เก็บตกเวทีตรวจสอบสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ (1) เทียบรายงานรัฐ-ราษฎร์-ยูเอ็น
เมื่อต้นเดือนที่แล้ว (ต.ค.2554) มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย โดยเฉพาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือการประชุมคณะทำงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่ากระบวนการ "ยูพีอาร์" (Universal Periodic Review; UPR)
การประชุมจัดขึ้นที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 5 ต.ค.2554 ตามเวลาท้องถิ่น
ทั้งนี้ “ยูพีอาร์” นับเป็นกลไกตรวจสอบสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (HRC) โดยประเทศสมาชิก 192 ประเทศต้องจัดทำรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศของตนทุกๆ 4 ปีเพื่อรายงานให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ได้รับทราบ ซึ่งนอกจากรายงานระดับชาติ (national report) ที่มีรัฐบาลร่วมกับทุกภาคส่วนเป็นผู้จัดทำ และรายงานของสหประชาชาติเองที่รวบรวมข้อมูลโดยสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) แล้ว ทางสหประชาชาติยังเปิดรับรายงานจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือจากภาคประชาสังคม (stakeholder report) ด้วย และรายงานจากทั้งสามส่วนจะถูกนำไปใช้ในกระบวนการยูพีอาร์
ในกระบวนการยกร่างรายงานของประเทศ ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในทุกภูมิภาคหลายครั้ง เมื่อได้ร่างรายงานมาแล้ว ทางองค์กรภาคประชาสังคม อย่างเช่น มูลนิธิศักยภาพชุมชนและองค์กรเครือข่ายก็ได้จัดเสวนาประชาสังคมกับสิทธิมนุษยชนว่าด้วยกลไกยูพีอาร์ เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อกระบวนการยูพีอาร์และรับทราบสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยเอง ทั้งยังจัดเวทีที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ครั้งหนึ่งด้วย โดยมุ่งเน้นไปที่ประเด็นสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้
“ทีมข่าวอิศรา” เห็นว่าความเคลื่อนไหวดังกล่าวนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะปัญหาเรื่องความเป็นธรรมและสิทธิมนุษยชนคือปัญหาพื้นฐานปัญหาหนึ่งของจังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงได้สรุปสาระจากการเสวนา สาระจากรายงานทั้งฉบับของรัฐบาล ภาคประชาสังคม และสำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (ในที่นี้ขอเรียกย่อๆ ว่ารายงานของยูเอ็น) มานำเสนอแบบกะทัดรัด เข้าใจง่าย เพื่อให้สังคมได้ร่วมรับรู้และเพิ่มการมีส่วนร่วมกับกระบวนการมากขึ้นในอนาคต
เพราะสิทธิมนุษยชนเป็นเรื่องของทุกคน มิใช่ของรัฐบาลหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง
ทั้งนี้ จะมีการนำเสนอรายงานฉบับเต็มของประเทศไทย (เฉพาะประเด็นสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในรายงานฉบับจริงมีประเด็นอื่นๆ ด้วย เช่น ฆ่าตัดตอนในสงครามยาเสพติด, โรฮิงญา ฯลฯ) และรายงานของมูลนิธิยุติธรรมเพื่อสันติภาพ ในตอนต่อๆ ไป ของสกู๊ปข่าวชุดนี้ด้วย
เทียบรายงาน "รัฐ-ราษฎร์-ยูเอ็น"
รายงานที่นำเสนอต่อกระบวนการยูพีอาร์ มีรายละเอียดโดยสรุปที่น่าสนใจดังนี้
- กฎหมายภายในที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
รายงานของประเทศไทย ไม่มีระบุเอาไว้
รายงานของยูเอ็น ระบุว่า กติการะหว่างประเทศยังมิได้รับการนำไปปรับใช้กับกฎหมายภายในของไทย และบทบัญญัติก็มิได้รับการนำไปปฏิบัติในศาล ทั้งกฎหมายความมั่นคง อาทิ พระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 (พ.ร.บ.ความมั่นคง) พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 (กฎอัยการศึก) และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ส่งผลกระทบเชิงลบต่อนิติรัฐ รวมถึงการไม่ดำเนินการตามกระบวนการทางกฎหมาย โดยเฉพาะในบริเวณสามจังหวัดชายแดนใต้ (ซึ่งเป็นบริเวณที่กฎหมายทั้งสามชุดได้รับการประกาศใช้ ณ ขณะนี้)
