ผู้ว่าฯ กฟผ.โต้ไม่เคยบอกโรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดหมดจด
ผู้ว่าฯ กฟผ. เผยโรงไฟฟ้าถ่านหินใช้เทคโนโลยีประสิทธิภาพสูงจัดการมลพิษ ระบุควบคุมก๊าซเรือนกระจกได้ 20-30% ‘ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์’ ชี้คนไทยไม่เชื่อมั่นในคน จะจัดการปัญหาได้ แนะสร้างแผนบริหารความเสี่ยง กรณีเรือขนส่งล่ม ติงบางครั้งข้อมูลเอ็นจีโอ-รัฐ สุดโต่ง ฝันอยากเห็นสองฝ่ายร่วมมือกัน
วันที่ 23 กันยายน 2558 สมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ จัดเสวนา ‘คนไทยกลัวอะไร ถ้ามีโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ณ ห้องประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ตึกช้าง อาคารบี กรุงเทพฯ
นายสุนชัย คำนูณเศรษฐ์ ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวถึงความจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ว่า แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2558-2579 (PDP 2015) สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน ได้วางแผนอย่างระมัดระวังและรอบคอบ ทั้งนี้ การกระจายความเสี่ยง ได้เพิ่มพลังงานทดแทน และพลังงานหมุนเวียนเข้าไปเกือบ 2 หมื่นเมกะวัตต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องท้าทาย
สำหรับโจทย์ทำไมคนไทยจึงกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหิน ยืนยันเป็นเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้น แต่หากพูดให้ชัดเจน คือ มีใครทำให้คนไทยกลัวโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ ซึ่งข้อมูลบางเรื่องสามารถค้นหาได้จากอินเทอร์เน็ต แต่ถามว่าการหยิบยกขึ้นมามีเจตนาอย่างไร และผ่านการศึกษารอบคอบหรือไม่
ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวยกตัวอย่าง มีการร้องเรียนเรือขนน้ำมันทิ้งสมอทำลายปะการัง แต่ข้อเท็จจริงที่พิสูจน์โดย กฟผ.ร่วมกับชาวบ้านดำน้ำลงไปพบพื้นที่ดังกล่าวเป็นเนินทราย ไม่มีปะการัง หรือจะมีเรือขนถ่านหินวันละ 90 รอบ ผ่านเกาะลันตา ซึ่งอาจทำให้นักท่องเที่ยวดำน้ำชมปะการังโผล่หัวขึ้นมาชนเรือได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อมูลที่คลาดเคลื่อน
นอกจากนี้ยังสื่อสารว่า เส้นทางขนส่งถ่านหินเป็นภัยพิบัติครั้งใหม่ เร็วและแรงยิ่งกว่าสึนามิ โหดร้ายกว่าระเบิดฮิโรชิมา ทำให้คนเกาะลันตาตายทั้งเป็น ข้อมูลเหล่านี้ค่อนข้างสร้างความหวาดกลัว ทั้งที่ กฟผ.ระบุตลอดมาว่า เรือขนส่งถ่านหินและกระบวนการนำขึ้นมาใช้เป็นระบบปิดทั้งหมด ถือเป็นการลงทุนจริง ๆ เพราะตั้งใจไม่ให้ระหว่างการขนส่งเกิดฝุ่นละอองตกไปในทะเล
สำหรับการบิดเบือนข้อมูลข้างต้นนั้น นายสุนชัย กล่าวว่า กฟผ.ถูกตำหนิตลอดเวลาให้ข้อมูลด้านเดียว ทั้งที่มีข้อเสียมากมาย ถามว่าข้อเสียเหล่านั้นเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ เราไม่เคยบอกว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินสะอาดหมดจด ไม่ปล่อยของเสียออกมาเลย แต่เราบอกว่า สิ่งที่ปล่อยออกมา เช่นสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ได้รับการกำจัดจากเครื่องทำให้ไม่เกินค่ามาตรฐาน และยังสัญญาจะปล่อยไม่เกิน 1/3 ของมาตรฐานที่กำหนด
ยกเว้นก๊าซเรือนกระจกไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่การเลือกใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงก็สามารถลดได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20-30
“สิ่งที่ กฟผ.ดำเนินการ นอกเหนือจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน เพื่อให้ภาคใต้มีไฟฟ้าใช้เพียงพอ ซึ่งแผน PDP 2015 เติบโตประมาณ 3.49% แต่โดยนโยบายของรัฐบาลต้องการส่งเสริมนโยบายประหยัดพลังงาน และเมื่อเทียบกับแผน PDP เดิม ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะลดลงได้ 1 หมื่นเมกกะวัตต์ จากโปรแกรมต่าง ๆ ในการอนุรักษ์พลังงาน นั่นหมายความว่า แผน PDP 2015 จะสร้างโรงไฟฟ้าบนพื้นฐานการประหยัดพลังงาน”
