เลขาสกอ.เล็งเชิญสภาม.เอแบคเคลียร์ปัญหาขัดแย้งภายใน
เลขาธิการสกอ.เตรียมเชิญสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญประชุมแก้ปัญหาความขัดแย้งภายใน ชี้อย่าเอานศ.เป็นตัวประกัน ด้านนายกองค์การนักศึกษา เผยเริ่มไม่มั่นใจบทบาทการบริหารงานภายใน ขณะที่ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล แจงกก.สภาบางท่านไม่เข้าประชุม เหตุไปให้ปากคำที่ศาลปกครอง
25 กันยาน 2558 นายวีรศักดิ์ อนุสนธิวงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) พร้อมนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญเดินทางมายังกระทรวงศึกษาธิการเพื่อยื่นหนังสือต่อรศ.ดร.พินิติ รตะนานุกูล เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษาแห่งชาติ (สกอ.) เพื่อขอหารือพฤติกรรมการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ
นายวีรศักดิ์ กล่าวว่า จากกรณีกรรมการสภามหาวิทยาลัยบางส่วนไม่ยอมเข้าประชุมสามัญครั้งที่ 4/2558 ในวันที่ 17 กันยายน ที่ผ่านมาส่งผลให้องค์ประชุมไม่ครบและไม่สามารถพิจารณาอนุมัติปริญญาบัตรให้กับนักศึกษาได้ รวมทั้งไม่สามารถรับรองงบดุลประจำปี 2557 ซึ่งผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบอกกับทางมหาวิทยาลัยว่าแม้จะมีความขัดแย้งเกิดขึ้นแต่กำหนดการพิธีปริญญาบัตรจะต้องเป็นไปตามกำหนดเดิม
ทั้งนี้ผลกระทบอีกประการหนึ่งคือไม่สามารถรับรองงบดุลของปี 2557 ส่ง สกอ.ได้ภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้
ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า การที่กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่มาประชุมทางการที่มหาวิทยาลัย แต่ไปประชุมข้างนอกและมีมติปลดนายกสภา และกรรมการสภาอีก 2 ท่าน ทั้งที่การประชุมดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอยากเรียกร้องให้ตรวจสอบกรรมการกลุ่มนี้
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ภายหลังยื่นหนังสือเรียบร้อยแล้วผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาธุรกิจและกฎหมาย มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ จะนำข้อแนะนำของเลขาธิการสกอ.ไปปฏิบัติในทันที
ด้านรศ.ดร.พินิต กล่าวภายหลังรับหนังสือ ว่า จะมีปัญหาขัดแย้งกันอย่างไรก็ตามไม่ควรเอานักศึกษาเป็นตัวประกัน ปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการได้ เรื่องการอนุมัติจบการศึกษาและการรับรองงบดุลก็ให้กรรมการสภาที่อยู่ในหน้าที่เซ็นรับรองด้วยการทำเป็นจดหมายเวียน หากไม่มีการร้องเรียนภายใน 7 วัน ถือว่ายอมรับและดำเนินการได้ ดังนั้นไม่มีปัญหา ส่วนกรณีปลดนายกสภามหาวิทยาลัยนั้นก็ดูไปตามข้อกฎหมาย เพราะคนที่มีอำนาจเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยคือนายกสภา ฉะนั้นใครจะบอกว่าม.เอแบคไม่มีนายกสภาไม่ใช่ อย่าเพิ่งไปตื่นตัว ให้ยึดหลักทุกอย่างตามข้อกฎหมาย
“ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการและสกอ.เองกำลังประสานที่จะให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยทุกท่านมาร่วมประชุมเพื่อหาข้อยุติปัญหาเรื่องที่เกิดขึ้นและหาทางออกร่วมกัน หากไม่มาก็คุยกันไม่ได้เพราะต่างฝ่ายต่างยึดกฎหมายตามความเห็นของตัวเอง”
