ส่อแล้งหนัก! เลขาธิการสศก. คาดทำนาปรังไม่ได้เสียหาย 6.8 หมื่นล้าน
วิกฤติหนักภาคเกษตร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อน ณ ปัจจุบัน มีเพียง 2 พันกว่าลบ.ม. หวั่นน้ำไม่พอทำนาปรัง ด้าน รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ชี้เหลือภาคใต้เท่านั้นทำเกษตรได้ จี้รัฐบาลมีนโยบายรณรงค์ให้ชัดเจนเรื่องการบริหารและพฤติกรรมการใช้น้ำ
21 กันยายน 2558 ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดงานเสวนา “แล้งนี้เผาหลอก แล้งหน้าเผาจริง ชาวนาเสี่ยง เจ๊งแสนล้าน” ณ ห้องประชุมธีระ สูตะบุตร อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน
นายเลอศักดิ์ ริ้วตระกูลไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงสถานการณ์น้ำดิบติดลบมาตั้งแต่ปี 2555 จากการบริหารจัดการน้ำที่ผิดพลาดจึงส่งผลกระทบให้ในปีนี้เกิดวิกฤติน้ำมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ทั้งจากปัญหาสภาวะโลกร้อน รวมกับหลักการบริหารน้ำที่ผิดพลาด
นายเลอศักดิ์ กล่าวว่า ภายหลังจากฝนตกต่อเนื่องในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาทำให้น้ำในเขื่อนหลัก 4 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และแควน้อย มีปริมาณน้ำในเขื่อนรวมกัน 2,520 ล้านลูกบาศก์เมตร
"เพื่อให้ก้าวผ่านวิกฤติภัยแล้งเราต้องการน้ำประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งต่อให้ทั้งเดือนตุลาคม 2558 ฝนตกตลอดทั้งเดือนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะมีน้ำถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือไม่
เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กล่าวถึงการทำนาปรังในปี 58/59 อาจจะต้องมีการงดทำนาปรัง ทั้งนี้หากคำนวณมูลค่าความเสียหายของเกษตรกรหากมีการงดทำนาปรัง 100% จะมีมูลค่าความเสียหาย 68,000 ล้านบาท หากงดทำนาปรัง 90% มีมูลค่าความเสียหาย 61,000 ล้านบาท หากห้ามอะไรเกษตรกรไม่ได้เลย และมีการทำนาปรังสัก 20% ก็จะเสียหายประมาณ 54,000 ล้านบาท
ด้านรศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน รักษาการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์กำแพงแสนมก. กล่าวถึงสถานการณ์น้ำปีนี้ น้ำที่มีอยู่ในเขื่อน ขณะนี้เรียกได้ว่า ตั้งแต่สร้างเขื่อนมาไม่เคยมีน้ำน้อยเท่านี้มาก่อน เรียกว่าวิกฤติก็คือวิกฤติ เขื่อนที่พอจะเป็นกำลังหลักในอดีตวันนี้ก็มีน้ำน้อยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“วันนี้ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลควรจะต้องออกมารณรงค์เรื่องการบริหารน้ำให้เป็นเรื่องเป็นราว มีนโยบายออกมาให้ชัดเจน สนามกอล์ฟยังจะต้องใช้น้ำตลอดทั้งวันเพื่อให้หญ้าเขียวชอุ่มอยู่หรือไม่ พฤติกรรมการใช้น้ำของคนในทุกวันนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงแล้วหรือยัง วันนี้รัฐบาลต้องออกมาทำ ต้องออกมารณรงค์”