รายงานของภาคประชาสังคม อ้างอิงถึงกฎอัยการศึก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ว่าเป็นกฎหมายที่ถูกใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพ เงื่อนไขบางประการในสนธิสัญญาสากลยังไม่ได้ถูกนำไปปรับใช้กับกฎหมายภายในประเทศ รวมถึงมีการจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ สิทธิของผู้ต้องขัง และการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม
- การปฏิบัติและการลงโทษนอกกฎหมายหรือไร้มนุษยธรรม
รายงานของประเทศไทย อ้างมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าห้ามการทรมานและการลงโทษที่โหดร้ายและไร้มนุษยธรรม, ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) ห้ามใช้การทรมานในขั้นตอนการดำเนินคดี บุคคลใดที่ถูกทรมานโดยเจ้าหน้าที่รัฐในระหว่างขั้นตอนการสอบสวนมีสิทธิที่จะยื่นฟ้องต่อศาลตาม ป.วิอาญา ได้, ผู้ต้องหาทุกคนจะได้รับการตรวจร่างกายเมื่อถูกส่งตัวไปยังเรือนจำตามระเบียบราชทัณฑ์ นอกจากนั้น ผู้ถูกทรมานมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ค่าเสียหายภายใต้กฎหมายอาญาและกฎหมายแพ่ง
รายงานของยูเอ็น ระบุว่าในปี 2548 ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตัวอย่างมากมาย อันเกี่ยวข้องกับการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรมและการปฏิบัติอันไร้มนุษยธรรมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจและกองทัพ อาทิ เหตุการณ์ตากใบและเหตุการณ์กรือเซะ
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า ประเทศไทยภายใต้หลายรัฐบาลได้ตอบโต้การประท้วงด้วยการใช้กำลังที่ไม่จำเป็นและ/หรือเกินกว่าเหตุ เช่น การประท้วงโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซีย การประท้วงในตากใบ และการประท้วงของกลุ่มคนเสื้อแดงในเดือน เม.ย.ถึง พ.ค. 2553
อีกส่วนหนึ่ง คือ ตำรวจและกองกำลังฝ่ายความมั่นคงมีการใช้กำลังเกินกว่าเหตุระหว่างการปฏิบัติงาน ตัวอย่างที่ชัดเจน เช่น เหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ (รวมถึงเหตุการณ์ที่มัสยิดกรือเซะเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2547) และสงความต่อต้านยาเสพติดที่ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 2,800 คนภายในระยะเวลา 3 เดือน ภายใต้รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
นอกจากนั้น ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในภาคใต้เป็นระยะเวลานาน ทำให้การละเมิดสิทธิมนุษยชนเพิ่มมากขึ้น มีสถานที่คุมขังอย่างไม่เป็นทางการที่โลกภายนอกไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้ผู้ต้องขังมีความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่งที่จะถูกทรมานและปฏิบัติอย่างเลวร้าย มีรายงานอ้างว่าสถานที่คุมขังอย่างไม่เป็นทางการนี้มีมากถึง 21 แห่ง ผู้ที่ต้องเสนอรายงานทางการแพทย์เกี่ยวกับการซ้อมทรมานมักจะนำเสนอรายงานอย่างคลุมเครือ ไม่ชัดเจน สภาพของที่คุมขังโดยส่วนใหญ่มักจะเลวร้ายและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการตีตรวนนักโทษ และขาดการพิจารณาคดีอย่างไตร่ตรองในกระบวนการยุติธรรม อีกทั้งขาดองค์กรตรวจสอบอิสระ
- ความรุนแรงต่อเด็กและสตรี
