกระจกสะท้อนบางอย่าง เนื่องจากบางเรื่องเป็นจริง ดังเช่น ผู้สื่อข่าวตั้งคำถามไม่มีที่มาที่ไป เพียงเพื่อให้มีประเด็นพาดหัว
นายกสมาคมนักข่าววิทยุฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันสิ่งที่เป็นอันตราย คือ หากผิดหรือบิดเบือน 1 ฉบับ หรือ 1 ช่อง อีก 23 ช่อง จะเหมือนกันหมด สิ่งผิดกลายเป็นถูก ดังนั้นเป็นโจทย์ใหญ่มาก โดยผู้บริโภคไม่ทราบว่า ข่าวเหมือนกันเพราะมาจากการกระจายแหล่งเดียวกัน สะท้อนให้เห็นว่า การทำงานของสื่อมีช่องโหว่ที่ต้องสำรวจตนเองจะทำอย่างไรให้การทำงานอยู่บนพื้นฐานของความถูกต้อง
“วันพรุ่งนี้หนังสือพิมพ์ระดับแนวหน้าของไทย 5 ฉบับ และทีวีดิจิตอล 24 ช่อง ประกาศพร้อมกันว่า จากนี้ไป จะมีกลไกด้านจริยธรรมภายในและรับเรื่องร้องเรียน พร้อมบทลงโทษชัดเจนให้สังคมรู้ คนในสังคมจะมองสื่อด้วยความเชื่อถือมากขึ้นว่าสื่อรู้ตัวแล้วต้องตรวจสอบตนเองด้วย แต่ทุกวันนี้กลไกยังไม่เกิดขึ้น ทำให้มีคนพยายามผลักดันให้มีอำนาจทางกฎหมายเข้ามาควบคุม” นายเทพชัย ระบุ
ด้านดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผอ.โครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวถึงสื่อประเภททีวีดิจิทัลว่า โฆษณาขายสินค้าที่มีการร้องเรียนในทีวีดาวเทียมข้ามมาปรากฎในทีวีดิจิทัลแล้ว นับเป็นโจทย์ท้าทายในความเป็นมืออาชีพ ทั้งนี้ การโฆษณาถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ซึ่งนักโฆษณาทราบว่าควรทำอย่างไรให้เวลาออกอากาศเพียงไม่กี่วินาทีเกิดผลมากที่สุด แต่ขณะนี้กลับพบว่า มีการโฆษณาขายสินค้านานถึง 15 นาที 2 รอบ และบุคลิกของผู้ขายสินค้าเหมือนอยู่ในตลาดนัด สิ่งที่กล่าวมาคือการทำให้สถานีอยู่รอด
นอกจากนี้เนื้อหาเป็นอีกส่วนหนึ่ง โดยปัจจุบันเป็นยุคมีข่าวอาชญากรรมครองพื้นที่ข่าวมากที่สุด อาจเนื่องจากข่าวขายได้ และการเมืองแตะต้องลำบาก ข่าวประเภทดังกล่าวจึงกลายเป็นวาระและชิงพื้นที่สื่อ ตั้งคำถามว่า เรากำลังใช้ทุนสูง เพื่อรับชมประเด็นบุคคลหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ไม่ปฏิเสธว่า บุคคลเป็นข่าวได้ แต่ควรเป็นประโยชน์สาธารณะด้วย นั่นแสดงว่า คุณค่าข่าวปัจจุบันวัดกันด้วยความสนใจของคน?