ขณะที่นางสาวพลอยไพลิน เหล่าพรายนาค นายกองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ที่ผ่านมารับทราบปัญหาของทางมหาวิทยาลัยมาโดยตลอดแต่ไม่คิดว่าปัญหาของการบริหารนั้นจะส่งผลกระทบมาถึงตัวนักศึกษา เพราะเข้าใจว่าการบริหารที่ใดก็น่าจะมีปัญหาที่คล้ายกัน แต่เมื่อความขัดแย้งดังกล่าวทำให้เกิดการมาประชุมไม่ครบของกรรมการสภามหาวิทยาลัยก็เริ่มทำให้นักศึกษารวมทั้งตัวเองไม่มั่นใจและเชื่อมั่นการบริหารของมหาวิทยาลัย
“เด็กที่เรียนเอแบคทุกคนจ่ายเงินค่าเทอมค่อนข้างมาก ไม่เคยคิดว่าเรียนอยู่มา 4 ปี มีความผูกพันและศรัทธาในมหาวิทยาลัยและผู้บริหาร ไม่คิดว่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้น พ่อแม่เริ่มถามว่ามีอะไรเกิดขึ้น เริ่มไม่มั่นใจ แต่ไม่ใช่แค่ความไม่มั่นใจจากคนภายนอก ตอนนี้นักศึกษาในมหาวิทยาลัยก็เริ่มแบ่งกลุ่มและขาดความเชื่อมั่นในการบริหารบางแล้ว ทุกอย่างเป็นเรื่องของความรู้สึก ถามว่าตอนนี้เริ่มมั่นใจเรื่องอนุมัติจบ การมีพิธีปริญญาบัตรไหม ฟังวันนี้แล้วมั่นใจ แต่ว่าไม่เชื่อมั่นเรื่องระบบการบริหาร เพราะเราไม่เคยได้ยินได้ฟังเรื่องแบบนี้มาก่อน”
ขณะที่ดร.สุทธิพร ปทุมเทวาภิบาล รักษาการอธิการบดี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า จากที่มีการให้ข่าวว่าการประชุมสภามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เมื่อวันที่ 17 กันยายนที่ผ่านมา ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่ครบองค์ประชุม เพราะกรรมการสภามหาวิทยาลัย 12 คน ไม่ได้เข้าร่วมประชุม เป็นเหตุให้กระทบถึงนักศึกษาที่จะเข้ารับปริญญาบัตร ในเดือนพฤศจิกายน 2558 นั้น
"ขอชี้แจงว่าที่กรรมการสภาไม่อาจเข้าร่วมประชุมสภามหาวิทยาลัยดังกล่าวได้ เป็นเพราะในวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558 เวลา 13:30 น. ศาลปกครองได้มีคำสั่งเรียกสภามหาวิทยาลัยไปให้ถ้อยคำต่อศาล กรรมการสภามหาวิทยาลัยจึงไม่อาจเข้าร่วมประชุมดังกล่าวได้"
ดร.สุทธิพร กล่าวด้วยว่า ในวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558 กรรมการสภามหาวิทยาลัยได้มีหนังสือเรียกประชุมสภามหาวิทยาลัยวิสามัญ ซึ่งจะจัดในวันเสาร์ที่ 26กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อพิจารณาวาระเรื่องการอนุมัติปริญญาบัตรของนักศึกษา รุ่นที่ 43
“ผมมีจดหมายลงวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2558 ไปยัง ดร.สุนทร พิบูลย์เจริญสิทธิ์ ในฐานะนายทะเบียน ให้นำส่งรายชื่อนักศึกษาและเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจะได้นำเสนอต่อสภามหาวิทยาลัย เพื่อพิจารณาอนุมัติปริญญาบัตรต่อไป ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจาก ดร.สุนทร เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ขอยืนยันต่อนักศึกษาทุกคนว่า ผม ในฐานะรักษาการอธิการบดีและสภามหาวิทยาลัย คำนึงถึงผลประโยชน์ของนักศึกษาเป็นที่ตั้ง และจะพยายามดำเนินการให้มีพิธีรับปริญญาในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2558 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ให้ได้ และขอประณามการนำความเดือดร้อนของนักศึกษามาเป็นเครื่องมือในครั้งนี้ด้วย”