ผู้ประกอบการทดลองใช้ e-bidding โอดเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มติดต่อกรมบัญชีกลาง
อุปนายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯแจงปัญหาทดลองใช้e-bidding ระบุมีปัญหาโทรติดต่อกรมบัญชีกลางยาก การพิมพ์รูปแบบงานไม่ใช่ขนาดพิมพ์เขียวของงานก่อสร้างส่งผลกระทบอ่านแบบ-ประเมินราคาไม่ได้ ด้านผอ.สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลางขอความเห็นใจ พยายามแก้ปัญหาเต็มที่แล้ว
24 กันยายน 2558 กรมบัญชีกลางร่วมกับคณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติด้านการป้องกันการทุจริต จัดงานสัมมนาเรื่อง “เตรียมความพร้อมสู่การจัดซื้อจัดจ้างด้วยระบบe-bidding ในงานก่อสร้าง” โดยมีนายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานเปิดงาน ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิต์
นางลิซ่า งามตระกูลพานิช อุปนายก สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงแนวคิดเรื่องระบบ e-bidding ถือเป็นแนวคิดที่ดีสำหรับการจะป้องกันระบบฮั้วประมูล อย่างไรก็ตามภายใต้การสร้างระบบ e-bidding และมีการเริ่มทดลองใช้ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2558 ยังพบปัญหาในการใช้งานสำหรับผู้ประกอบการอยู่ค่อนข้างมาก แม้ปัญหารายละเอียดเล็กน้อยจะได้รับการแก้ไขไปบ้างบางส่วน แต่ยังคงเหลือปัญหาหลักใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข
ทั้งนี้ทางสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ ได้ชี้แจงไปยังกรมบัญชีกลางและมีการพูดคุยหารือถึงแนวทางในการแก้ไข แต่ยังคงเหลือปัญหาหลักๆในการใช้งานของระบบe-bidding ดังนี้
ประการแรก คือการเข้าถึงข้อมูลและความพร้อมของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบขนาดเล็กจะต้องเตรียมความพร้อมในเรื่องของระบบซอฟแวร์และฮาร์ดแวร์ ต้องมีบุคคลากรที่เข้าใจในระบบโปรแกรมเวิร์ด, เอ็กเซลล์ การแปลงสกุลไฟล์จากเวิร์ด เอ็กเซลล์ไปเป็นพีดีเอฟ การอัพโหลดดาวน์โหลดข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ต บางครั้งจะต้องมีการกรอกข้อมูลในไฟล์พีดีเอฟ
"บางคนทำไม่เป็นแล้วไปว่าจ้างห้างร้านทำให้ ทางสมาคมเองเป็นห่วงในจุดนี้ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการขนาดเล็กต้องมีอุปกรณ์ช่วยในการดาวน์โหลด หากยังไม่มีจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมเรื่องอุปกรณ์เหล่านี้ได้แล้ว ที่สำคัญคือต้องทดลองระบบอินเทอร์เน็ตในพื้นที่ของตัวเองว่าเป็นอย่างไร สามารถเข้าถึงข้อมูลหรือมีปัญหาการใช้งานหรือไม่ หากพบปัญหาต้องรีบแจ้งทางกรมบัญชีกลางทันที"
ประการที่สอง คือ การแจกจ่ายข้อมูลความพร้อมของระบบกลาง และความเข้าใจของหน่วยงานราชการ ซึ่งในเรื่องความพร้อมนั้น เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ทางสมาคมทดลองดาวน์โหลดแบบก่อสร้าง เมื่อพิมพ์ออกมาผ่านเครื่องพิมพ์ปรากฎว่า แบบไม่ชัดเจน ไม่สามารถอ่านแบบได้ เนื่องจากความชัดเจนของระบบสามารถพิมพ์ได้ในกระดาษขนาด A3/A4 ขณะที่เครื่องพิมพ์อ่านแบบของบริษัทก่อสร้างจะอยู่ที่ขนาด A0/A1 แม้จะทดลองพิมพ์ขนาด A4 ก็ไม่สามารถอ่านแบบเพื่อประเมินราคาได้ เพราะไม่มีความละเอียดและขนาดตัวหนังสือเล็กจนมองไม่เห็น