รายงานของประเทศไทย ระบุว่า เด็กในจังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องได้พยายามส่งเสริมการพัฒนาและคุ้มครองเด็กเหล่านี้จากความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ส่งผลให้เมื่อปี พ.ศ.2553 มีจำนวนเด็กที่ได้รับผลกระทบจาก ความรุนแรงลดลงอย่างมากที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2547
รายงานของยูเอ็น ระบุว่า ในปี 2554 เลขาธิการใหญ่แห่งสหประชาชาติ กล่าวว่าสหประชาชาติได้รับรายงานที่กล่าวหาถึงกิจกรรมของกองกำลังติดอาวุธนอกภาครัฐและชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน (ชรบ.) นอกจากนั้นความรุนแรงในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ส่งผลให้มีเด็กเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก แม้ว่าไทยจะมีความพยายามปกป้องพวกเขาก็ตาม เด็กกลายเป็นเป้าหมายของการบังคับใช้กฎอัยการศึกและ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เนื่องจากผลของกลไกกฎหมายพิเศษภายใต้กฎหมายความมั่นคง และการขาดชุดควบคุมการบังคับใช้กฎหมายสำหรับเยาวชน
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า การที่เด็กและเยาวชนถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของ ชรบ.เป็นปัญหาเดียวกับการถูกนำไปเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังติดอาวุธฝ่ายตรงข้าม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) อ้างว่าการคุมขังเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีนั้นไม่สอดคล้องกับกับหลักปฏิบัติสากล
ผู้หญิงมาเลย์มุสลิมได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในภาคใต้ และต้องเผชิญกับการค้ามนุษย์ ความรุนแรงในครอบครัว และปัญหาสุขภาพ ปัจจุบันในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีผู้หญิงหม้ายมากกว่า 2,188 คน และการล่วงละเมิดทางเพศรวมถึงการข่มขืนผู้หญิงและเด็กมีเพิ่มมากขึ้น
- การอำนวยความยุติธรรมในจังหวัดชายแดนภาคใต้
รายงานของประเทศไทย ระบุว่า การอำนวยความยุติธรรมเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามแก้ไขปัญหา โดยใช้หลักการสมานฉันท์และสันติวิธี รัฐบาลได้จัดทำแผนการอำนวยความเป็นธรรม (พ.ศ.2552-2555) และแผนยุทธศาสตร์พัฒนากระบวนการยุติธรรมในเขตพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (พ.ศ.2553-2557) รวมทั้งได้จัดตั้งกลไกรับข้อร้องเรียนต่างๆ
รายงานของยูเอ็น ระบุว่า มีข้อกังวลพิเศษเกี่ยวกับการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพราะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติภารกิจภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินนั้นจะได้รับการละเว้นโทษตามกฎหมายอาญาหรือโทษทางวินัย เป็นเหตุให้ปัญหาเรื่องการไม่ต้องรับผิดรุนแรงขึ้น
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า การใช้กฎหมายความมั่นคงพิเศษที่ซ้ำซ้อนอย่างต่อเนื่องในภาคใต้เป็นการเพิ่มอำนาจของกองทัพซึ่งเป็นการทำลายภาระความรับผิดชอบแบบประชาธิปไตย รัฐบาลได้ใช้กฎหมายที่เข้มงวดรุนแรงเพื่อปกครอง ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของรัฐมากกว่าจะเคารพหลักการนิติรัฐ การใช้หมายจับถูกกล่าวหาว่านำไปสู่การจับกุมอีกครั้ง รวมทั้งมีการคุมขังโดยพลการและการบังคับให้มีส่วนร่วมในค่ายทหาร
ภายใต้กระบวนการยุติธรรมในปัจจุบันนี้ มีการเลื่อนเวลาการพิจารณาคดีให้ใช้เวลานานกว่าจะสำเร็จในภาคใต้ของประเทศไทย และไม่ง่ายสำหรับนักโทษที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีที่จะได้ประกันตัว การขาดความยุติธรรมที่เป็นพื้นฐานนี้กระตุ้นให้เกิดความรู้สึกถึงการละเมิดของรัฐและความขมขื่นในหมู่ประชากรมาเลย์มุสลิมท้องถิ่นในภาคใต้ของประเทศไทย