'วสันต์' เเนะวงการสื่อพัฒนาคนระหว่างทาง
ขณะที่นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันของสื่อสูงมาก หากเรามองสื่อเป็นธุรกิจเหมือนธุรกิจอื่น ก็ต้องนึกถึงกำไรสูงสุด สิ่งที่เสนอไปไม่ได้คำนึงจะกระทบกับสังคมอย่างไร แต่ข้อเท็จจริง คือ สื่อมิได้มีลักษณะเหมือนธุรกิจทั่วไป นอกจากนี้ยังมีสื่อสาธารณะ หรือประเภทอื่น ๆ ด้วย ดังนั้น หวังให้สื่อต้องไม่นึกถึงกำไรส่วนตัว โดยอยู่บนความเดือดร้อนหรือขาดทุนของสังคม
“สมัยก่อนคนทำสื่อ โดยเฉพาะสื่อสิ่งพิมพ์ จะมีความคิด อุดมการณ์ ซึ่งบทบาทสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การตรวจสอบรัฐ แต่วันนี้สื่อถูกทำเป็นธุรกิจและมุ่งหวังเพียงกำไรสูงสุด สะท้อนให้เห็นว่า สื่อที่มีจำนวนมากขึ้น ไม่ได้สร้างความหลากหลาย จึงจำเป็นต้องปฏิรูป” อดีตสมาชิก สปช. กล่าว และว่า เมื่อมีคนสื่อเข้าสู่วงการมากขึ้น ตั้งคำถามว่า คุณภาพดีพอหรือไม่ ทั้งที่มีความสำคัญ เพราะเป็นคนเลือกข่าว หรือบอกกล่าวกับสังคม หากเราไม่มีความรู้หรือรับผิดชอบ สังคมก็จะเต็มไปด้วยการขาดวิจารณญาณ การคิดวิเคราะห์ ถูกมอมเมาด้วยเรื่องน้ำเน่า ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสื่อควรมีความรับผิดชอบต่อสังคม
นายวสันต์ ยังกล่าวว่า วงการสื่อไม่ค่อยมีการพัฒนาคนระหว่างทาง ซึ่งมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรม ทั้งด้านทักษะ จริยธรรม หากจุดหนึ่งขาดการพัฒนาหรือเรียนรู้ บางครั้งสื่อจะสำคัญตัวเองผิด ยิ่งให้คุณให้โทษคนอื่นได้มาก จะทำให้ ‘อีโก้’ หรือ ‘ความมั่นใจ’ ในตัวเองเบ่งบานมากขึ้น ใครพูดหรือวิจารณ์ไม่ได้ ดังนั้นวงการที่แข่งขันสูง คนเข้ามามากขึ้น ถ้าปล่อยให้คุณภาพคนตกต่ำ และยังขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ขณะที่ประชาชนสามารถสื่อสารกันได้มากขึ้น สถาบันสื่อจะขาดความน่าเชื่อถือ
ด้านผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การปฏิรูปที่ผ่านมา สื่อรู้สึกไม่ปลอดภัย กังวลว่ารัฐจะเข้ามาควบคุม เพราะฉะนั้นต้องตั้งสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติหรือองค์กรอื่นขึ้นมา แต่กลับพบว่า สื่อนึกถึงตนเองมากกว่านึกถึงผู้รับสื่อ ทั้งในแง่ผู้รับสื่อได้รับผลกระทบหรือผลบวก อย่างไรก็ตาม สื่อต้องทำมากกว่าคำว่า จริยธรรม นั่นคือ ทำอย่างไรให้เกิดคุณค่าแก่สังคม และสร้างประชาชนรู้แจ้งทางข่าวสารได้
ทั้งนี้ ไม่เห็นด้วยกับความพยายามของ สปช.ในการผลักดันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. ... ของศูนย์ศึกษากฎหมายและนโยบายสื่อมวลชน สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อมุ่งตั้งองค์กรช่วยสร้างกลไกกำกับจากข้างบนลงสู่ข้างล่าง โดยเชื่อว่าจะทำให้มีจริยธรรมได้ แต่การปฏิรูปสื่อจะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากจิตสำนึกของคนทำสื่อ ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย
สุดท้ายนายสุเมธ สมคะเน ประธานสหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย กล่าวว่า สื่อโตเร็วเกินไป แต่สถานการณ์ข่าว และบุคลากรเติบโตไม่ทัน แม้จะมีหลักสูตรนิเทศศาสตร์จำนวนมาก เพราะตลาดแรงงานธุรกิจนี้มักคัดสรรบุคลากรจากประสบการณ์ แต่ประสบการณ์ก็ยังโตไม่ทัน เพราะไม่มีเวลาเพาะบ่ม ทำให้เกิดรอยต่อและมีความผิดพลาด ด้วยเหตุนี้ ภาพสื่อถูกสื่อสารออกไปถูกมองไม่มีความรับผิดชอบ พร้อมกันนี้ เสนอให้องค์กรต้นสังกัดสร้างภูมิคุ้มกัน โดยเพิ่มสวัสดิการ เพื่อไม่ให้ผู้สื่อข่าวยตกเป็นเหยื่อแหล่งข่าว และสามารถสร้างคนมารองรับได้