เลขาฯ ป.ป.ท. คุย 1 ปี รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ แก้ทุจริตได้ผล ส่งคนผิดถูกลงโทษ
เลขาธิการ ป.ป.ท. ชี้ปัญหาคอร์รัปชันทำชาติหายนะ ทุจริตระดับพื้นที่รุนแรง ยกคดีคลองด่าน สนามฟุตซอล เครื่องออกกำลังกาย ตัวอย่างโครงการทุจริต ระบุ 1 ปี รัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ แก้ปัญหาได้ผล นำไปสู่ธรรมาภิบาลได้
วันที่ 21 กันยายน 2558 คณะอนุกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ ด้านการป้องกันทุจริต ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) จัดสัมมนาวิชาการรวมเครือข่ายทุกภาคส่วน เพื่อคัดเลือกมาตรการป้องกันดีเด่นฯ ณ โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กรุงเทพฯ
นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวว่า การทุจริตเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ ไม่ใช่เรื่องเล่น เพราะทำให้เกิดหายนะได้ ซึ่งการจะพูดถึงวิธีแก้ไขปัญหานั้นต้องยึดสถานการณ์ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นตัวตั้ง เพราะขณะนั้นประเทศเต็มไปด้วยวิกฤติ ทำลายชาติแทบไม่เหลืออะไร ทำให้คำพูดที่ว่า ทุจริตทำลายชาติ กลายเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ยังมีปัญหาต่าง ๆ ทับซ้อนกันมากมาย จนมาตรการหรือกลไกปกติไม่สามารถแก้ไขได้ โดยเกิดจากการทุจริตระดับรุนแรงเชิงพื้นที่ เฉพาะหน่วยงานภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็น ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์การมหาชน มหาวิทยาลัย รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีกว่า 8,000 เเห่ง ที่ใช้งบประมาณ ซึ่งส่วนใหญ่หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงหรือมีศักยภาพในการเเก้ปัญหามักได้รับการร้องเรียนเกี่ยวข้องกับการทุจริต ดังเช่น อปท.
เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าวต่อว่า อีกปัญหาหนึ่ง คือ พฤติกรรมการกระทำผิดที่รุนแรงและลึกมากขึ้น การได้ส่วนแบ่งเปอร์เซนต์ปกติ ซื้อของราคาสูง แต่ได้ของราคาต่ำ กลายเป็นพฤติกรรมธรรมดา เพราะขณะนี้กลายเป็นการตั้งงบประมาณเกินแทน หรือซื้อในสิ่งไม่ควรซื้อ ทำในสิ่งไม่ควรทำ ร้ายที่สุดไม่จำเป็นต้องทำ แต่กลับหางบประมาณเพื่อทุจริตอย่างเดียว
“ลองนึกภาพดูเหตุการณ์อย่างนี้เกิดอะไรบ้าง เช่น ทุจริตคลองด่าน โครงการรับจำนำข้าว ปตท.ซื้อที่ดินในอินโดนีเซีย เพื่อปลูกปาล์ม ปรากฏว่าเป็นภูเขา” นายประยงค์ กล่าว และยกตัวอย่างอีกว่า ยังมีสนามฟุตซอล ครูไม่อยากได้ แต่นักการเมืองอยากได้เงิน จึงไปตัดงบประมาณ แปรญัตติ ส่งให้กระทรวงศึกษาธิการ ไม่คิดอะไรคิดว่าตัวเองปลอดภัย ส่งไปให้ครูประจำโรงเรียนจัดซื้อจัดจ้าง แต่ครูทำไม่เป็นจึงให้พ่อค้าทำรูปแบบ กลับมาให้ครูเซ็นอย่างเดียว ทำให้ครู 3721 คน มีความผิด
