ทำอย่างไรกระบวนการร่างรธน. จะเป็นกระบวนการแก้วิกฤตชาติไปด้วย
ถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกระบวนการแก้วิกฤตชาติไปด้วยได้ก็จะดี ลองช่วยกันพิจารณาดู ขอเสนอดังนี้
1. เป็นการสร้างความสามัคคี เราขัดแย้งกันมากเกินไปจนเกิดความรุนแรงและประเทศเดินหน้าไม่ได้ เราต้องร่วมสร้างอนาคตประเทศไทย กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงควรเป็นกระบวนการสร้างความสามัคคีระหว่างทุกฝ่าย ไม่ควรมุ่งเอาแต่นักเทคนิคทางกฎหมาย แต่มุ่งการมีส่วนร่วมทิศทางและเป้าหมายของชาติ ถ้าเป็นทิศทางและเป้าหมายที่คนไทยร่วมสร้างผู้เชี่ยวชาญทางกฎหมายก็ช่วยยกร่างให้ดูโดยไม่ยากนัก
2. หลักการ ทุกฝ่ายควรตกลงในหลักการร่วมกันและหาวิธีการทำให้ได้ตัวอย่างของหลักการก็เช่น
(1.) เป็นประชาธิปไตยและมีการเลือกตั้ง อันเป็นหลักการที่ปฏิเสธไม่ได้
(2.) ไม่มีรัฐประหาร เพราะรัฐประหารทำให้ไม่มีข้อ (1)
(3.) การเมืองมีคุณภาพและไม่เกิดความรุนแรง เพราะการเมืองไม่มีคุณภาพและการเกิดความรุนแรงเป็นสาเหตุของ (2) และ (2) ทำลาย (1)
(4.) บ้านเมืองมีความเจริญก้าวหน้า มั่นคง ยั่งยืน ข้อนี้เป็นปัจจัยหนุน (1) – (3)
3. ต้องโยงกับฐานของประเทศ – พระเจดีย์ต้องสร้างจากฐาน ไม่มีพระเจดีย์องค์ใดสร้างสำเร็จจากยอด เพราะจะพังลงๆ ถ้าไม่มีฐานรองรับ นั้นคือประเทศไทย อะไรๆก็เอาแต่ข้างบนจึงไม่สำเร็จ โครงสร้างทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นพระเจดีย์ ปิรามิด หรือตึก ฐานต้องกว้างและแข็งแรง ทั้งหมดจึงจะมั่นคง ประเทศก็เช่นเดียวกัน ฐานของประเทศ คือ ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด หรือพื้นที่ ถ้าฐานของประเทศแข็งแรงก็รองรับประเทศทั้งหมดให้มั่นคง
ขณะนี้ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด กำลังทำอะไรดีๆที่คนข้างบนไม่รู้ ประชาธิปไตยชุมชนเป็นประชาธิปไตยทางตรง ไม่ได้อาศัยเลือกตั้งซึ่งเป็นประชาธิปไตยทางอ้อม ประชาธิปไตยชุมชนจึงมีคุณภาพสูง เป็นประชาธิปไตยสมานฉันท์ และอรรถประโยชน์ เพราะเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมพร้อมกันไป ข้างล่าง เป็นระบบการอยู่ร่วมกัน จึงมีความสามัคคีสูง ในขณะที่ข้างบนเป็นเรื่องของเงินและอำนาจจึงมีความขัดแย้งสูง เช่นที่จังหวัดอำนาจเจริญคนหลายหมื่นคนจากทุกตำบล รวมตัวกันทำธรรมนูญจัดการตนเองของคนอำนาจเจริญ ไม่มีแบ่งแยกว่าใครสีอะไร มีแต่เพื่อนคนไทยที่รวมตัวร่วมคิดร่วมทำเพื่อการพัฒนาอย่างบูรณาการที่เอาชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด เป็นตัวตั้ง
ถ้ากระบวนการร่างรัฐธรรมนูญโยงกับฐานของประเทศ ไม่จำกัดอยู่เฉพาะคนข้างบน จะเป็นการแก้วิกฤตชาติได้ด้วย เพราะวิกฤตชาติถ้าพูดกันจนถึงที่สุดแล้วคือวิกฤตการณ์แห่งการสร้างพระเจดีย์จากยอด ยิ่งสูงยิ่งขัดแย้งกันมาก
