กฤษฎีกาชี้ คพ.แก้กฎกระทรวงฯ ได้ เอื้อแหล่งมลพิษต้องคุม 5.2 หมื่นแห่ง ทำรายงานบำบัดน้ำเสีย
ไทยมีแหล่งกำเนิดมลพิษต้องควบคุม 5.2 หมื่นแห่ง ส่งรายงานระบบบำบัดน้ำเสียแค่ 8.8 พันแห่ง เหตุแหล่งขนาดเล็กไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ฯ ปี 55 คพ.ชงกฤษฎีกาตีความขอแก้ไข หวังปรับปรุงให้สอดคล้อง มีความเห็นทำได้ตาม ม.80 ของ พ.รบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เผยแพร่บันทึก เรื่อง แนวทางในการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบอย่างจัดเก็บสถิติ และข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555 ลงนามโดยนายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
สืบเนื่องจากกรมควบคุมมลพิษ (คพ.)มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ ทส.0302/2857 ลงวันที่ 27 มีนาคม 2558 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)ประกาศใช้บังคับกฎกระทรวงฯ ซึ่งออกตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ.2535
ส่งผลให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกประกาศให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษ จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมตามมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ มีหน้าที่ต้องเก็บสถิติและข้อมูล ซึ่งแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียของตนเองในแต่ละวัน
จัดทำบันทึกรายละเอียดดังกล่าวตามแบบ ทส.1 เก็บไว้ ณ สถานที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษนั้นเป็นระยะเวลา 2 ปี นับแต่วันที่มีการเก็บสถิติและข้อมูลนั้น รวมทั้งต้องจัดทำรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียในแต่ละเดือนตามแบบ ทส.2 ซึ่งในปัจจุบันมีแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อม
บันทึกสำนักงานฯ ระบุถึงประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษข้างต้นมี 10 ประเภท ได้แก่ โรงงานอุตสาหกรรมและนิคมอุตสาหกรรม อาคารบางประเภทและบางขนาด ที่ดินจัดสรร การเลี้ยงสุกร ท่าเทียบเรือประมง สะพานปลาและกิจการแพปลา สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง บ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่ง น้ำกร่อย และน้ำจืด และระบบบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชน
ทั้งนี้ จากสถิติการส่งรายงานตามแบบ ทส.2 ของแหล่งกำเนิดมลพิษที่สามารถรวบรวมได้จนถึงเดือนสิงหาคม 2557 มีการจัดส่งรายงาน จำนวน 8,889 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 16.90 จากแหล่งกำเนิดมลพิษทั้งหมด 52,595 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับจำนวนแหล่งกำเนิดมลพิษที่ถูกควบคุมทั้งหมด
“เมื่อพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจาก แหล่งกำเนิดมลพิษขนาดเล็กไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามกฎกระทรวง และแบบการรายงาน ทส. 1 และ ทส. 2 ใช้สำหรับการจัดทำบันทึกรายละเอียดแสดงผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียไม่เหมาะสมสอดคล้องกับแหล่งกำเนิดมลพิษในแต่ละประเภท ทำให้บางส่วนไม่เข้าใจวิธีการบันทึกข้อมูลตามแบบการรายงานดังกล่าว รวมทั้งไม่เข้าใจวิธีการเก็บข้อมูล เนื่องจากไม่มีเครื่องมือหรืออุปกรณ์เก็บผลที่แน่นอน” บันทึกสำนักงานฯ ระบุ
กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะหน่วยงานที่บังคับใช้กฎกระทรวง จึงมีแนวทางในการแก้ไขปัญหา (อ่านประกอบ:บันทึก เรื่อง แนวทางในการปรับปรุงหรือแก้ไขกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบอย่างจัดเก็บสถิติ และข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย พ.ศ. 2555)
โดยขอหารือเฉพาะเกี่ยวกับกรณีที่หน่วยงานจะเสนอออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบในการจัดเก็บสถิติ และข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียฉบับใหม่ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ให้เหมาะสมกับแหล่งกำเนิดมลพิษแต่ละประเภทได้หรือไม่
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 7) มีความเห็นว่า ในกรณีที่กรมควบคุมมลพิษพิจารณาแล้วเห็นว่า หลักเกณฑ์ วิธีการ หรือแบบการจัดเก็บสถิติ ข้อมูล การจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบ หรืออุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้ในการบำบัดน้ำเสียของระบบบำบัดน้ำเสียที่กำหนดในกฎกระทรวงฯ ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับลักษณะของการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับแหล่งกำเนิดมลพิษแต่ละประเภทที่รัฐมนตรี โดยคำแนะนำของคณะกรรมการควบคุมมลพิษประกาศกำหนดให้เป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะหรือออกสู่สิ่งแวดล้อมนอกเขตที่ตั้งแหล่งกำเนิดมลพิษตามมาตรา 69
ทำให้เกิดภาระและความสับสนแก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองแหล่งกำเนิดมลพิษ ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบที่กำหนดในกฎกระทรวงดังกล่าว และมีแนวทางที่จะออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบในการจัดเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียขึ้นใช้บังคับใหม่
โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการจัดเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียด และรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสีย แยกตามประเภทของแหล่งกำเนิดมลพิษที่จะต้องถูกควบคุมการปล่อยน้ำเสียหรือของเสียลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ หรือออกสู่สิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนผู้ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงฯ อีกทั้งยังเป็นประโยชน์แก่ทางราชการที่จะได้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน
“กรณีนี้เป็นการกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และแบบในการจัดเก็บสถิติและข้อมูลการจัดทำบันทึกรายละเอียดและรายงานสรุปผลการทำงานของระบบบำบัดน้ำเสียให้เหมาะสมกับลักษณะการจัดการระบบบำบัดน้ำเสียของแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมแต่ละประเภท และอยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษซึ่งสามารถดำเนินการได้ตามมาตรา 80 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ” บันทึกสำนักงานฯ ระบุ .