86 ชุมชน กำลังถูกไล่รื้อ ‘เครือข่ายสลัม 4 ภาค’ จี้ รบ.ตั้งศูนย์พักชั่วคราว-บ้านมั่นคงคนไร้บ้าน
เครือข่ายสลัม 4 ภาค เผยสถานการณ์สูญเสียที่อยู่อาศัย พบ 86 ชุมชนกำลังถูกไล่รื้อ 8.1 พันครัวเรือนได้รับผลกระทบ ยื่น4 ข้อเสนอรัฐบาล ตั้ง คกก.แก้ชุมชนถูกไล่รื้อ หนุนที่อยู่อาศัย 2 ระยะ ตั้งศูนย์พักชั่วคราว-บ้านมั่นคง เตรียมเคลื่อนขบวนไปทำเนียบฯ วันที่อยู่อาศัยโลก 5 ต.ค. 58 ติดตามความคืบหน้า
วันที่ 24 กันยายน 2558 เครือข่ายสลัม 4 ภาค คณะทำงานวาระทางสังคม และสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงข่าว ‘สถานการณ์การสูญเสียที่อยู่อาศัยของคนจนเมืองและการจัดงานรณรงค์เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก’ ในเวทีประชุมวิชาการ มองไปข้างหน้า สิทธิเพื่อความเป็นธรรมของการอยู่ร่วมกันในเมือง ณ อาคารสถาบัน 3 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นางนุชนารถ แท่นทอง เครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาการสูญเสียที่อยู่อาศัยว่า เป็นผลมาจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทำให้คนจนต้องประสบกับภาวการณ์ไร้ที่อยู่อาศัย ครอบครัว และชุมชนต้องล่มสลาย และไม่มีกลไก มาตรการ หรือนโยบายของรัฐบาลที่ชัดเจนในการแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ ข้อมูลรวบรวมเบื้องต้น พบว่า มีชุมชนกำลังถูกไล่รื้อ 86 ชุมชน ผู้ได้รับผลกระทบกว่า 8,100 ครัวเรือน หรือประมาณ 34,000 คน เนื่องมาจากโครงการพัฒนาการขนส่งระบบราง ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง การขยายทางคู่ขอบข่ายทั่วประเทศ ในพื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ รวมถึงโครงการจัดการน้ำ 9 คลองหลักในกรุงเทพฯ
ผู้แทนเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เอกชนที่อยู่ใกล้โครงการพัฒนาของรัฐ ที่ได้รับอานิสงค์ทำให้พื้นที่เปิดเหมาะกับการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดมิเนียม ไม่เว้นแม้กระทั่งที่ดินของวัดที่ประชาชนอยู่อาศัยมานานก็ถูกไล่รื้อ เพื่อนำที่ดินไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ด้วยเหตุนี้ เครือข่ายสลัม 4 ภาค จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์(พม.) ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหา ดังนี้
1.ให้มีการแต่งตั้งกลไกคณะกรรมการแก้ปัญหาชุมชนที่ถูกไล่รื้อ เพื่อทำหน้าที่ประสานงาน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และร่วมกันหาแนวทางในการแก้ปัญหา เพื่อเป็นกลไกในการลดความรุนแรงและคลี่คลายในเบื้องต้น
2.โครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐบาลที่กระทบต่อคนจน และคนจำนวนมาก รัฐบาลต้องเปิดให้ผู้ได้รับผลกระทบมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการกำหนดการพัฒนาและการแก้ปัญหา และต้องมีการอนุมัติงบประมาณในการแก้ปัญหาสำหรับผู้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนา
3.ต้องมีการตั้งคณะกรรมการโฉนดชุมชน และเดินหน้าทำงานตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านที่ต้องการแก้ปัญหาเพื่อสร้างหลักประกันในด้านที่อยู่อาศัย และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
4.กรณีคนเร่ร่อนไร้บ้าน ในการจัดระเบียบพื้นที่ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องอยู่ในภาวะยากลำบากในการใช้ชีวิต ดังนั้นรัฐบาลต้องมีนโยบายสนับสนุนที่อยู่อาศัยสำหรับคนไร้บ้านใน 2 ระยะ คือ ศูนย์พักชั่วคราว และบ้านมั่นคงสำหรับคนไร้บ้าน ที่ดำเนินการโดยภาคประชาชน
นางนุชนารถ กล่าวด้วยว่า วันที่ 5 ตุลาคม ปีนี้ตรงกับวันที่อยู่อาศัยโลก เครือข่ายสลัม 4 ภาค จะจัดขบวนรณรงค์กว่า 2,000 คน เคลื่อนไปยังทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 09.00 น. เพื่อติดตามข้อเสนอ และให้รัฐบาลประกาศนโยบายที่ชัดเจน ต่อไป
ด้านศ.สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง กล่าวว่า ที่อยู่อาศัยเป็นความต้องการของมนุษย์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เครือข่ายสลัม 4 ภาคมีความเข้มแข็ง และทำงานอย่างต่อเนื่อง นอกจากช่วยเหลือกันเองแล้ว ยังช่วยเหลือผู้ไร้บ้านในประเทศเพื่อนบ้านด้วย
ทั้งนี้ เราต้องอยู่ร่วมกันให้ได้ แต่มิใช่การอยู่ด้วยกันแบบแพ้ชนะ อย่างไรก็ตาม ระบบทุนนิยมปกติจะส่งเสริมให้คนคิดเช่นนั้น ยิ่งการเมืองเชิงอำนาจที่ผ่านมา มองการแพ้ชนะกับระบบทุนนิยมไปด้วยกัน ซึ่งโลกในอนาคตกลับเป็นไปไม่ได้ เพราะขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับความเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง อันเกิดจากความคิดแพ้ชนะทางการเมืองครอบงำ ทำให้โลกมุ่งจับขั้วใดขั้วหนึ่งเพื่อหวังชนะ
ศ.สุริชัย ยังกล่าวถึงการประกาศนโยบายเศรษฐกิจพิเศษว่า ทำให้ประชาชนบางกลุ่มกังวลใจ จะจัดการอย่างไร เพราะมีกฎหมายบางฉบับถูกบังคับใช้เด็ดขาด ซึ่งยังมีหน่วยงานราชการบางส่วนตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจฐานราก จะต้องสร้างหลักการความมั่นคงควบคู่ด้วย รวมถึงการพัฒนาท้องถิ่น ความมั่นคงของชีวิต ที่อยู่อาศัย โดยเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประเทศในอนาคต มิใช่ผลักดันเฉพาะเขตเศรษฐกิจพิเศษ