สกว. เปิดจุดอ่อนการใช้น้ำของไทย ชี้ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับโลก
นักวิจัย สกว. เผยผลวิจัยความมั่นคงด้านน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ภาคกลางหนักสุด ทั้งแล้ง-น้ำท่วม ชี้ต้องลงทุนเพื่อลดภัยพิบัติ เพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนให้ได้ในอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มเงื่อนไขการจูงใจต่อการลงทุน
รศ. ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ ภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยถึงผลงานวิจัยเรื่อง “ความมั่นคงด้านน้ำกับการพัฒนาเศรษฐกิจของไทย” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ว่า สถานการณ์น้ำในประเทศไทยโดยเฉพาะภาคกลางประสบปัญหาทั้งน้ำท่วมและน้ำแล้งสลับกันในหลายปีที่ผ่านมา แม้จะมีปริมาณการกักเก็บน้ำของไทยอยู่ในระดับสูง แต่ยังขาดประสิทธิภาพในการใช้น้ำและมีแนวโน้มการใช้น้ำเพิ่มสูงขึ้น ปัญหาการขาดการบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบ ทันต่อเหตุการณ์และความต้องการ นำมาสู่ปัญหาสังคมในด้านต่างๆ จนอาจก่อให้เกิดสภาวะวิกฤติในอนาคตข้างหน้า รวมถึงส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและสังคมได้
รศ. ดร.สุจริต กล่าวถึงการศึกษาดัชนีความมั่นคงในด้านน้ำ และนำข้อมูลที่มีมาประเมินเพื่อหาจุดแข็ง-จุดอ่อนโดยเปรียบเทียบทั้งในระดับโลกและระดับประเทศ กรณีของไทย พบว่า มีศักยภาพสูงในเรื่องน้ำพื้นฐาน และมีศักยภาพต่ำในด้านน้ำยังชีพ น้ำอนาคตและผลิตภาพของการใช้น้ำ
เมื่อพิจารณาในเชิงเศรษฐศาสตร์ไทยสามารถสร้างรายได้จากหนึ่งหน่วยน้ำได้ 3.6 ดอลลาร์ (เทียบกับโลก เอเซีย และอาเซียน เท่ากับ 81, 41, 117 ตามลำดับ) เป็นรายได้ภาคเกษตรเท่ากับ 0.32 ดอลลาร์ และภาคอุตสาหกรรม 51 ดอลลาร์ แต่มีค่าใช้จ่ายหรือความเสียหายด้านภัยพิบัติสูง ทั้งด้านน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งจะเห็นได้ว่าไทยต้องปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพการใช้น้ำ ขณะเดียวกับก็ต้องลงทุนเพื่อลดภัยพิบัติและเพิ่มศักยภาพน้ำต้นทุนให้ได้ในอนาคต เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มเงื่อนไขการจูงใจต่อการลงทุนจากนานาประเทศและการเป็นศูนย์กลางของอาเซียนให้ได้
จากการวิเคราะห์ความมั่นคงด้านน้ำ พบอีกว่า เมื่อเปรียบเทียบการใช้น้ำของไทยกับประเทศอื่น ๆ ในระดับสากล ไทยมีจุดแข็งในด้านน้ำหลายประเด็น เช่น อัตราการเข้าถึงแหล่งน้ำดื่มที่สะอาดและถูกสุขอนามัยสูงมาก พื้นที่ชลประทานและน้ำทำประมงน้ำจืดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลกทำให้มีผลผลิตจากการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในปริมาณสูง
ขณะเดียวกันจุดอ่อนของการใช้น้ำของไทยก็เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการพัฒนาประเทศให้เติบโตทัดเทียมนานาประเทศ เช่น ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยต่ำกว่าระดับโลก สัดส่วนการใช้น้ำในภาคการเกษตร และน้ำฟรุตปรินท์ในภาคเกษตรสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก แสดงถึงประสิทธิภาพการใช้น้ำที่ต่ำและส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันที่ต่ำของประเทศ
นอกจากนี้การเปิดเสรีอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในปี 2558 รศ. ดร.สุจริต กล่าวว่า ปัจจัยด้านน้ำจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยน้ำในภาคอุตสาหกรรมและน้ำเพื่อการผลิตพลังงานต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับโลกอยู่มาก
"การวางแผนพัฒนาโครงการแหล่งน้ำ ถ้ามีดัชนีประกอบเปรียบเทียบในระดับต่างๆ ก็จะช่วยให้การกำหนดความสำคัญ หรือการวัดประสิทธิผลของการวางแผนโครงการ สามารถช่วยให้มีการประเมินประสิทธิผลที่ดียิ่งขึ้น โดยใช้ค่าสัมพัทธ์จากฐานข้อมูลเดียวกัน" นักวิชาการด้านแหล่งน้ำ กล่าว และว่า แนวคิดดัชนีความมั่นคงด้านน้ำยังสามารถประยุกต์ใช้ในการประเมินสถานะของน้ำต่อการพัฒนาและการจัดการในระดับลุ่มน้ำหรือจังหวัดโดยเปรียบเทียบได้ และนำมาประกอบการวางแผนและการติดตามประเมินผลหลังการลงทุนพัฒนาได้เช่นกัน ปัจจุบันยังมีการวิจัยพัฒนาดัชนีความมั่นคงด้านน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตอบสนองต่อความต้องการด้านการวางแผน รองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และการรับมือต่อความแปรปรวนด้านภูมิอากาศต่อการบริหารจัดการด้านน้ำให้ดียิ่งขึ้น