ผู้ว่าฯ กฟผ. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันไทยใช้ก๊าซประมาณ 1.8 หมื่นเมกกะวัตต์ หากก๊าซหมดจะนำพลังงานไหนมาแทน พลังงานทดแทน แสงแดด หรือลม ใช้ได้หรือไม่ กำลังเป็นปัญหา จึงคิดถึงถ่านหินเป็นทางเลือก ทั้งนี้ ภาคใต้เติบโตด้านการท่องเที่ยวร้อยละ 8 ต่อปี แต่แผน PDP วางแผนเติบโตประมาณร้อยละ 2.9 เท่านั้น หากไม่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่กระบี่ภายในปี 2562 ภาคใต้จะมีไฟฟ้าใช้ไม่เพียงพอ
ด้าน ดร.ทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คนไทยกำลังติดภาพโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ทำให้ความทรงจำดังกล่าวหลอกหลอนการพัฒนาประเทศ ซึ่งกระทรวงพลังงานชี้แจงมาตลอดว่า เป็นเรื่องในอดีต และปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาแล้ว การบริหารจัดการหลายเรื่องนำมาเป็นบทเรียน และพร้อมแก้ไขให้ดีขึ้น ดังนั้น จึงตั้งใจออกแบบใหม่ เพื่อไม่ให้บทเรียนเก่ากลับมาเกิดขึ้นอีก
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีความเสี่ยงปัจจัยด้านไฟฟ้า คือ มีการใช้ก๊าซมากเกินไป ส่วนหนึ่งมาจากสาเหตุไม่สามารถก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก-หินกรูดได้ จึงต้องใช้ก๊าซ ไป ๆ มา ๆ ไทยมีการใช้ก๊าซผลิตไฟฟ้าร้อยละ 70 ทำให้เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สะสมมาโดยไม่รู้ตัว และหากปล่อยไปจะกลายเป็นความจริงในอนาคต โดยเกิดความเสี่ยงของก๊าซ เนื่องจากแหล่งในประเทศลดลง ทำให้ต้องนำเข้าเพิ่มมากขึ้น
ผอ.สำนักงานนโยบายฯ ยังระบุถึงแผน PDP 2015 มีนโยบายลดการใช้ก๊าซลง และเพิ่มพลังงานทดแทน ซื้อไฟต่างประเทศเพิ่มเติมจากเมียนมาร์และลาว หรือเพิ่มโรงไฟฟ้าถ่านหิน ส่วนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็มี แต่ยังไกลเกินกว่าจะพูดถึง อย่างไรก็ตาม ต้องเขียนไว้เพื่อสร้างโอกาสในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ในอนาคต
ทั้งนี้ แผนมีก๊าซต้นทางประมาณร้อยละ 60-70 เหลือปลายทางร้อยละ 37 ถ่านหินร้อยละ 18 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23 ซึ่งเพิ่มถ่านหินร้อยละ 4 เเละเพิ่มพลังงานทดแทนเท่าตัว พร้อมยืนยันไม่ได้ละเลยพลังงานทดแทน แต่พลังงานอย่างอื่นก็มีความจำเป็น
ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และรองคณบดีคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า ปัญหาของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มิได้มีสาเหตุจากคนไม่เชื่อมั่นเทคโนโลยี แต่เกิดจากคนไม่เชื่อมั่นในคน ซึ่งกรณีบ้านกรูด บ่อนอก เป็นจุดเริ่มต้นของความสับสน และต่อเนื่องความไม่เชื่อใจกันหลายฝ่าย ท้ายที่สุด ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงตอนนี้จะทำให้เหตุการณ์ฝังใจได้
“สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการแย่งชิงมวลชน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับวิธีการ ในบางครั้งข้อมูลของกรีนพีซฯ และกฟผ. สุดโต่งทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม อยากเห็นการร่วมมือกัน และไม่อยากให้ผู้อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมองด้านเดียวว่า หากเกิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน การท่องเที่ยวจะพัง เพราะปัจจุบันพังอยู่แล้ว ทุกฝ่ายจึงต้องช่วยกันรักษา จ.กระบี่” นักวิชาการ มก. กล่าว และแสดงความกังวล การขนส่งถ่านหินจะเกิดอุบัติเหตุได้ ฉะนั้นต้องบริหารความเสี่ยง หากเรือขนส่งถ่านหินล่ม ต้องระบุให้ชัดเจนว่า จะจัดการภายในกี่ชั่วโมง ไม่ใช่ระบุเพียงว่า มีทุ่น ซึ่งอยู่มาบตาพุต ส่วนโฟมอยู่สิงคโปร์ กว่าจะมาถึง ดังนั้นต้องทำทุกอย่างให้ชัดเจน .