"ปัญหาดังกล่าวได้แจ้งไปยังกรมบัญชีกลางตั้งแต่แรก แต่ล่าสุดยังไม่ได้รับการแก้ไข ฉะนั้นจึงประสบปัญหาเรื่องประมาณราคาไม่ได้ รวมถึงการกรอกข้อมูลบัญชีแสดงราคาที่ต้องเข้าไปแก้ไขในไฟล์พีดีเอฟนั้น เห็นว่าอาจจะส่งผลให้เกิดการกรอกข้อมูลที่ตกหล่นจากขั้นตอนการแปลงไฟล์จากเอ็กเซลล์ไปสู่พีดีเอฟ สิ่งที่จะตามมาคือการประเมินผู้ชนะจะทำได้ยาก การว่าจ้างตามมาด้วยความขัดแย้ง และนำมาสู่การพิจารณาที่ต้องใช้ดุลยพินิจสุดท้ายจะนำมาสู่การทุจริตคอร์รัปชัน ดังนั้นมองว่าในส่วนข้อมูลควรเป็นในรูปแบบเอ็กเซลล์"
ประการที่สาม ทุกครั้งที่มีปัญหาในการใช้งานลองติดต่อกรมบัญชีกลางผ่านระบบคอลเซ็นเตอร์ก็ติดต่อยากมาก โดยได้ทดลองโทรพบว่า ตั้งแต่เวลา 10.00-12.00 น. โทรติดแต่ไม่มีผู้รับสาย หลังเที่ยงโทรอีกครั้งมีผู้รับสาย ซึ่งการให้คำปรึกษาในเวลาที่ผู้ประกอบการประสบปัญหาในการใช้ระบบถือเป็นเรื่องสำคัญและจำเป็นอย่างมาก
ประการที่สี่ คือการตัดระบบขั้นตอนการชี้แจงแบบ ดูสถานที่ แต่เดิมนั้นในระบบ e-auction บริษัทที่ร่วมประมูลจะรับทราบข้อมูลเรื่องสถานที่ และแบบอย่างเท่าเทียมกัน เนื่องจากในระบบe-bidding ผู้เข้าประกวดราคาแต่ละรายจะได้รับการชี้แจงแบบไม่พร้อมกัน ดังนั้นเป็นกังวลว่าอาจจะได้รับข้อมูลไม่เท่าเทียม เนื่องจากบางบริษัทที่สนิทสนมกับเจ้าหน้าที่หรือมีความคุ้นเคยกับหน่วยงานอาจจะได้รับข้อมูลมากกว่า
นางลิซ่า กล่าวว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะอัพโหลดรูปภาพสถานที่เข้าไปในระบบเพื่อแก้ปัญหาตรงนี้ แต่สุดท้ายก็จะมีปัญหาในส่วนเขตก่อสร้างว่า เป็นพื้นที่แบบใด ที่บางครั้งจะต้องลงไปดูพื้นที่ ซึ่งบางทีการใช้รูปถ่ายเพื่อชี้แจงสถานที่ก็ทำไม่ได้ทั้งหมด ดังนั้นปัญหาเหล่านี้จะส่งผลต่อการประเมินราคาที่ก่อให้เกิดความคลาดเคลื่อน โดยกรมบัญชีกลางกับสมาคมฯ พยายามพิจารณาว่าอาจจะให้มาเจอกันในขั้นตอนนี้ แต่นั่นก็จะผิดวัตถุประสงค์ของe-bidding ที่ห้ามผู้รับเหมา ผู้ประกวดราคามาเจอกัน
" การจะแก้ปัญหาเรื่องคอร์รัปชันด้วยการเปลี่ยนระบบวิธีการประมูลนั้นอาจจะช่วยได้เพียงบางส่วน เนื่องจากการทุจริตหรือฮั้วประมูล ให้ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงเกิดจากบริษัทที่เป็นนายหน้าหางานให้กับผู้รับเหมา สาเหตุที่ทำให้มีบริษัทนายหน้านั้นเพราะประเทศไทยเป็นเพียงหนึ่งในไม่กี่ประเทศที่ไม่ยอมให้ใบอนุญาตแก่ผู้รับเหมาโดยตรง ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ระบบการประมูลเองได้ งานหลายอย่างที่ผ่านมาจึงเกิดการประมูลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ตัดหัวคิว"
ส่วนกรณีปัญหาระบบล่มนั้น นางพรวิลัย เดชอมรชัย ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ กรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมบัญชีกลางได้เตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ในการพัฒนาระบบ ที่สำคัญคือการเตรียมคนเข้ามาทำงานที่มีความรู้ด้านไอทีและอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์เครื่องมือที่ต้องนำมาใช้ในการปฏิบัติงาน ความรู้และข้อมูลต่างๆ นอกจากนี้แล้วกรมบัญชีกลางยังจัดอบรมให้กับผู้ค้าภาครัฐเกี่ยวกับการใช้ระบบe-bidding ยอมรับว่า อาจจะไม่ทั่วถึง แต่ได้พยายามจัดทำข้อมูลทั้งในรูปแบบซีดีแจกจ่ายแล้ว
“ส่วนในกรณีที่โทรมาแล้วไม่ติด กรมบัญชีกลางจัดให้มีคอลเซ็นเตอร์ในการให้ข้อมูล 20 คน สำหรับไว้ตอบคำถามปัญหาต่างๆ แต่เมื่อไม่สามารถจัดหาบุคคลากรได้มากพอตามความต้องการกับการช่วยเหลือคนทั้งประเทศ แต่ได้พยายามทำทุกอย่าง ทั้งผลิตข้อมูลความรู้ในรูปแบบซีดี ให้ดาวน์โหลดผ่านทางเว็บไซต์ และปัญหาต่างๆมุ่งมั่นที่จะแก้ปัญหาอย่างเต็มที่ แต่ด้วยความจำกัดของระบบราชการอาจจะยังไม่ได้ทั้งหมดอย่างที่ผู้ประกอบการคาดหวังจึงอยากให้เข้าใจในส่วนนี้ด้วย”