นักวิชาการด้านน้ำฟันธง ไทยแล้งต่อเนื่อง ทุ่มเงินวันนี้ก็แก้ปัญหาไม่ได้
“ต่อให้รัฐบาลทุ่มเงินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในวันนี้ ผมก็จะบอกเลยว่า แก้ไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริง ถ้าทุ่มเงินเพื่อจะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผมบอกว่าทำได้ แต่ทุ่มเงินวันนี้เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ทำไม่ได้”
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ(วสท.) และรักษาการอธิการบดีม.เกษตรศาสตร์ ยืนยันในงานเสวนา “แล้งนี้เผาหลอก แล้งหน้าเผาจริง ชาวนาเสี่ยง เจ๊งแสนล้าน” ว่า วันนี้ประเทศไทยเดินทางเข้าสู่ภาวะวิกฤตภัยแล้งแล้วและคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า นั่นคือปี 2559
ทั้งนี้ โดยปกติช่วงเดือนกันยายนจะเป็นเดือนที่มีฝนตกมากที่สุด แต่แม้จะมีพายุเข้ามาปริมาณที่เก็บได้ในเขื่อนก็ยังไม่เพียงที่จะทำให้เราพ้นวิกฤตภัยแล้งไปได้
นักวิชาการด้านน้ำ ชี้ว่า เราอาจจะต้องลุ้นให้เดือนตุลาคมมีปริมาณน้ำฝนตกลงมาถึง 1,000 ล้าน ลูกบาศก์เมตร เพื่อที่จะให้ปริมาณน้ำในภาพรวมมีเพียงพอ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
หากไล่ย้อนไปเมื่อ 30 ปีที่แล้ว มีคนถามว่า ประเทศไทยเคยเจอปัญหาภัยแล้งกว่าปี 2558 ที่เกิดขึ้นในขณะนี้หรือไม่ รศ.ดร.บัญชา ยืนยันว่า เคยมีแล้งมากกว่านี้
"แล้งเมื่อ 30 ปีที่แล้ว กับปีนี้แตกต่างกันตรงที่ความต้องการใช้น้ำเพื่ออุปโภคบริโภคต่างกัน หลายปีก่อนถึงแม้จะประสบปัญหาแต่ก็สามารถจัดการบริหารจัดการน้ำ เพราะภาคอุตสาหกรรมยังมีไม่มาก ทำเกษตรยังไม่มาก การอุปโภคบริโภคน้ำของคนในชนบทก็ใช้น้ำไม่ถึง 50 ลิตรต่อคน ขณะที่ปัจจุบันใช้น้ำ 100 ลิตรต่อคน"
วันนี้จึงเป็นความแห้งแล้งแบบกระจายไปทั่วทุกพื้นที่ ที่สำคัญคือแล้งติดกันต่อเนื่อง 2 ปี ปีที่แล้วฝนตกน้อยกว่าปกติ 10% พอมาปี 2558 ฝนตกน้อยกว่าปกติ 20% แถมปี 25555 น้ำก็หายออกไปจากเขื่อนอีก 5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร
รศ.ดร.บัญชา จึงมองว่า เรากำลังอยู่ในสภาวะที่วิกฤติรุนแรงมาก มีการสั่งงดทำนาปรังไม่เคยมีในประวัตศาสตร์ แต่ปีนี้และปีหน้ากำลังจะเกิดขึ้น
"บริบทของประเทศหลายอย่างเปลี่ยนไปแล้ว หากจะจัดการบริหารน้ำแบบเดิมๆ รอคนเดิมๆมาสั่งการ เราจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ในช่วงปีพ.ศ. 2537-2538 เราเคยประสบวิกฤติภัยแล้ง แต่เราสามารถฝ่าฟันมาได้ เพราะการบริหารจัดการน้ำไม่มีการแทรกแซง ไม่มีใครเข้ามาแทรกแซงกรมชลประทาน ต่างกับในเวลานี้ที่หากไม่มีกฎหมายออกมากำกับ และปล่อยให้บริหารแบบคนคนเดียว รอคนคนเดียวสั่ง เราก็จะพบกับวิกฤติเช่นเดียวกับปี 2554, 2555, 2556 , 2558 และ2559 ฉะนั้น วันนี้ต้องมีกติกา"
รศ.ดร.บัญชา กล่าวอีกว่า แม้วันนี้เราอยู่ในสภาวะวิกฤติ แต่เราคิดเพียงแค่ว่าจะเอาเงินไปลงในพื้นที่ที่เกิดปัญหาตลอด ทั้งๆที่ความจริงไม่ใช่ สิ่งที่ต้องมีคือควรมีงานวิจัยเกิดขึ้น มีนโยบายการประหยัดน้ำ วิธีการปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำ สิ่งที่ทำได้ในขณะนี้ การปลูกข้าวแบบประหยัดน้ำมีคนทำวิจัย มีคนเคยเสนอไป แต่ไม่ทำ เพราะว่าเหนื่อย เพราะว่ายาก ขณะที่หน่วยงานราชการกับรัฐบาลมุ่งแต่จะทำโครงการพื้นๆแบบเดิมๆ ใช้ยาหม้อเดียวกับคนทั้งประเทศ