- ประเด็นการไม่ต้องรับผิด
รายงานของประเทศไทย ไม่มีในประเด็นนี้
รายงานของยูเอ็น กล่าวถึงความท้าทายในการบริหารงานกระบวนการยุติธรรมว่ามีความเชื่อมโยงกับการไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงอื่นๆ ข้อท้าทายนี้ถูกขับเน้นโดยการไม่ประสบความสำเร็จในการดำเนินคดีกับเจ้าพนักงานในหลายคดีที่เป็นที่น่าจับตา เช่น กรณีการเสียชีวิตของชาวมาเลย์มุสลิมจำนวน 78 ศพในเหตุการณ์ตากใบ เมื่อวันที่ 25 ต.ค.2547 หรือกรณีการหายตัวไปของ นายสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชนในวันที่ 12 มี.ค.2547 เป็นต้น
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า การไม่ต้องรับผิดของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัญหาที่รุนแรงในประเทศไทย ภายใต้กฎอัยการศึกบุคคลจากกองทัพได้รับการคุ้มกันจากการฟ้องร้องทางอาญาและคดีแพ่ง ภายใต้มาตรา 17 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เจ้าหน้าที่ได้รับความคุ้มกันจากการลงโทษทางแพ่ง อาญา และวินัยตราบเท่าที่พวกเขาปฏิบัติด้วยการกระทำที่สุจริตและไม่เกินสมควรเหตุหรือไม่เกินแก่กรณีจำเป็น ในทางปฏิบัติวลีนี้ได้ถูกตีความเป็นการให้ความคุ้มกันการปฏิบัติตามคำสั่งเบื้องบน ซึ่งขัดกันกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
การไม่ต้องรับผิดเมื่อมีการทรมาน การสังหารหมู่ และการบังคับสูญหาย คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล รายงานว่าการตัดสินศาลอุทธรณ์ที่เพิ่งผ่านไปในกรณีของนายสมชาย นีละไพจิตร ทำให้รัฐหลุดพ้นจากความรับผิดชอบใดๆ ต่อการถูกบังคับสูญหายของเขา
ส่วนเรื่องเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารสังหารผู้ต้องสงสัยว่าก่อความไม่สงบ 32 คนในมัสยิดกรือเซะเมื่อปี พ.ศ.2547 อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2552 บนพื้นฐานเหตุผลว่าการใช้กำลังนั้นมีเหตุผลตามสถานการณ์
เช่นเดียวกับการเสียชีวิตจากการขาดอากาศหายใจของผู้ประท้วงที่เป็นพลเมือง 78 คนใน อ.ตากใบ จ.นราธิวาส ในช่วงที่กำลังส่งตัวไปสถานกักกัน และแม้ว่าจะมีการค้นพบว่าเจ้าหน้าที่กองทัพระดับอาวุโสยากที่จะหลุดพ้นจากความรับผิดชอบต่อคำสั่งของตน แต่อัยการสูงสุดก็ออกคำสั่งไม่ฟ้องคดีอาญาในปี 2553 โดยไม่มีคำอธิบาย
- การศึกษาในพื้นที่ชายแดนภาคใต้
รายงานของประเทศไทย ระบุว่า เด็กนักเรียนมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้รับการศึกษาโดยใช้หลักบูรณาการที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิต อัตลักษณ์ วัฒนธรรม และความต้องการเฉพาะของประชาชนในพื้นที่
รายงานของยูเอ็น ตั้งข้อสังเกตว่า การโจมตีโรงเรียนในปี พ.ศ.2553 ลดน้อยลง เช่นเดียวกับการโจมตีนักเรียนและครูในสามจังหวัดชายแดนใต้ การที่มีทหารประจำการอยู่ในโรงเรียนในพื้นที่ยังคงเป็นข้อที่น่ากังวล
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบมุ่งเป้าไปที่ครูชาวมาเลย์มุสลิมที่สอนในโรงเรียนของรัฐ และผู้บริหารโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่ต่อต้านความพยายามของกลุ่มก่อความไม่สงบที่จะใช้ห้องเรียนสำหรับเผยแพร่ลัทธิและคัดเลือกคนเข้าขบวนการ
- กลุ่มชนมุสลิมในภาคใต้ของประเทศไทย
รายงานของประเทศไทยและยูเอ็น ไม่มีระบุในประเด็นนี้อย่างชัดเจน
รายงานของภาคประชาสังคม ระบุว่า ความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีเหตุผลรากฐานจาก 3 ปัจจัยหลัก หนึ่งในนั้นได้แก่ความแตกต่างของอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์และศาสนาของประชาชนในท้องถิ่น