สหรัฐอเมริกาตั้งประเทศในเวลาใกล้เคียงกับเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากตั้งประเทศได้แล้วก็แข็งแรงเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะแนวคิดประเทศเขาชัดเจน โปรดสังเกตชื่อประเทศ เขาไม่ได้ชื่ออเมริกาเฉยๆ แต่ชื่อว่า United States of America หมายถึงว่า ท้องถิ่นมารวมกันเป็นอเมริกา States หรือรัฐ คือท้องถิ่น เน้นการกระจายอำนาจไปอยู่ที่ท้องถิ่น รัฐบาลกลางทำเฉพาะส่วนที่ท้องถิ่นทำไม่ได้ หรือทำไม่ได้ดี
กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้ถ้าให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาท และร่างรัฐธรรมนูญที่ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนท้องถิ่น จะแก้วิกฤตชาติไปด้วยในตัว
4. การลดการคอร์รัปชันโกงกิน ความรุนแรงทางการเมือง และป้องกันรัฐประหาร
ที่ผ่านมาเราสนใจแต่พัฒนาระบบการเมือง แต่ไม่สนใจระบบการปกครอง ระบบการปกครองที่รวมศูนย์อำนาจมากเกินและนานเกิน เป็นตัวตอของปัญหาทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองตั้งแต่ 24 มิถุนายน 2575 เปลี่ยนแปลงผู้มีอำนาจสูงสุดทางการเมือง จากพระมหากษัตริย์เป็นคณะราษฎร เป็นกองทัพ เป็นนักการเมือง แต่การปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไม่เคยเปลี่ยน กลับเพิ่มขึ้นโดยมีการสร้างกรมเพิ่มมากขึ้น กรมคือเครื่องมือรวมศูนย์อำนาจสู่ส่วนกลาง
การรวมศูนย์อำนาจเป็นต้นตอของคอร์รัปชั่น เพราะอำนาจเข้มข้นที่ไหน คอร์รัปชั่นเข้มแข็งที่นั่น ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ย้อนหลังไป 100 กว่าปี เต็มไปด้วยคอร์รัปชั่น มีทั้งโคตรโกงและโกงทั้งโคตร เพราะรวมศูนย์อำนาจ หลังจากนั้นกระจายอำนาจไปสู่องค์กรท้องถิ่น 26 องค์กร ประชาชนเข้ามามีส่วนโดยใกล้ชิด คอร์รัปชั่นก็หายไป
การรวมศูนย์อำนาจทำให้การต่อสู้ทางการเมืองรุนแรง เพราะใครได้อำนาจทางการเมืองจะกินรวบอำนาจหมดทั้งประเทศผ่านการปกครองที่รวมศูนย์ นี้เป็นแรงจูงใจให้มีการลงทุนต่อสู้ทางการเมืองสูง ไม่ว่าจะด้วยเงินหรือด้วยการใช้ความรุนแรง เพราะเดิมพันสูง หากมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นโดยทั่วถึง ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ไม่สามารถกินรวบอำนาจและผลประโยชน์ มีแต่เข้ามาเพื่อทำนโยบายพัฒนาประเทศ การกระจายอำนาจจึงลดความรุนแรงของการต่อสู้ทางการเมือง เพราะหมดแรงจูงใจ ที่สวิตเซอร์แลนด์ เราไม่ได้ยินชื่อว่าใครเป็นประธานาธิบดี ใครเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเมื่อมีการกระจายอำนาจไปโดยทั่วถึง การพัฒนาประเทศก็ดำเนินไปโดยเรียบร้อยด้วยการมีส่วนร่วม เมื่อประเทศดำเนินไปโดยเรียบร้อย ก็ไม่ปรากฏความฉาวโฉ่ หรือความเป็นวีรบุรุษของผู้นำ ในสภาพที่หมดแรงจูงใจที่จะทำให้ใครอยากมาดำรงตำแหน่ง ดีไม่ดีอาจต้องเกือบใช้วิธีจับฉลาก นี้พูดให้เห็นภาพว่าเมื่อกระจายอำนาจการปกครองออกไป ความรุนแรงของการต่อสู้ทางการเมืองจะลดลงหรือหมดไป
