รัฐบาลเมินเสียงร้องเอกชนขอ “เลื่อนปรับค่าแรง 300 บ.ออกไป 1 ปี”
ปลัดแรงงานยันกำหนดการเดิมขึ้นค่าจ้าง 300บ. 1 เม.ย. หลัง “กิตติรัตน์” ฟันธง รบ.ลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% แล้ว เชื่อสถานประกอบการน้ำท่วมฟื้นฟูได้ทัน- อ้างกระตุ้นเศรษฐกิจ-เพิ่มรายได้แรงงาน สภาอุตฯ เผยซ้ำเติมภาคเอกชนเห็นๆ
นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้างกลาง กล่าวถึงข้อเสนอของภาคเอกชนให้ชะลอการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทต่อวัน นำร่องใน 7 จังหวัดและจังหวัดที่เหลือปรับขึ้น 40% ทั่วประเทศ ที่กำหนดไว้ 1 เม.ย.55 ว่าไม่สามารถเลื่อนเวลาบังคับใช้ออกไปได้ ซึ่งในเร็วๆจะเสนอมติดังกล่าวเข้า ครม. ทั้งนี้เชื่อว่ากรอบเวลาที่กำหนดไว้เหมาะสม และสถานประกอบการที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจะฟื้นฟูได้ทันเวลา และสามารถจ่ายค่าจ้างได้ตามอัตราที่ปรับขึ้นได้ ซึ่งตนมองในแง่ดีว่าจะยิ่งช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น เกิดกำลังซื้อในตลาดสูงขึ้น เป็นไปตามกลไกตลาด
ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มาตรการเยียวยาผู้ใช้แรงงานรายละ 3,000 บาท ได้ผ่านความเห็นชอบของอนุกรรมการเยียวยาเพื่อสังคมแล้ว และจะเสนอให้คณะกรรมการเยียวยาเพื่อสังคมชุดพล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานต่อไป
นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า สำนักงานประกันสังคม(สปส.) ได้ออกประกาศเลื่อนการส่งเงินสมทบให้แก่ผู้ประกันตนทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 ออกไปจนกว่าสถานการณ์น้ำจะลดลง โดยประเมินตามพื้นที่ประสบอุทกภัย
ด้านนายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่าภาคเอกชนผิดหวังกับแนวคิดของรัฐบาลที่ไม่ยอมเลื่อนการปรับขึ้นค่าแรงวัน ละ 300 บาท เนื่องจากโรงงานประมาณ 2 หมื่นแห่งที่การจ้างงานกว่า 7-8 แสน คนได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมอย่างหนัก และยังมีภาระต้องหาเงินมาฟื้นฟูกิจการจำนวนมหาศาล
“เพียงต้องการเลื่อนการขึ้นค่าแรงมาเป็นวันที่ 1 ม.ค.56 หรือเลื่อนอีก 8 เดือน เพื่อที่ให้โรงงานต่างๆรวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมสามารถตั้งหลักได้ หากรัฐไม่ยอมเลื่อนก็จะมีภาระมากมาย ทั้งการฟื้นฟูและซื้อเครื่องจักรใหม่ การหาคำสั่งซื้อสินค้าใหม่หลังจากที่บางรายอาจสูญเสียกรณีที่ไม่สามารถผลิตสินค้าในช่วงน้ำท่วมได้ทันตามกำหนด รวมถึงมีต้นทุนแรงงานและต้นทุนวัตถุดิบอีกมาก” นายธนิต กล่าว
ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่ารัฐบาลจะไม่เลื่อนระยะเวลาปรับขึ้นค่าแรงออกไปตามที่ภาคเอกชนเสนอ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายลดภาษีนิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ให้แล้ว .