ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร หนุนเก็บ VAT จาก 7% เป็น 10% มีเงินเพิ่ม 2.2 แสนล.
นักวิชาการแนะรัฐบาลอุดช่องโหว่การจัดเก็บภาษีขับเคลื่อนสวัสดิการถ้วนหน้า ระบุแค่จัดเก็บตามสัดส่วนเดิมได้เพิ่มถึง 5% ของ GDP ด้านอาจารย์จอน อึ๊งภากรณ์ เผยไม่เคยหวังสวัสดิการถ้วนหน้าเกิดขึ้นจากพรรคการเมือง ชี้พลังประชาชนคือพลังกดดัน ย้ำประชาชนต้องยอมรับการจ่ายภาษีเพิ่ม
23 กันยายน 2558 คณะทำงานวาระทางสังคม ร่วมกับเครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ(ขับเคลื่อนระบบบำนาญแห่งชาติ) จัดเสวนาวิชาการ “สวัสดิการถ้วนหน้าความเป็นไปได้ในสังคมไทย” ณ ห้องประชุมจั๊คส์ อัมโยต์ ชั้น 4 สถาบันวิจัยสังคม อาคารวิศิษฐ์ ประจวบเหมาะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รศ.ดร.กิติพัฒน์ นนทปัทมดุลย์ คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะไม่มองเรื่องสุขภาพเป็นสินค้าและจะจัดการเรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจและการกระจายซ้ำได้ดี ฉะนั้นประเทศที่ต้องการจะก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจะต้องลดความเป็นสินค้าในเรื่องสุขภาพลงให้ได้ เพราะในพื้นฐานคนเราไม่ควรเสียชีวิตด้วยโรคที่ป้องกันได้เพียงเพราะไม่มีเงินในการรักษาพยาบาล นอกจากนี้ยังไม่ควรมองสวัสดิการเป็นเพียงการบรรเทาทุกข์เท่านั้น เพราะนั่นจะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
รศ.ดร.กิติพัฒน์ กล่าวถึงการจะสร้างสวัสดิการถ้วนหน้านั้นความเข้มแข็งของภาคประชาชนจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเรียกร้องนำเสนอ และต่อสู้กับรัฐบาลด้วยเหตุผลที่จะทำให้สวัสดิการถ้วนหน้ามีความเป็นไปได้ ที่สำคัญคือคนไทยต้องยอมรับการเสียภาษีให้ได้ เนื่องจากในบ้านเรามีการเลี่ยงการจ่ายภาษีค่อนข้างมาก นอกจากนี้จะต้องเห็นควาสำคัญของการกระจายซ้ำ ขยับฐานภาษีที่ไม่โหดจนเกินไป ปฏิรูประบบภาษีให้ดี และบอกให้ประชาชนเข้าใจและยอมรับว่าการเสียภาษีนั้นเพื่อช่วยเหลือคนอื่นโดยให้ประชาชนมั่นใจว่าเสียภาษีไปแล้วเมื่อเข้าสู่ช่วงชราภาพจะได้รับสวัสดิการที่ดี
ด้านศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในกรณีประเทศยุโรปเหนือมีรัฐสวัสดิการที่ดีนั้น เนื่องจากมีระบอบการเมืองเปิดที่ประชาชนสามารถมีสิทธิมีเสียงในการกำหนดทิศทางนโยบายของรัฐบาลได้ ส่วนในประเทศไทยนั้นหากมีพรรคการเมืองที่มีการแข่งขันและเคารพกติกาทางการเมืองภายใต้รัฐธรรมนูญเราก็อาจจะมีสวัสดิการถ้วนหน้าเร็วกว่าที่เป็นอยู่ปัจจุบัน
ดร.ผาสุก กล่าวถึงงบประมาณระบบประกันสุขภาพ ว่า ขณะนี้มีงบประมาณในระบบประกันสุขภาพปีละ 200,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.5% ของ GDPโดยดร.สมชัย จิตสุชน นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เคยทำวิจัยเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ โดยระบุว่าหากจะใช้เงินในการทำสวัสดิการถ้วนหน้าโดยให้ครอบคลุมที่สุดนั้นจะต้องใช้เงินประมาณ 400,000 ล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็น 9% ของ GDP
ทั้งนี้ระบบภาษีที่เรามีอยู่ในปัจจุบันนี้หากปรับปรุงการจัดเก็บไม่ให้มีช่องโหว่ เก็บให้ครอบคลุม จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 5% ของ GDP และหากเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) จากเดิม 7% เป็น 10% จากที่เก็บภาษีส่วนนี้ได้ 4.8 แสนล้านบาท จะกลายเป็น 7 แสนล้านบาท หรือมีเงินเพิ่ม 2.2 แสนล้านบาท โดยไม่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนระบบอะไรมากนัก
ส่วนการเสียภาษีบุคคลธรรมดาในกลุ่มคนที่มีรายได้ปี 2556 นั้น ดร.ผาสุก ระบุว่า จำเป็นจะต้องให้คนกลุ่มนี้ที่มีอยู่ 39 ล้านคนในระบบจ่ายภาษีให้ครบทุกคน เพราะในขณะนี้มีเพียง 3.3 ล้านคนเท่านั้นที่จ่ายภาษี หากสามารถจัดเก็บได้หรือทำให้คนหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ก็จะทำให้เรามีเงินมาจัดสรรเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้าเพิ่มขึ้น
ขณะที่นายจอน อึ๊งภากรณ์ กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวถึงเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้านั้นไม่เคยมีควาวมหวังกับพรรคการเมืองไทย เนื่องจากพรรคการเมืองเหล่านี้ไม่มีใครมาจากภาคประชาชน ดังนั้นแล้วพลังสำคัญที่สุดคือพลังประชาชนที่จะรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็งเพื่อกดดันรัฐบาลให้ยอมรับสิ่งที่เราต้องการ เช่น การผลักดันประกันสุขภาพให้เกิดขึ้น และหากจะบอกว่าประเทศไทยไม่มีรัฐสวัสดิการเลยก็คงไม่ใช่ เพราะมีประกันสังคม และระบบประกันสุขภาพที่เกิดขึ้น ส่วนระบบประกันสุขภาพวันนี้ก็อยู่ในสภาวะที่อันตราย เพราะถูกมองว่าเป็นประชานิยม ประเด็นในการทำนโยบายเหล่านี้ไม่ได้สำคัญว่าจะมีเงินพอหรือไม่พอ ไม่ใช่ประเด็นเรื่องเศรษฐกิจ แต่สำคัญคือถูกมองเป็นเรื่องการเมืองเลยทำให้ไม่มีความหวัง
อย่างไรก็ตาม นายจอน กล่าวด้วยว่า อย่างน้อยจะต้องทำให้ประชาชนทุกคนเข้าใจคำว่าสวัสดิการถ้วนหน้า สวัสดิการที่ไม่ได้แบ่งแยกว่าใครจนหรือใครรวย แต่เป็นระบบที่ให้สิทธิอย่างเท่าเทียมกันทั้งคนจนและคนรวย สิทธิที่ทุกคนมีบ้านอยู่ มีข้าวกิน มีสิทธิรักษาพยาบาล ที่สำคัญคือต้องทำให้ทุกคนยอมรับการจ่ายภาษี ยอมที่จะจ่ายภาษีเพิ่มเพื่อที่จะได้ผลประโยชน์เรื่องตอบแทนในระบบสวัสดิการ