การรวมศูนย์อำนาจทำให้รัฐประหารได้ง่าย อำนาจที่รวมศูนย์ก็ยึดตรงที่รวมศูนย์อยู่ได้อย่างง่ายดาย แต่ถ้ากระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นหมดไม่รู้จะยึดอำนาจตรงไหน และยึดไปทำไม ประเทศที่กระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึง แม้จนเพียงใด เช่น อินเดีย ก็ไม่มีรัฐประหาร
ฉะนั้น การปฏิรูปประเทศที่สำคัญที่สุด ตามข้อเสนอของคณะกรรมการปฏิรูปที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธานคือ “การปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ” โดยลดอำนาจรัฐคืนอำนาจให้ประชาชนปกครองตนเองให้มากที่สุด ในรูปของชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ปกครองตนเอง
การกระจายอำนาจไปให้ชุมชน ท้องถิ่น จังหวัด ปกครองตนเอง นอกจากจะลดคอร์รัปชั่น ลดความรุนแรงของการต่อสู้ทางการเมือง ป้องกันรัฐประหาร ยังเป็นการสร้างฐานของประเทศให้แข็งแรง เพื่อความก้าวหน้า มั่นคง และยั่งยืน กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจึงควรเป็นกระบวนการกระจายอำนาจการปกครองด้วยจึงแก้วิกฤตชาติได้
5. การปรับเปลี่ยนการดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันเป็นการเสนอแนะด้วยเหตุผล กระบวนการการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบัน และการที่พรรคการเมืองพรรคหนึ่งถูกกล่าวหาว่าร่วมหรือสนับสนุนกระบวนการนี้ เป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงยิ่ง เพราะไปกระตุ้นกองทัพและคนที่รักสถาบันให้ออกมาต่อสู้ ในการชุมนุมของพธม. ก็ดี กปปส. ก็ดี ก็อ้าง 2 เรื่องใหญ่ๆ คือ คอร์รัปชั่น และเพื่อปกป้องสถาบัน จะเป็นเรื่องหลังเสียมากกว่า
ถ้ากระบวนการใช้วาจาดูหมิ่นเหยียดหยามสถาบันยังดำเนินต่อไป ก็จะแก้ไขความขัดแย้งและรุนแรงไม่ได้ และอาจนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดขนาดใหญ่แบบในอินโดนีเซียเมื่อ ค.ศ. 1965 ที่มีการฆ่าคนที่ว่าเป็นคอมมิวนิสต์ตายไปถึง 500,000 คน และประเทศตกอยู่ใต้เผด็จการซูฮาร์โต 30 ปี
ควรจะมีการปรับเปลี่ยนจากบริภาษวิธี เป็นการเสนอแนะด้วยเหตุผลว่าสถาบันควรมีการปรับตัวอย่างไรในระบอบประชาธิปไตย โดยอ้างอิงตัวอย่างประเทศประชาธิปไตยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ เช่น อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน เดนมาร์ค นอร์เวย์ และญี่ปุ่น
6. การป้องกันความรุนแรง ประชาธิปไตยไม่ใช่การยิงปืนปาระเบิดใส่กันอย่างที่แล้วมา อะไรดีๆอาจยังทำไม่ได้ทันที แต่ก่อนสิ่งอื่นใดต้องไม่ใช้ความรุนแรง (No Violence First)ทุกอย่างต้องตกลงกันว่าจะไม่ใช้ความรุนแรง และมีมาตรการป้องกันความรุนแรง เช่น ต้องเป็นประเทศปลอดอาวุธ กำลังตำรวจ และกองทัพ ต้องมีความเป็นกลางและเป็นเครื่องมือป้องกันและระงับความรุนแรง ป้องกันมิให้การเมืองเข้าครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือก่อความรุนแรง ควรมีกระบวนการประชาชนเพื่อสันติภาพ (P4P = People for Peace)เป็นต้น
