ค้านปลุกผีเขื่อนแม่วงก์! ภาคประชาสังคมยื่น 3 ข้อเสนอจัดการน้ำบูรณาการ
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผนึกกำลังนักอนุรักษ์ค้านสร้างเขื่อนเเม่วงก์ตามที่กรมชลประทานเสนอ เผยเหตุผล 3 ข้อ พร้อมทางเลือกจัดการน้ำบูรณาการ ขณะที่ คชก.พิจารณาอีไอเออีกครั้ง 25 ก.ย. 58 ก่อนสรุปส่ง คกก.สิ่งเเวดล้อมเเห่งชาติ ย้ำป่าราบต่ำริมน้ำเเม่วงก์เเละผืนป่าตะวันตกมีผลต่อมรดกโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 25 กันยายน 2558 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับภาคีเครือข่าย 24 องค์กร อาทิ มูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ, มูลนิธิโลกสีเขียว, กลุ่มศิลปินรักผืนป่าตะวันตก และสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) ประเทศไทย อ่านแถลงการณ์ ‘ขอให้พิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จ.นครสวรรค์’ ณ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
นายภานุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อ่านแถลงการณ์ว่า จากการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.)โดยกรมชลประทาน ได้มีการเสนอรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพของประชาชน โครงการเขื่อนแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ (EHIA) ต่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งเตรียมที่จะมีการจัดประชุมคณะกรรมการผู้ชำนาญการ (คชก.) พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านการพัฒนาแหล่งน้ำอีกครั้ง ในวันศุกร์ที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2558 เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กกวล.) พิจารณาในขั้นตอนต่อไป
ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ท่ามกลางการทักท้วงของคนในสังคมเป็นจำนวนมากทั้งองค์กรพัฒนาเอกชนด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมทั้งมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และความเห็นของคณะทำงานตรวจสอบข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้แต่งตั้งขึ้นเพื่อพิจารณาข้อมูลวิชาการ ด้านป่าไม้ สัตว์ป่า ความหลากหลายทางชีวภาพ การบริหารจัดการน้ำ รวมทั้งประโยชน์และความคุ้มค่าที่จะได้รับจากการสร้างเขื่อนที่ต้องแลกมาด้วยผืนป่าแม่วงก์ ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ทั้งนี้ผู้ศึกษาไม่สามารถแก้ไขและชี้แจงประเด็นดังกล่าว ให้เป็นที่ยอมรับแก่ทุกภาคส่วนในสังคมได้
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอแสดงเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ และใคร่ขอเสนอให้มีการพิจารณาทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ในกรณีของการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ และกรณีของการใช้ทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ การไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำที่ใกล้เคียงกัน
กล่าวคือ การก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำ 250 ล้านลูกบาศก์เมตรโดยประมาณ ส่วนการใช้ทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะได้ปริมาณน้ำ 200 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยประมาณ
2. งบประมาณในการจัดทำทางเลือกในการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีค่าใช้จ่ายในการจัดทำโครงการถูกกว่างบประมาณที่จะใช้ในการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ถึงกว่า 6 เท่าตัว
กล่าวคือ โครงการก่อสร้างเขื่อนแม่วงก์ ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 13,000 ล้านบาท ขณะที่ทางเลือกการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ใช้งบประมาณในการจัดทำโครงการ 1,940 ล้านบาท โดยประมาณ
3. คุณค่าของป่าที่ราบต่ำริมน้ำแม่วงก์และผืนป่าตะวันตก ซึ่งมีศักยภาพเพียงพอต่อการเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ หากมีการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ และการกระจายถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าในผืนป่าตะวันตก ที่ได้ผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูประชากรจนประสบความสำเร็จมาตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จึงขอยืนยันเจตนารมณ์ที่จะคัดค้านการก่อสร้างเขื่อนในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ และใคร่ขอนำเสนอ “ทางเลือกในการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กรณีไม่ต้องสร้างเขื่อนในอุทยานแห่งชาติแม่วงก์” โดยขอวิงวอนให้ท่านรับฟังข้อคิดเห็นต่าง ๆ อย่างรอบด้าน และตระหนักถึงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บนความถูกต้องตามหลักวิชาการเป็นสำคัญ
ทั้งนี้มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ยินดีประสานความร่วมมือในการให้ข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่แม่วงก์ต่อไป .
ภาพประกอบ:https://www.facebook.com/SeubNakhasathienFD?fref=ts