ส่วนเครื่องออกกำลังกายในสวนสาธารณะแต่ละแห่ง ซื้อจากจีน 4,000-5,000 บาท ขายให้รัฐ 30,000-40,000 บาท สไลด์เดอร์พลาสติก ต่างจังหวัดซื้อ 85,000 บาท กระทรวงซื้อ 980,000 บาท ถามว่าเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งโครงการลักษณะนี้ยังมีอีกจำนวนมาก การมีงบประมาณอยู่แล้ว จึงต้องตั้งขึ้นมาโดยไม่จำเป็นแท้จริง ทำให้ในพื้นที่ต้องสร้างโครงการขึ้นมาแทน ซึ่งการทุจริตเหล่านี้มีเม็ดเงินรวมกันหลายปีราว 1 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 1 แสนล้าน
“การปราบปรามที่ผ่านมาใช้มาตรการทางอาญาเป็นหลัก เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม จึงต้องกำหนดขั้นตอนดำเนินการไว้อย่างรัดกุม บางคนถูกดำเนินการนานถึง 5 ปี กว่าจะไต่สวนเสร็จ ขณะที่ ป.ป.ท. มีคดีอยู่ในความรับผิดชอบกว่า 2 หมื่นคดี แต่มีบุคลากรเพียง 247 คน ทำคดีประมาณ 100 คน เป็นอุปสรรคให้ล่าช้า”
เลขาธิการ ป.ป.ท. ยังกล่าวถึงโครงสร้างหลักค้ำจุนชาติอ่อนแอ แม้จะเรียนมาตั้งแต่เด็ก ท่องศีล 5 ได้ แต่เห็นได้ชัดว่า มาตรฐานจริยธรรมของสังคมไทยอ่อนลง การเมืองเป็นระบบหลักของประเทศ อยู่ในระดับนโยบายและบริหาร แต่การเลือกตั้งเข้าสู่อำนาจกลับมีการทุจริตจำนวนมาก ดังนั้น การแก้ไขปัญหาต้องมองสถานการณ์ก่อนรัฐประหาร เพราะรากเหง้าปัญหาต่าง ๆ ยังอยู่ครบถ้วน เพียงแต่วันนี้เบาบางลง เพราะคนเคยทุจริตกลัวจะถูกดำเนินการ แต่หากไม่แก้ปัญหาก็จะกลับไปรุนแรงเหมือนเดิม
ทั้งนี้ 1 ปีที่ผ่านมา ได้สำรวจปัญหามีอะไรบ้าง พบกลไกมีไม่ครบถ้วน บางส่วนมีแต่ไม่ทำงาน ดังเช่น ส่วนราชการไม่ทำหน้าที่ในการป้องกันทุจริตในองค์กร ปล่อยให้ ป.ป.ท. หรือ ป.ป.ช. ป้องกันในองค์กรเป็นไปไม่ได้ เพราะมีเจ้าหน้าที่รัฐเพียง 2.7 ล้านคน อีกทั้งมาตรการปัจจุบันยังมีไม่เพียงพอ คือ มีแล้วไม่ทำ หรือไม่มีมาก่อน และการบริหารจัดการขาดทิศทางเดียวกัน ตลอดจนกฎหมายที่มีอยู่เกิดปัญหาเรื่องความไม่ครบถ้วน
แนวทางแก้ไขต้องสร้างกลไกโดยตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งปัญหาแท้จริง คือ ส่วนราชการมิได้ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต จึงตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ และศูนย์ต่อต้านการทุจริตระดับกระทรวง เพราะฉะนั้นกลไกที่มีปัญหาอยู่ได้รับการมอบหมายงาน
สำหรับมาตรการไม่ครบถ้วน นายประยงค์ กล่าวว่า มาตรการทางวินัย แต่ไม่ถูกนำมาใช้ ซึ่งการละเลยประเด็นนี้ เปรียบได้กับไม่ตัดไฟแต่ต้นลม ซึ่ง คตช. ตั้ง 4 ป ได้แก่ ปลูกจิตสำนึก ป้องกัน ปราบปราม ประชาสัมพันธ์ นอกจากนั้นยังมีคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง เช่นเดียวกับการบริหารจัดการ การที่นายกรัฐมนตรีสั่งการโดยตรงทำให้การขับเคลื่อนรวดเร็วขึ้น สุดท้าย การแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. เสร็จไปแล้วส่วนหนึ่ง
“การแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่องทำให้ทราบว่า 1 ปีที่ผ่านมา มองว่าได้ผล เพราะการทำงานภาครัฐนำไปสู่ธรรมาภิบาลชัดเจนขึ้น มีผู้ออกนอกลู่นอกทางถูกลงโทษมาตรการทางวินัย และวันนี้โรฮีนจาอย่างเดียว ทำให้ตำรวจถูกโยกย้าย สถานบันเทิง เด็กแว้น และมาตรการกระตุ้นเห็นชัดที่สุด คือ คำสั่งมาตรา 44 รายชื่อข้าราชการเข้าไปเกี่ยวข้อง แสดงว่าหน่วยงานราชการทำหน้าที่ครบถ้วนตามกฎหมาย” เลขาธิการ ป.ป.ท. กล่าว .