7. การมีแต่กติกาและกลไกไม่พอ ต้องส่งเสริมความเข้มแข็งของคนดู = พลังพลเมือง คนไทยใครว่าดีเลวอย่างไรก็สามารถไปเล่นฟุตบอลได้ทั่วโลก เพราะการเล่นฟุตบอลมีกรอบ คือ สนาม กติกา และกลไก กลไกก็คือกรรมการและผู้กำกับเส้น เพื่อให้เล่นภายในกรอบและตามกติกา แต่กรรมการและผู้กำกับเส้นโกงได้เสมอ แต่ที่โกงไม่ได้เพราะมีคนคอยกำกับ
ในการทำรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาหลายฉบับ เราก็วนเวียนอยู่ที่สร้างกติกาและกลไก ทำอย่างไรๆก็แก้ปัญหาการละเมิดไม่ได้ ยิ่งสมัยที่เรียกว่าธนกิจการเมือง (Money politics) ที่ทุนขนาดใหญ่ถูกใช้เข้ามาในทางการเมือง กลไกใดๆก็ราบพนาสูญ ทั้งนี้โดยเราไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของคนดู หรือพลังพลเมือง พลังพลเมืองที่เข้มแข็งต่างหากที่จะกำกับให้การเมืองอยู่ในกรอบกติกาและกลไกทำงานโดยถูกต้อง
การเขียนรัฐธรรมนูญคราวนี้ไม่ควรบัญญัติกติกาและกลไกที่ซับซ้อนเกิน เพราะมันทานอำนาจเงินไม่ได้ แต่ควรใส่ใจเรื่องพลังพลเมืองเข้มแข็ง พลังพลเมืองจะเข้มแข็งต้องมีข้อมูลข่าวสารและเข้าใจระบบที่ซับซ้อน อย่าลืมบัญญัติให้มหาวิทยาต้องสนับสนุนพลังพลเมืองด้วยข้อมูลข่าวสารและการวิจัยคลี่ระบบที่ซับซ้อนให้ประชาชนเข้าใจได้ง่าย พลเมืองจะได้มีพลังในการกำกับตรวจสอบและพัฒนานโยบาย
อนึ่ง ในประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา การรายงานข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Journalism = IJ)เป็นเครื่องมือที่ชะงัดมากในการหยุดยั้งคอร์รัปชั่น แต่ไอเจบ้านเราเกือบทำไม่ได้เลย เพราะนักข่าวที่ทำจะถูกเจ้าของหนังสือพิมพ์ไล่ออก เพราะหนังสือพิมพ์ต้องพึ่งพิงทุนทำให้ทำหน้าที่ตรงไปตรงมาเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนไม่ได้ พลังพลเมืองไม่ใช่อำนาจรัฐและไม่ควรมีอำนาจรัฐต้องแยกกัน พลังพลเมืองเป็นอำนาจทางสังคมและอำนาจทางปัญญาเพราะฉะนั้นจะต้องสามารถรวมตัวเป็นพลังทางสังคม มีข้อมูลข่าวสารความรู้และเหตุผล มหาวิทยาลัยจึงต้องเข้ามาสนับสนุนพลังพลเมือง และพลังพลเมืองจะต้องมีทุนที่จะสื่อสารความจริงอย่างอิสระซึ่งรวมถึงการรายงานข่าวเชิงสืบสวนหรือไอเจ ซึ่งเป็นเครื่องมือหยุดยั้งคอร์รัปชั่นด้วย
การร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จึงไม่ควรใส่ใจเฉพาะกฎกติกาและกลไกเท่านั้น แต่จะต้องสร้างคนดูที่เข้มแข็ง คือ พลังพลเมืองด้วย บ้านเมืองจึงจะลงตัว
ถ้าทุกฝ่ายมีส่วนรวม มีความสามัคคี พิจารณาเป้าหมายของประเทศ หลักการ และวิธีการต่างๆ ตกลงกันและร่วมกันขับเคลื่อน แม้เริ่มต้นอาจจะยังไม่ดีนัก แต่อาศัยการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ (Interactive learning through action)ทุกอย่างจะดีขึ้นเรื่อยๆ จะรักและเชื่อถือไว้วางใจกันมากขึ้นเรื่อยๆ จะมีความสุข ความสร้างสรรค์ และช่วยกันสร้างอนาคตประเทศไทยที่เป็นประชาธิปไตย และมีอรรถประโยชน์ พ้นวิกฤต มีความเจริญก้าวหน้า และยั่งยืน สืบไป.