นอกจากนั้นยังมีประเด็นเสริมว่า รัฐบาลไม่มีความก้าวหน้าใดๆ ในการจำกัดอำนาจและอิทธิพลของกองทัพในภาคใต้ และกองทัพได้สร้างความกดดันที่ไม่ยอมรับรูปแบบใดๆ ก็ตามของการปกครองตนเองในภาคใต้ หลังจากที่มีนักการเมืองเสนอว่าการให้อำนาจปกครองตัวเองมากขึ้นจะสามารถหยุดการก่อความไม่สงบได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5 ประเด็นที่รัฐยังไม่ตอบรับการตรวจสอบ
นายอับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ ตัวแทนจากยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย (ยมท.) กล่าวว่า มีความจริงหลายชุดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นแต่ละองค์กรควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันที่ชัดเจนมากกว่านี้ สื่อมวลชนกับภาคประชาสังคมที่มีอยู่ยังมีปัญหาเพราะการทำงานไม่บูรณาการกัน ด้วยความจริงที่มีหลายชุดของพื้นที่จึงต้องมาคุยกัน ใครทำผิดก็ต้องถูกลงโทษ ไม่ใช่เลี้ยงไข้กันอยู่อย่างนี้
นายอับดุลอซิซ ยังเห็นว่า หลังจากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อต้นปี พ.ศ.2547 และมีการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 เหตุความรุนแรงลดลงแต่มีเป้าหมายชัดเจนขึ้น แต่ละครั้งที่เกิดเหตุมักรุนแรงต่อความรู้สึก เช่น การกราดยิงในมัสยิด การยิงพระที่กำลังออกบิณฑบาต รวมทั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนจากเจ้าหน้าที่รัฐยังมีอยู่และปฏิบัติแนบเนียนมากขึ้น ส่วนรัฐบาลชุดปัจจุบัน (น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร) ก็แค่หาเสียงตอนเลือกตั้งกับนโยบายเลื่อนลอย ประชาชนยังเป็นเหยื่อของการใช้กฎหมายและการละเมิดสิทธิ์ ต้องพยายามให้ยกเลิกพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฏอัยการศึกให้ได้ เพราะเป็นกฏหมายที่เจ็บปวด ทุกฝ่ายต้องเป็นส่วนหนึ่งในการทำให้สถานการณ์หยุดให้ได้
น.ส.พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ เจ้าหน้าที่วิจัยด้านสิทธิมนุษยชน มูลนิธิศักยภาพชุมชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการพิเศษแห่งสหประชาชาติได้ยื่นคำขออนุญาต่อรัฐบาลไทยเพื่อเข้ามาตรวจประเด็นสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย แต่รัฐบาลยังไม่ตอบรับ
สำหรับคำขออนุญาตตรวจการมี 5 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประกอบด้วย
1.เสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ยื่นคำขอเมื่อ 7 ปีที่ผ่านมา
2.การวิสามัญฆาตกรรม การจับกุม คุมขังโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรม ยื่นคำขอ 3 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2548, 2551, 2553
3.การจับกุมคุมขังตามอำเภอใจ ยื่นคำขอเมื่อปี พ.ศ.2551
4.การต่อต้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนและต่อต้านการก่อการร้าย ยื่นคำขอ 2 ครั้ง เมื่อปี พ.ศ.2551 และ 2553
5.รัฐบาลยังไม่ตอบรับตามคำขอเข้ามาติดตามการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เมื่อปี พ.ศ.2551 และปี พ.ศ.2553
"ถึงแม้รัฐบาลจะไม่รับคำขออนุญาตจากผู้ตรวจการพิเศษ แต่ผู้ตรวจการพิเศษก็สามารถทำงานตรวจสอบและติดตามประเด็นนั้นๆ จากภายนอกประเทศได้ ส่วนรัฐบาลจะตอบรับคำขอของผู้ตรวจการพิเศษหรือไม่ขึ้นอยู่กับการรวมกลุ่มและความเข้มแข็งของภาคประชาสังคมในการกดดันให้รัฐบาลรับคำขอด้วยเช่นกัน" น.ส.พิมพ์สิริ กล่าว
------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ภาพจากเว็บไซต์ยูพีอาร์ http://www.upr-info.org/-Webcast-.html
2 อับดุลอซิซ ตาเดอินทร์ (ภาพจากงานสัมมนาของมูลนิธิศักยภาพชุมชน)