“ต่อให้รัฐบาลทุ่มเงินเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งในวันนี้ ผมก็จะบอกเลยว่าแก้ไม่ได้แล้ว ทำไม่ได้ นี่คือข้อเท็จจริง ถ้าทุ่มเงินเพื่อจะแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นในอนาคตผมบอกว่าทำได้ แต่ทุ่มเงินวันนี้เพื่อแก้ปัญหาวันนี้ทำไม่ได้”
สิ่งที่อยากจะเสนอคือรัฐบาลควรออกยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน ออกกฎหมาย รณรงค์เรื่องการประหยัดน้ำเป็นนโยบายชาติ ไม่ใช่การเอาเงินไปทุ่มและทำในเรื่องเดิมๆ หากแก้ปัญหาด้วยเงินแบบนี้ 2ปีก็เหมือนเดิม แก้ปัญหาไม่ได้ทำให้เงินละลายไปกับดินกับน้ำ
นักวิชาการด้านน้ำ ระบุด้วยว่า หากทุกภาคส่วนช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้น้ำของตัวเอง ด้านนักวิชาการทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในระยะยาวก็จะช่วยคลี่คลายสถานการณ์จากหนักให้กลายเป็นเบาได้
“ผมอยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามทุ่มเงินไปกับการแก้ปัญหาและทำให้หมดเงินไปโดยไม่ได้ประโยชน์อะไรขึ้นมา ผมไม่อยากเห็นการแก้ปัญหาครั้งนี้ที่เงินเหล่านี้สามารถจะแก้ปัญหาในอนาคตได้กลายเป็นเพียงเม็ดเงินที่ละลายไปกับดินกับน้ำในครั้งนี้”
ด้านดร.สุวัฒนา จิตตลดาการ ที่ปรึกษาคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าวถึงสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาปีหน้าว่า จะมีปริมาณน้ำน้อยกว่าปีนี้อีก 20% ซึ่งแน่นอนว่าชาวนาจะประสบปัญหาขาดแคลนน้ำทำนาหนักกว่าปีนี้ แม้ภาครัฐจะประกาศให้ชาวนางดทำนาปรัง พร้อมมีมาตรการเยียวยา มีแนวทางในการรับมือกับวิกฤตภัยแล้งในปีหน้า ก็เป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ซึ่งภาครัฐควรวางมาตรการระยะยาว โดยเน้นพฤติกรรมของคนในพื้นที่เป็นหลัก
สำหรับหน่วยงานหลักอย่างกรมชลประทาน ดร.สุวัฒนา กล่าวว่า ควรมีหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นการลดขนาดแหล่งกักเก็บน้ำ แต่กระจายน้ำให้เข้าถึงทุกพื้นที่ และภาครัฐต้องรณรงค์ให้ทุกภาคส่วนช่วยกันประหยัดน้ำอย่างจริงจัง รวมถึงการสร้างแหล่งเก็บน้ำแบบบ่อเล็กบ่อน้อยถือว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตนี้
ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธานมูลนิธิการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวถึงการที่รัฐบาลได้จัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตภัยแล้ง โดยมองว่า การจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาทำงานร่วมกันหลายชุดเป็นการทำงานที่ซ้ำซ้อน และจะกลายเป็นสภากาแฟไม่สามารถจัดการแก้ปัญหาได้
"อยากฝากไปถึงรัฐบาลว่า ควรให้คณะกรรมการลุ่มน้ำแต่ละแห่งบอกแผนที่จะแก้ปัญหาและรัฐบาลรับฟังจากคณะกรรมการลุ่มน้ำก่อน ไม่ใช่ฟังในส่วนของคณะกรรมการที่ตั้งเอง เพราะหากเป็นเช่นนั้นก็เท่ากับว่าการแก้ปัญหาที่มุ่งจะให้เกิดการมีส่วนร่วมไม่ได้ผล