ส่วนผู้ใช้น้ำในภาคการเกษตรนั้น ดร.บัญชา กล่าวว่า มีแนวโน้มชาวนาอาจจะไม่สามารถทำนาปรังได้ แม้กระทั่งพืชที่ใช้น้ำน้อยที่จะนำมาใช้ปลูกทดแทนก็ยังไม่แน่ใจว่าจะปลูกได้หรือไม่ ทั้งนี้จะต้องรอสรุปตัวเลขของปริมาณน้ำที่ชัดเจนอีกครั้ง ส่วนพื้นที่ในประเทศไทยที่ยังสามารถเพาะปลูกหรือทำการเกษตรและสามารถใช้น้ำได้อย่างปกติจะมีแค่พื้นที่ภาคใต้เท่านั้น ส่วนภาคอื่นๆของประเทศจะต้องเตรียมพร้อมรับมือเพราะน้ำในแต่ละเขื่อนเข้าขั้นวิกฤติแล้ว
ขณะที่ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ภาวะภัยแล้งปีนี้ผิดปกติมาก เคยคุยกับกรมชลประทานว่า ในอดีตเราเคยเกิดวิกฤติมากเท่านี้มาก่อนหรือไม่ ไม่มีใครให้คำตอบได้ สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือภาวะตอนต้นน้ำน้อยแล้ง พอมาหน้าฝน ฝนก็ตกน้อยลงไปอีก เรียกว่าน้ำน้อยซ้ำซ้อน
"ถามว่าภาวะแบบนี้เกิดเคยเกิดขึ้นต่อเนื่องหรือไม่ คนที่ทำงานด้านบริหารจัดการน้ำให้ข้อมูลไม่ได้ หากสถานการณ์ยังจะเป็นเช่นนี้ต่อไป แล้วเราไม่ทำอะไรเลยรับรองว่าความขัดแย้งในการใช้ทรัพยกรน้ำจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น"
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงการใช้น้ำของภาคอุตสาหกรรม ในภาคอุตสาหกรรมใช้น้ำใหม่หมดเลยในการผลิต ไม่ใช้น้ำ reuse ทั้งๆที่ต่างประเทศเขาใช้น้ำที่ใช้แล้วแล้วนำมาใช้ใหม่กันทั้งนั้น ซึ่งสาเหตุก็อาจจะมากค่าน้ำประปาเราถูก น้ำชลประทานที่ภาคอุตสาหกรรมนำไปใช้ก็ถูกมากเพียงคิวละ 50 สตางค์เท่านั้น ดังนั้นต่อไปใครจะใช้น้ำต้องบอกว่า น้ำไม่ใช่ของฟรีอีกต่อไป นี่จึงเป็นเรื่องแรกที่กรมชลประทานต้องทำและกล้าหาญพอที่จะมีระบบการจัดสรรน้ำ โดยชวนคนที่ใช้น้ำ หรือสูบน้ำด้วยระบบไฟฟ้า มาตกลงกัน ว่าแล้งถัดไปที่กำลังจะมาถึงซึ่งมีเวลาเหลืออีกหนึ่งเดือนกว่าๆจะทำอย่างไรกัน
“วันนี้เป็นจังหวะที่ต้องเริ่มหันหน้าคุยกัน เพราะเรื่องการบริหารน้ำไม่ใช่เรื่องเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วม เป็นเรื่องของสังคม เราต้องมีการบริหารจัดการแบบใหม่ แม้ทำวันนี้ยังไม่สำเร็จแต่ต้องเริ่มทำ กรมชลประทานจะต้องทำหน้าที่ตกลงกับผู้ใช้น้ำให้ได้ว่าจัดส่งน้ำให้ได้เท่าไหร่ เมื่อทำแล้วผู้ใช้น้ำมีสิทธิได้น้ำเท่าไหร่ เพราะเราไม่มีทางพึ่งทหารได้ตลอด เขามาเดี๋ยวเขาก็ไป”
ดร.นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า อยากให้ผู้เกี่ยวข้องในด้านการบริหารจัดการน้ำใจกว้างที่จะสร้างระบบกระบวนการมีส่วนร่วมในการบริหารน้ำให้เกิดขึ้น เนื่องจากจะสามารถช่วยลดวิกฤติความขัดแย้งในเรื่องการใช้ทรัพยากร และยังทำให้คนที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมเริ่มเชื่อข้อมูลที่ถูกต้องเป็นอย่างไร ชาวบ้านในปัจจุบันนี้เขามีความรู้ และการพูดคุยครั้งนี้หากเกิดขึ้นก็จะเป็นก้าวแรกในการนำไปสู่คณะกรรมการลุ่มน้ำในระยะยาว”